การเวียนเทียนเป็นการบูชาพระรัตนตรัยด้วยอามิสบูชาและปฏิบัติบูชา เป็นการเดินเวียนรอบปูชนียวัตถุสำคัญ หรือปูชนียสถานทางศาสนา ซึ่งเป็นการเวียนประทักษิณาวัตร คือ เวียนขวา 3 รอบ เป็นเครื่องหมายถึงการแสดงออก ซึ่งการเคารพบูชาต่อสิ่งนั้น ๆ อย่างสูงสุด โดยพุทธศาสนิกชนจะปฏิบัติกันในวันสำคัญทางพุทธศาสนา ประกอบด้วย วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา อัฏฐมีบูชา และวันอาสาฬหบูชา
“การเวียนเทียน” จะทำในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา 4 วัน ได้แก่ วันมาฆบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 หรือเดือนพฤษภาคม หรือมิถุนายนของทุกปี ความสำคัญของวันมาฆบูชาคือ พระสงฆ์ 1,250 รูป ที่พระพุทธองค์ได้ส่งไปเผยแพร่พระพุทธศาสนา ตามแคว้นต่างๆ กลับมาอย่างพร้อมเพรียงกันโดยมิได้นัดหมาย
“วันวิสาขบูชา” ตรงกับวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 หรือเดือนมิถุนายน ความสำคัญของวันวิสาขบูชาคือ เป็นวันที่มีขึ้นเพื่อระลึกถึงวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งบังเอิญเกิดขึ้นตรงกับวันเพ็ญ เดือนวิสาขมาส (เดือน 6) ทั้ง 3 เหตุการณ์
“วันอาสาฬหบูชา” ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 หรือประมาณเดือนกรกฎาคม ความสำคัญของวันอาสาฬหบูชาคือ วันแรกที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระพุทธศาสนา
“วันอัฏฐมีบูชา” คือ วันแรม 8 ค่ำ เดือน 6 หรือเดือน 7 นับถัดจาก วันวิสาขบูชาไป 7 วัน เป็นวันคล้ายวันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระที่เมือง กุสินารา เป็นวันสำคัญที่ระลึกถึงพระพุทธองค์อีกวันหนึ่ง (วัดบางที่จะจัดเวียนเทียน)
โดยส่วนใหญ่นิยมไปเวียนเทียนช่วง ประมาณ 16.00 - 20.00 น. แต่ในปัจจุบันนี้วัดหลายแห่งมีการขยับเวลาการเวียนเทียนเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่พุทธศาสนิกชนในชุมชนเมืองมากขึ้น บางวัดเปิดให้เข้ามาเวียนเทียนได้ตั้งแต่ช่วงเช้า 06.00 น.
การเตรียมตัวก่อนเวียนเทียน
1. อาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด ทำจิตใจเบิกบาน
2. แต่งกายให้สุภาพ เรียบร้อย เหมาะสมกับสถานที่
3. เตรียมเครื่องบูชาให้พร้อม ได้แก่ ดอกไม้ ธูป เทียน 3 อย่าง คือ ดอกไม้ 1 คู่ เช่น ดอกบัว ดอกดาวเรือง ดอกกล้วยไม้ หรือจะใช้พวงมาลัยดอกไม้สำหรับถวายพระก็ได้ พร้อมธูป 3 ดอก และเทียน 1 เล่ม
4. ควรเดินทางมาถึงวัดหรือสถานที่ประกอบพิธีเวียนเทียนก่อนเวลาเริ่มเดินเวียนเทียน
5. เดินทางถึงวัดควรเข้าไปบูชาพระรัตนตรัยเพื่อร่วมศาสนพิธีตามลำดับขั้นตอนที่เหมาะสมเป็นอันดับแรก จากนั้นจึงออกมาเตรียมตัวด้านหน้าพระอุโบสถหรือสถานที่ประกอบพิธีเวียนเทียน
การปฏิบัติตนขณะเวียนเทียน
1. ต้องสำรวมทั้งกาย วาจา ใจ ให้สงบเรียบร้อย
2. ควรรักษาระยะการเดินทางให้ห่างจากคนข้างหน้าพอสมควร เพื่อไม่ให้ธูปเทียนโดนผู้อื่นเพราะจะทำให้เสื้อผ้าผู้อื่นเสียหายหรือทำให้บาดเจ็บ
3. ควรเดินเวียนเทียนอย่างเป็นระเบียบ ไม่เร็วหรือช้าเกินไปหรือเดินแซงกัน
4. เจริญภาวนาระลึกถึงพระพุทธคุณในรอบแรก พระธรรมคุณในรอบสอง และพระสังฆคุณในรอบสาม
5. ไม่ควรหยอกล้อหรือพูดคุยกันในขณะเวียนเทียน เพราะเป็นการไม่เคารพต่อพระรัตนตรัยและสถานที่ ตลอดจนทำให้ผู้อื่นเกิดความรำคาญหรืออาจเกิดอุบัติเหตุได้
หลังจากเวียนเทียนเวียนเทียนครบ 3 รอบ ให้นำดอกไม้ ธูป เทียน ไปวางและปักบูชาในที่ที่จัดเตรียมไว้ สำหรับอานิสงค์ของการเวียนเทียน อย่างแรกที่จะเห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ กายจะสำรวมขึ้น และใจจะบังเกิดความสงบเนื่องจากสมาธิในระหว่างการเดิน อีกทั้งยังช่วยให้ไม่ลืมตัว ลดทิฐิ จะได้เป็นที่รักของมนุษย์ พรหม และเทวดา เมื่อกายและใจสงบเย็น จะสามารถสลัดออกจากภูมิเปรต เดรัจฉาน อีกทั้งบันดาลให้จิตพ้นอบายภูมิได้ ดวงจิตจะเกิดรังสีเป็นสีทองดูผ่องใสอย่างอัศจรรย์ และเมื่อปฏิบัติบ่อยเข้า จะเป็นการสะสมบุญบารมี สะสมสมาธิจนไปสู่พระนิพพานในภายภาคหน้า