จากกรณีโลกออนไลน์นำคลิปจากรายการหนึ่งมาแชร์ซ้ำ โดยระบุว่า ""อันตราย!! อย่าแช่ขวดน้ำดื่มและถุงพลาสติกในช่องแช่แข็ง เพราะเมื่อสารพลาสติกเจอความเย็นจนเป็นน้ำแข็ง น้ำแข็งจะดูดไดออกซินออกมา เป็นสารก่อมะเร็ง" !?

ล่าสุด อาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมายืนยันอีกครั้งว่า "ไม่จริง"  พร้อมได้รีโพสต์อีกครั้ง โดยอธิบายว่า  เท่าที่ผมทราบ มันไม่จริงนะครับ ! ขวด PET ที่เราใช้ใส่น้ำดื่มแบบบรรจุขวดกันนั้น ไม่ได้มีส่วนผสมของสารอันตรายอย่าง ไดออกซิน และการแช่แข็งขวดในตู้เย็นนั้น ก็ไม่ได้จะทำให้สารไดออกซินหรือสารอันตรายอื่นๆ ละลายออกมาจากขวด (หรือ น้ำแข็งจะดูดไดออกซินออกมา อย่างที่รายการใช้คำนั้น)

เรื่องนี้ น่าจะมาจากความเชื่อตามๆ กันในโลกอินเตอร์เน็ต ตั้งแต่สมัยฟอร์เวิร์ดเมล์หลอก ที่บอกว่า "ห้ามดื่มน้ำจากขวดน้ำดื่ม ในรถที่จอดตากแดด จะทำให้ได้รับสารไดออกซิน ก่อมะเร็ง" จนทำเอาคนไม่กล้าดื่มน้ำกัน แม้กระทั่งน้ำแจกฟรีตามปั๊มน้ำมัน ก็ไม่กล้ารับ

ซึ่งเรืองที่เป็นฟอร์เวิร์ดเมล์มั่วดังกล่าวนั้น ไม่เป็นความจริงแต่อย่างไร ! มีการอธิบายหลายครั้งจากทั้งผม นักวิชาการหลายๆ คน และจากสถาบันพลาสติก จนกระทั่งมีการทดสอบวิเคราะห์ และแถลงจาก กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เมื่อปี พ.ศ. 2557 ว่า ขวดน้ำดื่มตากแดด ไม่ได้จะเป็นอันตรายอย่างที่กล่าวกัน กล่าวคือ ไม่พบสารที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง รวมถึงไม่พบสารพิษไดออกซิน (Dioxins) สาร Bisphenol A (BPA) หรือสาร PCB (Polychlorinated biphenyl) ในขวดน้ำที่ถูกทิ้งไว้ในรถอุณหภูมิสูงแต่อย่างใดนั้น

ซึ่งทางอธิบดีกรมวิทย์ฯ (ในขณะนั้น) ได้สรุปไว้ว่า "ไม่เคยมีรายงานการตรวจพบไดออกซินในพลาสติก และสารเคมีต่าง ๆ ที่มีการกล่าวอ้างว่าละลายออกมาจากขวดพลาสติกทั้งในสภาวะอุณหภูมิสูงหรือสภาวะการแช่แข็ง ซึ่งไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนว่าเกิดขึ้นได้"

นั่นก็ตรงกับความรู้พื้นฐานเรื่องพลาสติก ที่การแช่แข็งขวดน้ำพลาสติกไม่ได้ทำให้ขวดน้ำปล่อยสารเคมีออกมา ในทางกลับกัน น่าจะช่วยชะลอและป้องกันการปล่อยสารเคมีออกมาอีกด้วย (ตามหลักปฏิกิริยาเคมีทั่วไป เนื่องจากความร้อนที่ลดลงในขวด)

 

ขอบคุณ เพจเฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant