รายงาน : แรลลี่เที่ยวเชิงวัฒนธรรม 3 จังหวัดภาคกลาง ชมหนังใหญ่วัดขนอน อุทยานฯเมืองสิงห์ ต้นจามจุรียักษ์
การเดินทางท่องเที่ยวมีหลากหลายรูปแบบ แรลลี่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมก็เป็นอีกหนึ่ง อย่างที่กิจกรรมแรลลี่แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม 3 จังหวัดภาคกลาง ราชบุรี กาญจนบุรี และสุพรรณบุรี ชมการแสดงหนังใหญ่วัดขนอน อุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง เที่ยวชุมชนบ้านบางแม่หม้าย ฯลฯ แล้วช้อปผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม เพื่อกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น ซึ่งกิจกรรมแรลลี่นี้เป็นการร่วมกันระหว่างกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) กับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดในแต่ละจังหวัด และภาคีเครือข่ายเข้าร่วมซึ่งจัดขึ้นวันที่ 25 – 26 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา
แรลลี่ดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 200 คน จาก 2 ประเภท คือรถยนต์ จำนวน 30 คัน และรถจักรยานยนต์ จำนวน 70 คัน ได้กำหนดจุดแรลลี่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมสร้างสรรค์ในพื้นที่ 3 จังหวัด ประกอบด้วย จ.ราชบุรี ได้แก่ วัดโขลงสุวรรณคีรี วัดมหาธาตุวรวิหาร อำเภอเมืองราชบุรี และวัดขนอน อำเภอโพธาราม ที่จ.กาญจนบุรี ได้แก่ ต้นจามจุรียักษ์ อำเภอเมืองกาญจนบุรี อุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ อำเภอไทรโยค และวัดทิพย์สุคนธาราม อำเภอห้วยกระเจา ที่จ.สุพรรณบุรี ได้แก่ วัดเขาทำเทียม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง อำเภออู่ทอง และชุมชนคุณธรรมบ้านบางแม่หม้าย อำเภอบางปลาม้า นอกจากนี้ยังมีการแสดงศิลปวัฒนธรรมที่เป็นอัตลักษณ์ของแต่ละจังหวัด อาทิ การแสดงหนังใหญ่วัดขนอน การแสดงของแม่ขวัญจิต ศรีประจันต์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงพื้นบ้าน-อีแซว) ประจำปี พ.ศ. 2539 การแสดงคอนเสิร์ตจากศิลปินที่มีชื่อเสียง “เปาวลี พรพิมล” การแสดงของ “มือฉิ่งเมืองสุพรรณบุรี” รวมถึงการสาธิตภูมิปัญญาพื้นบ้าน และการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม หรือCPOT
นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า เป็นการบูรณาการร่วมกันระหว่างวธ. กับทุกภาคส่วนร่วมกันจัดโครงการเชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวดังกล่าวขึ้น ในพื้นที่ที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมสร้างสรรค์ของกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง ราชบุรี กาญจนบุรี และสุพรรณบุรี ซึ่งถือเป็นกลุ่มจังหวัดที่มีความโดดเด่นน่าสนใจ มีทุนทางวัฒนธรรมด้านดนตรีอย่างเข้มแข็ง เช่น ปูชนียบุคคลทางด้านดนตรี ศิลปินแห่งชาติ นักดนตรีรุ่นใหม่ทั้งเพลงลูกทุ่งและเพลงสากล อีกมีความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี ประวัติศาสตร์ โบราณคดี มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้ในรูปเที่ยวชุมชนยลวิถีที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นต้นแบบ ไปจนถึงร้านอาหาร ร้านของฝากของที่ระลึกผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม ถือเป็นการส่งเสริมและเพิ่มขีดความสามารถให้กับแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี ทั้งยังเป็นไปตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ การนำทุนทางวัฒนธรรมสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ เพื่อเป็นรากฐานในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
นับเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ ให้นักท่องเที่ยวได้เดินทางมาเที่ยวมากขึ้น ทำให้เกิดการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวในพื้นที่ รวมถึงสร้างแรงผลักดันให้ชุมชนเห็นคุณค่าและตระหนักถึงความสำคัญของทุนทางวัฒนธรรม มีส่วนร่วมในการสนับสนุนอนุรักษ์ ฟื้นฟูมรดกศิลปวัฒนธรรมในพื้นที่