วันที่ 3 มี.ค.2566 ที่ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกทม.เสาชิงช้า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกล่าวในงาน "BKK Zero Waste ต่อยอดแคมเปญไม่เทรวม" ว่า ตั้งแต่เข้ามาทำหน้าที่ในกทม.เรื่องหนักใจที่สุดคือเรื่องขยะ เพราะเป็นเรื่องยาก และมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องมากมาย ทั้งในแง่ประชาชนและกทม. แต่ที่ผ่านมาได้เห็นความก้าวหน้าอย่างชัดเจน ทั้งนี้ พลังในการเปลี่ยนเมืองขึ้นอยู่กับประชาชนทุกคน เนื่องจากแต่ละคนผลิตขยะเฉลี่ยวันละ 1.5 กิโลกรัม กทม.รับผิดชอบขยะวันละประมาณ 800 กิโลกรัม แต่ขยะในกรุงเทพมหานครมีมูลค่าเนื่องจากมีผู้เก็บตลอดเวลา ซึ่งไม่รู้ว่าขยะที่มีผู้เก็บแต่ละวันเดินทางไปไหน แต่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมและงบประมาณในการจัดการของกทม. โดยกทม.ใช้งบประมาณในการจัดการขยะปีละประมาณ 8,000 ล้านบาท ขณะที่เงินเกี่ยวกับสาธารณสุขประมาณ6,000 ล้านบาท การศึกษา 4,000 ล้านบาท หากสามารถทำเรื่องจัดการขยะให้มีประสิทธิภาพ จะช่วยเพิ่มการใช้งบประมาณด้านอื่นได้มากขึ้น สิ่งสำคัญที่สุด คือ ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา เช่น การใช้ทราฟฟี่ ฟองดูว์ปัจจุบันมีผู้แจ้งเหตุเข้ามาแล้ว 240,000 เรื่อง แก้ไขแล้ว 170,000 เรื่อง ชี้ให้เห็นพลังในการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา เช่นเดียวกับเรื่องขยะต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดี เหมือนหนังสือเล่มหนึ่ง ชี้ให้เห็นว่าพันธะสัญญาทางสังคมเป็นเรื่องสำคัญ มนุษย์ไม่ได้อยู่ร่วมกันด้วยกฎหมายเพียงอย่างเดียว การออกกฎหมายไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาทุกเรื่อง หากขึ้นอยู่กับการช่วยกันดูแลสังคม สิ่งแวดล้อม และเพื่อนบ้านร่วมกัน มีคุณค่ามากกว่าการใช้กฎหมายมาบังคับ ดังนั้น หากกทม.และประชาชนร่วมกันดูแลเรื่องขยะ เชื่อว่าจะเป็นพลังเปลี่ยนสังคมอย่างถาวร วันนี้ยินดีอย่างยิ่งที่หลายหน่วยงานมาร่วมกันแสดงพลังในการจัดการขยะ หากการแยกขยะและการจัดการขยะทำได้ดีเชื่อว่าสังคมจะดีขึ้นต่อไป
ผศ.ดร.นายแพทย์ สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงปัญหาขยะมูลฝอยและการกำจัดตั้งแต่ต้นทาง ว่า ปัญหาขยะมูลฝอยสร้างสารพิษตกค้าง กินพื้นที่ใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะขยะพลาสติก ประเทศไทยติดอันดับต้นของโลกในการปล่อยลงทะเล ตลอดจนแปรสภาพเป็นไมโครพลาสติกซึ่งหมุนเวียนกลับมาสู่ร่างกายคนอีกครั้งหนึ่ง เรื่องดังกล่าวเป็นปัญหาที่จัดการได้ยาก ต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนสสส.