สำหรับการดำเนินธุรกิจในปี 2566 แม้ว่าการฟื้นตัวของธุรกิจโรงแรมมีแนวโน้มที่ชัดเจนมากขึ้น รวมถึงปัจจัยบวกการเริ่มเดินทางของนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เร็วกว่าคาด แต่บริหารจัดการต้นทุนอาหาร พลังงาน และค่าจ้างแรงงานที่มีการปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงแนวโน้มการปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ยังทำให้ต้องจับตามองอย่างไม่คลาดสายตา ถึงกระนั้นในไตรมาส 4 ปีที่ผ่านมาก็ทำให้ธุรกิจต่างๆ ได้กำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์หลังการแพร่ระบาดของโควิด
ธุรกิจปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
นาย กันย์ ศรีสมพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่การเงิน และ รองประธานฝ่ายการเงินและบริหาร บริษัท โรงแรมเซ็นทรัล พลาซา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ในไตรมาส 4/2565 มีรายได้รวม 5,502 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 47% และมีกำไรก่อนค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย ดอกเบี้ยจ่าย และภาษีเงินได้ (EBITDA) รวม 1,531 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 57% จากไตรมาส 4/2564 โดย % EBITDA Margin อยู่ที่ 28% เพิ่มขึ้นเทียบกับปีก่อน เนื่องจากการดำเนินงานธุรกิจโรงแรมที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเทียบปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะโรงแรมที่จังหวัดท่องเที่ยวหลักซึ่งมีผลการดำเนินงานที่โดดเด่น บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 498 ล้านบาท หรือเติบโต 228% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน
โดยในปี 2565 บริษัทฯมีรายได้รวม 18,216 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 57% และมีกำไรก่อนค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย ดอกเบี้ยจ่าย และภาษีเงินได้ (EBITDA) รวม 4,411 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 120% เทียบปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 398 ล้านบาท หรือเติบโต 123% (เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งขาดทุนสุทธิ 1,734 ล้านบาท)
สำหรับการดำเนินธุรกิจในปี 2566 บริษัทฯ ได้มีการวางแผนเพื่อลดผลกระทบต่อการปรับตัวขึ้นของต้นทุนดังกล่าว เช่น การวางแผนในการเจรจาต่อรองกับผู้ขายวัตถุดิบอย่างต่อเนื่อง หาแหล่งวัตถุดิบทดแทน การใช้พลังงานแสงอาทิตย์และอุปกรณ์ประหยัดพลังงานเพื่อลดค่าไฟฟ้า การจัดสรรกำลังบุคลากรวิถีใหม่ และรวมถึงแผนการจ่ายคืนเงินต้นก่อนกำหนดสำหรับเงินกู้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเพื่อลดผลกระทบของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
ซึ่งการเติบโตของธุรกิจในปีนี้ จะมาจากทั้งธุรกิจโรงแรมและธุรกิจอาหาร โดยโรงแรมในประเทศไทยยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น และส่วนหนึ่งเป็นการเติบโตจากฐานต่ำในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 โดยการเติบโตมาจากโรงแรมระดับ 5 ดาว รวมถึงแบรนด์เซ็นทารา รีเซิร์ฟ ทั้งในกรุงเทพและแหล่งสถานที่ท่องเที่ยวหลัก เป็นสำคัญ
สำหรับโรงแรมที่มัลดีฟส์คาดว่าผลการดำเนินงานจะปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อน เนื่องจากการปรับกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน นอกจากนี้ในปี 2566 การเติบโตของรายได้ส่วนหนึ่งมาจากการเปิดโรงแรมใหม่ โดยบริษัทฯ จะรับรู้รายได้จากการดำเนินงานโรงแรม เซ็นทารา แกรนด์ โอซาก้า ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2566 เป็นต้นไป เพราะฉะนั้นจึงทำให้ภาพรวมปี 2566 น่าจะมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ย (รวมโรงแรมร่วมทุน) 65% - 72% และรายได้ต่อห้องพักเฉลี่ย (RevPar) เติบโต 30% - 37% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ 3,250 – 3,400 โดยการเติบโตของ RevPar มาจากอัตราการเข้าพักที่เพิ่มขึ้น และราคาห้องพักเฉลี่ยเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะจากโรงแรมในต่างประเทศที่เมืองดูไบและประเทศญี่ปุ่นที่ราคาเฉลี่ยสูงกว่าราคาห้องพักในประเทศไทย
อานิสงค์ของการยกเลิกข้อจำกัดเข้าประเทศ
ด้านกลุ่มดุสิตธานี รายงานผลประกอบการไตรมาสที่ 4 ปี 2565 (ตุลาคมถึงธันวาคม) มีรายได้รวม 1,723 ล้านบาท สูงสุดในรอบ 3 ปีนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วงปี 2562 โดย นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) หรือ DUSIT กล่าวว่า ไตรมาสที่ 4 ของปี 2565 เป็นไตรมาสที่บริษัทฯ มีรายได้รวมรายไตรมาสสูงที่สุดนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเป็นการเติบโตจากการประกอบธุรกิจหลักทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจการศึกษา ธุรกิจอาหาร และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ประกอบกับบริษัทฯ มีรายได้อื่นเพิ่มขึ้น (กำไรจากการเปลี่ยนแปลงมูลค่ายุติธรรมของอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุนและกำไรจากการขายที่ดิน) ส่งผลให้บริษัทฯ มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 46 ล้านบาท พลิกกลับมาเป็นบวกจากผลขาดทุนในช่วงหลายไตรมาสก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม หากไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นไม่ประจำแล้ว ภาพรวมของผลการดำเนินงานดีขึ้น โดยมีผลขาดทุนสุทธิลดลงมาอยู่ที่ -107 ล้านบาท ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนที่มีผลขาดทุนสุทธิที่ -109 ล้านบาท และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีผลขาดทุนสุทธิที่ -303 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในปี 2565 ธุรกิจโรงแรมของบริษัทฯ มีการฟื้นตัวที่ดีอย่างต่อเนื่อง จากการยกเลิกข้อจำกัดในการเดินทางระหว่างประเทศ การเดินทางที่เพิ่มขึ้นหลังจากที่ไม่ได้ท่องเที่ยวเป็นเวลานาน (revenge travel) โดยเฉพาะในไตรมาส 4 ซึ่งเป็นฤดูกาลท่องเที่ยว และมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทยมากกว่าที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดไว้ ส่งผลให้บริษัทฯ มีอัตราการเข้าพักและรายได้เฉลี่ยต่อห้องเพิ่มขึ้นโดยเห็นได้ชัดเจนในช่วงครึ่งหลังของปี และทำให้รายได้ธุรกิจโรงแรมของบริษัทฯ ในปี 2565 กลับมาที่ระดับ 85% ของรายได้ธุรกิจโรงแรมในปี 2562 ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19
สำหรับปี 2566 กลุ่มดุสิตธานีมีแผนที่จะขยายธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ท เพิ่มขึ้นอีก 14 แห่ง รวมทั้งสิ้นประมาณ 1,700 ห้อง ใน 7 ประเทศทั่วโลก ครอบคลุมทั้งในเอเชียและยุโรป รวมถึงประเทศไทย ซึ่งจะทำให้พอร์ตโฟลิโอทั่วโลกของกลุ่มดุสิตในปีนี้ มีโรงแรมรวมกันทั้งหมด 62 แห่ง หรือประมาณ 13,700 ห้อง ใน 17 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งยังมีอสังหาริมทรัพย์มากกว่า 60 แห่งที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการ ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการภายใน 3-4 ปีข้างหน้า