กรุงเทพมหานครเปิดเทศกาล “บางกอกวิทยา การอ่านและการเรียนรู้” ที่หอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร เขตพระนคร มุ่งเน้นกิจกรรมส่งเสริมการอ่านตลอดเดือนมีนาคม พร้อมกับกิจกรรมหนังสือในสวน ส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้สำหรับทุกคนที่ห้องสมุดใกล้บ้าน กิจกรรมเดิน-ปั่นทัวร์เมือง เชื่อมโยงเส้นทางแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย ปักหมุดชุมชน ห้องสมุด ร้านหนังสือ และแหล่งเรียนรู้ในพื้นที่ กิจกรรมหนังสือในสวน ส่งเสริมการอ่าน การเล่น และการเรียนรู้ในบรรยากาศสวนสาธารณะ
นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กทม.มีนโยบายในการจัดเทศกาล 12 เดือน เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นในรูปแบบหนึ่ง โดยเทศกาลสามารถเป็นเครื่องมือผลักดันความสร้างสรรค์ การออกแบบชุมชน ดึงอัตลักษณ์และศักยภาพของแต่ละย่านทั่วกรุงออกมา เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวของย่านในกรุงเทพฯ สามารถคัดสรร จัดกลุ่ม สร้างเรื่องราว เพื่อพัฒนากิจกรรมกระตุ้นเศรษฐกิจได้ตลอดปี นอกจากนี้ยังมุ่งหวังให้เกิดการท่องเที่ยวภายในย่านหลังจากจัดเทศกาลอีกด้วย
“หน้าที่ของ กทม.คือการประสานงาน แต่สิ่งสำคัญที่กทม.มีความแตกต่างคือ ทำให้การประสานงานนั้นนำไปสู่เป้าหมายเดียวกัน มาร่วมกันแก้ไขปัญหา ฟันฝ่าอุปสรรคไปด้วยกัน งานบางกอกวิทยาคือตัวแทนการร่วมมือ ไม่ใช่แค่เดือนนี้เดือนเดียว อาจจะกลับมาในเดือนอื่นต่อไปอีก ความร่วมมือนี้จะสะสมเครือข่ายมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้”
ปัจจุบันกทม.มีบ้านหนังสือประมาณ 100 กว่าแห่ง แต่มีชุมชนถึง 2,000 แห่ง ขณะที่ร้านหนังสืออิสระมีจำนวนมาก แทนที่กทม.จะสร้างบ้านหนังสือเพิ่ม เปลี่ยนเป็นร่วมมือกับร้านหนังสืออิสระดีกว่าหรือไม่ ให้สิทธิ์พิเศษทั้งร้านค้าและผู้อ่านมาเจอกัน รวมถึงการสนับสนุนกิจกรรม สนับสนุนผู้ที่ให้พื้นที่ในการทำบ้านหนังสือหรือห้องสมุด อาจเป็นบ้านเรือนทั่วไป หากเปิดพื้นที่ กทม.ก็พร้อมสนับสนุน ซึ่งมีประโยชน์กว่าการสร้างบ้านหนังสือแห่งใหม่ เป็นตัวอย่างการประสานงานที่กทม.วางแผนต่อยอดจากเทศกาลบางกอกวิทยา สิ่งสำคัญคือการสะสมเครือข่าย ซึ่งขณะนี้มีมากขึ้นเรื่อยๆ
ดร.อภิชาติ ประเสริฐ รองผู้อำนวยการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (OKMD) กล่าวว่า การส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้ในประเทศไทยมีความท้าทาย 3 เรื่อง คือ 1.ความต้องการเรียนรู้ของคน ต้องทำให้คนเห็นถึงคุณค่าของการเรียนรู้ เพื่อให้กิจกรรมที่จัดขึ้นหรือแหล่งเรียนรู้ในที่ต่างๆ มีประโยชน์ต่อผู้คนในเชิงพัฒนาตนเอง 2.การพัฒนาแหล่งเรียนรู้ให้มีศักยภาพ สามารถเข้าถึงได้ง่าย และมีบริการที่มีคุณภาพ ตอบโจทย์ความต้องการในแต่ละพื้นที่ 3.การสนับสนุนของภาครัฐ เพื่อให้เกิดการพัฒนาการเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาพยามยามสร้างตัวเลือกให้กับผู้อ่านและผู้เรียนรู้ ประกอบกับนำเสนอการเรียนรู้ผ่านระบบดิจิทัลมากขึ้น
นางสาวณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า กรุงเทพฯ มีพื้นที่แหล่งเรียนรู้มากกว่าจังหวัดอื่น แต่ปรากฏว่ายังมีเด็กไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ที่เข้าไม่ถึง ปัญหาที่พบ 3 เรื่อง คือ 1.วัฒนธรรมการเรียนรู้ ข้อดีของการร่วมมือครั้งนี้ทำให้เห็นวัฒนธรรมการเรียนรู้ที่เปลี่ยนไป สามารถผสมผสานกับเรื่องเศรษฐกิจได้ เพื่อกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมต่างๆ สิ่งสำคัญต้องเริ่มต้นจากผู้บริหาร ในการให้คุณค่ากับการเรียนรู้ 2.จำนวนแหล่งเรียนรู้ เพื่อรองรับคนในวัยต่างๆสามารถเข้าถึงได้ง่าย ใกล้บ้าน ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาก โอกาสในการเดินทางเข้าแหล่งเรียนรู้ของแต่ละคนจะสูงขึ้น 3.คุณภาพที่ได้ผ่านช่องทางการเรียนรู้ที่หลากหลาย ไม่จำกัดด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไป เพื่อดึงดูดผู้คนทุกกลุ่มวัย กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาตนเองมากขึ้น
นายพัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า จากการหารือกับผู้ว่าฯกทม.พบว่า ยังมีเด็กตามไซต์ก่อสร้าง เด็กในชุมชนแออัด หรือเด็กที่ต้องตามพ่อแม่ไปทำงานตั้งแต่เล็กๆ ที่เข้าสู่แหล่งเรียนรู้ได้ยาก ทำอย่างไรให้เด็กกลุ่มนี้เข้าสู่แหล่งเรียนรู้ หรือกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ เด็กเหล่านี้เรียนรู้ผ่านครูอาสานอกระบบตามริมถนน ทำอย่างไรให้พื้นที่เรียนรู้ข้างถนนตรงนั้นมีคุณภาพเทียบเท่าในห้องเรียนทั่วไป เทศกาลบางกอกวิทยา การอ่านและการเรียนรู้ที่กทม.ร่วมกับเครือข่ายจัดขึ้น ถือเป็นจุดเริ่มต้นให้คนหันมาสนใจแหล่งเรียนรู้ใกล้บ้าน มีส่วนลดความเหลื่อมล้ำ เปิดโอกาสการเรียนรู้ให้ทุกคนเท่ากัน โดยเฉพาะเด็กที่ขาดโอกาส
...กิจกรรมเทศกาลการอ่านและหนังสือกรุงเทพฯ ที่จัดขึ้นตลอดเดือนมีนาคม สอดคล้องกับเทศกาลหนังสือที่มีการจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติขึ้นในทุกๆ ปี กลุ่มบุคคลที่รักหนังสือจะได้พบปะนักเขียน เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในแหล่งการเรียนรู้ของกรุงเทพมหานครและหน่วยงานความร่วมมือของภาคีเครือข่ายส่งเสริมการอ่าน อาทิ หอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ของกรุงเทพมหานคร 34 แห่ง TK Park รวมถึงห้องสมุดหน่วยงานของรัฐหน่วยงานของเอกชน ร้านหนังสืออิสระ กลุ่มเพจผู้รักการอ่านและภาคีที่เข้าร่วมจัดกิจกรรมในครั้งนี้อย่างมากมาย…