วันที่ 3 มี.ค.66 ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ระบุว่า...

โควิด 19 วัคซีน ความต้องการที่น้อยลง

ในปีแรกที่เริ่มมีวัคซีน ทุกคนแย่งกันมาก เมื่อมีวัคซีนมากขึ้น เรียกร้อง mRNA เป็นวัคซีนเทพ เมื่อกาลเวลาผ่านไป จะเห็นได้ว่าวัคซีนทุกตัวประสิทธิภาพไม่ต่างกันเลย

มาถึงปัจจุบัน จะฉีดวัคซีนกี่เข็มก็ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้เพียงแต่ลดความรุนแรงของโรคลง

ในวันนี้ ประชากรทั่วโลกส่วนใหญ่ได้ติดเชื้อไปแล้ว น่าจะถึง 5 พันล้านคน แม้กระทั่งประเทศไทยก็น่าจะติดเชื้อไปแล้วมากกว่า 50 ล้านคน

ภูมิต้านทานที่เกิดจากวัคซีนและการติดเชื้อโดยเฉพาะการติดเชื้อในระยะหลังที่ตรงกับสายพันธุ์มากกว่า ทำให้แนวโน้มโรคสงบลง

วัคซีนที่ยังคงอยู่ในสต๊อกขณะนี้จึงเกินความต้องการ จึงทำให้มีการทำลายวัคซีนที่หมดอายุเป็นจำนวนมาก และเร่งระบายวัคซีนในสต๊อกด้วยการบริจาค บริษัทวัคซีนต่างๆก็หยุดสายพานการผลิต จะผลิตเมื่อมีคำสั่งซื้อเข้ามาเท่านั้น และการสั่งซื้อจะต้องซื้อเป็นจำนวนมาก และวัคซีนในกลุ่มของ mRNA มีอายุสั้นกว่า

วัคซีนที่เราได้รับบริจาคมา ถึงแม้ว่าจะเป็น 2 สายพันธุ์ ก็ไม่มั่นใจว่าจะสามารถใช้ได้หมด

บริษัทต่างๆจะไม่พัฒนา สายพันธุ์ใหม่มากไปกว่านี้ เพราะไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงตลอด การเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ในวัคซีน ก็ไม่ได้มีผลมากมาย

นอกจากนี้การทำวัคซีนสายพันธุ์ใหม่ด้วยขบวนการทางพันธุกรรม ในกลุ่มของ mRNA และไวรัสเวกเตอร์ ต้องมีการทำ codon modification จึงทำให้ต้องมีการทดลองเพิ่มขึ้น ก่อนที่จะถูกนำมาใช้ ไม่เหมือนอย่างวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ที่เป็นเชื้อตาย เพียงแต่เปลี่ยน seed สายพันธุ์ตามองค์การอนามัยโลกกำหนด ก็พัฒนาวัคซีนได้เลยภายใน 6 เดือน