มีหน้าที่สนับสนุนทุกเรื่องที่กระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะเรื่องมลพิษสิ่งแวดล้อม เป็นอันดับ 7 ของเป้าหมายที่จะทำในทศวรรษที่ 3 ของสสส. พร้อมเป็นโซ่ข้อกลางในการประสานหน่วยงานต่างๆ ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะระดับชุมชน มีตำบลมากมายที่ปัจจุบันไม่ต้องใช้ถังขยะ ส่วนในระดับเมืองและประเทศ การก้าวมาของผู้บริหารกทม.ในปัจจุบันเป็นสัญญาณที่ดีในการขยายต่อไปยังเทศบาลทั่วประเทศ คาดว่าจะสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ได้กทม.ควรเป็นผู้ริเริ่มเรื่องนี้ เนื่องจากเป็นผู้ผลิตขยะมูลฝอยมากที่สุดในประเทศไทย ประมาณ 12,000 ตันต่อวัน หรือร้อยละ 18 ของขยะทั้งหมดในประเทศ โดยเฉพาะช่วงโควิดที่ผ่านมามีขยะที่เกิดจากการป้องกันโรคประมาณ 30 ล้านตันต่อปี จากข้อมูลพบว่า อาหาร 1 ใน 3 ของโลกนี้ถูกทิ้งเป็นขยะ รวมถึงประเทศไทยเช่นกัน แต่มีการกำจัดที่ไม่เหมาะสม ทำให้เกิดมลพิษย้อนกลับมา ทั้งนี้ สสส.และ กทม.มีความมุ่งมั่นในภารกิจเดียวกัน คือช่วยกันลดปริมาณขยะมูลฝอย โดยการประสานภาคส่วนต่างๆ เช่น วัด องค์กร โรงแรม ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ ในการผลักดันเรื่องนี้ให้เป็นรูปธรรมในเมืองหลวงของประเทศไทย และขยายไปยังเทศบาลและเมืองต่างๆ ของประเทศไทยต่อไป
นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงการเปิดตัวโครงการ BKK Zero Waste ว่า ปริมาณขยะใน กทม.ประจำปี 2565 เฉลี่ยวันละ 8,979 ตัน หรือ 3,270,000 ตันต่อปี 55% เป็นขยะอินทรีย์ ซึ่งยังมีการจัดการไม่ครบขบวนการ เป็นเหตุผลในการเปิดตัวโครงการไม่เทรวมในเดือนกันยายนที่ผ่านมาโดยเริ่มนำร่องที่เขตพญาไท เขตหนองแขม และเขตปทุมวัน ภายใต้หลักคิดให้ประชาชนทั่วไปแยกขยะเปียกและขยะแห้ง จะทำให้การจัดการขยะทำได้ง่ายขึ้น เอื้อต่อการรีไซเคิล และสะดวกต่อเจ้าหน้าที่เก็บขน ส่วนที่ยากที่สุดคือการขอความร่วมมือประชาชน ไม่มีกฎระเบียบบังคับ อาศัยการสร้างความเชื่อมั่น ภายใต้คำถามที่ว่า หากประชาชนแยกขยะแล้ว กทม.นำไปเทรวมจะเกิดประโยชน์อะไร อย่างไรก็ตาม กทม.มีแผนเข้าไปส่งเสริมโดยสำนักงานเขตเพื่อสร้างความมั่นใจต่อประชาชนตามที่ได้รับแจ้ง ปัจจุบันมีประชาชนเข้าร่วมพอสมควร ทั้งนี้ กทม.ยังต้องการความร่วมมือจากองค์กรใหญ่ เนื่องจากมีปริมาณขยะมาก เช่น ตลาด ห้างสรรพสินค้า โรงแรม ออฟฟิศ วัด สถานที่ต่างๆ หากกทม.เข้าไปมีส่วนร่วมในการลดการผลิตขยะและแยกขยะจะช่วยลดต้นทุนในการจัดการขยะของกทม.ลงได้ สามารถนำเงินไปใช้พัฒนาด้านอื่น เช่น การศึกษาและสาธารณสุข การจัดงานในวันนี้จึงเป็นการเชิญชวนและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการพัฒนารูปแบบการจัดการขยะกับภาคีเครือข่ายต่างๆ ที่เข้าร่วม เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมในวงกว้างต่อไป