ร่วมสมัย / ชะมวง พฤกษาถิ่น : ศิลปินที่ได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ ย่อมแสดงว่าเป็นผู้มีความรู้ความสามารถในศิลปะแขนงนั้นๆ ผลงานเป็นที่ประจักษ์ซึ่งมิใช่เพียงแค่ในวงการของศิลปะแขนงนั้นๆ เท่านั้น หากแต่ยังได้รับการยอมรับจากสาธารณชน
24 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมวัฒนธรรม(สวธ.) มีการจัดงานวันศิลปินแห่งชาติ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ผู้ทรงเป็นพระปฐมบรมศิลปินแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ 24 กุมภาพันธ์ ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ศิลปินแห่งชาติผู้ล่วงลับ และนิทรรศการเผยแพร่ประวัติและผลงานของศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช 2564 ซึ่งมีศิลปินแห่งชาติในแต่ละสมัยร่วมแสดงความยินดีและชมนิทรรศการผลงาน
นิทรรศการประวัติและผลงานของศิลปินแห่งชาติ 2564 ทั้ง 12 คน ประกอบด้วย สาขาทัศนศิลป์ ศ.ถาวร โกอุดมวิทย์ (ภาพพิมพ์) ศ.เกียรติคุณอรศิริ ปาณินท์ (สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น) นายมีชัย แต้สุจริยา (ทอผ้า) นางวรรณี ชัชวาลทิพากร (ภาพถ่าย) สาขาวรรณศิลป์ นางนันทพร ศานติเกษม นายวิชชา ลุนาชัย สาขาศิลปะการแสดง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ (โนรา) นายกำปั่น นิธิวรไพบูลย์ (เพลงโคราช) นายไพฑูรย์ เข้มแข็ง (นาฏศิลป์ไทย-โขน ละคร) ศ.ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร (ดนตรีสากล-ประพันธ์เพลงคลาสสิก) นายสลา คุณวุฒิ (ดนตรีไทยสากล-ประพันธ์เพลงไทยลูกทุ่ง) และนายนพพล โกมารชุน (ภาพยนตร์และละคร)
นิทรรศการฯ นอกจากเผยแพร่ผลงานอันทรงคุณค่าของศิลปินแห่งชาติให้เป็นที่ประจักษ์อย่างกว้างขวางอันจะเป็นประโยชน์แล้ว ยังช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้เข้าชมนิทรรศการในการศึกษาเรียนรู้และการสืบสานศิลปวัฒนธรรมของชาติด้วย ผู้สนใจสามารถเข้าชมได้ที่ห้องนิทรรศการหมุนเวียน ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย จัดแสดงจนถึงวันที่ 8 มีนาคม 2566 ในเวลาราชการ ทั้งนี้ ตั้งแต่เริ่มโครงการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ. 2528 ถึงปัจจุบัน มีศิลปินได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ รวม 343 คน เสียชีวิตไปแล้ว 173 คน