คุยเฟื่องเรื่องต่างประเทศ / ดร.วิวัฒน์ เศรษฐช่วย                              

แทบไม่น่าเชื่อเลยว่าการต่อสู้ของสงครามยูเครนจะยืดเยื้อไปแล้วหนึ่งปีกว่า แถมขณะนี้แทนที่จะมีการเจรจาเพื่อสันติภาพ แต่กลับเกิดสงครามวาทะปะทะกันระหว่างรัสเซียกับค่ายตะวันตกผนวกควบรวมขึ้นมาอีก

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าทั้งสองฝ่ายต่างตั้งเงื่อนไขมุ่งมั่นที่จะต่อสู้จนกว่าฝ่ายของตนจะได้รับชัยชนะ แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าขณะนี้รัสเซียครอบครองดินแดนของยูเครนไปแล้วถึง 17% เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ยิ่งสร้างปัญหาให้แก่สหรัฐอเมริกาอย่างมากมายมหาศาลเลยทีเดียว!!!

อนึ่งเมื่อแปดปีที่แล้วยูเครนเคยมีบทบาทสำคัญในการแข่งขันของสหรัฐอเมริกากับรัสเซีย และจากการที่รัสเซียผนวกไครเมียก็ถือเป็นจุดเปลี่ยนทางประวัติศาสตร์ความมั่นคงของยุโรป

อีกทั้งที่ผ่านมารัสเซียเคยมีสัมพันธภาพอันลึกซึ้งทั้งทางด้านวัตนธรรม ด้านเศรษฐกิจและการเมืองกับยูเครน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านการค้า ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า ก่อนหน้านี้ยูเครนเคยเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของรัสเซีย แต่ต่อมากลับถูกจีนแซงขึ้นหน้า

 และภายหลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต นักการเมืองของรัสเซียต่างมองว่า การปล่อยให้ยูเครนแยกเป็นเอกราชเป็นความผิดพลาดอันแสนยิ่งใหญ่ของผู้นำสหภาพรัสเซีย และเป็นภัยคุกคามต่อสถานะมหาอำนาจของรัสเซีย

ในช่วงสามทศวรรษของการได้รับเอกราช ยูเครนพยายามสร้างและกำหนดทิศทางของตนเองในฐานะรัฐอธิปไตย ขณะเดียวกันยูเครนยังพยายามมองหาแนวทางต้องการที่จะเข้าไปใกล้ชิดกับสหภาพยุโรปและองค์การนาโต เพื่อต้องการสร้างความมั่นคงปลอดภัยให้แก่ตนเอง

ทั้งนี้ประธานาธิบดีปูตินไม่พอใจต่อการขยายอิทธิพลของนาโต โดยเขาออกมากล่าวอ้างว่าสหรัฐอเมริกาและนาโตละเมิดคำมั่นสัญญาที่เคยให้ไว้ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 ในเรื่องที่ว่า “จะไม่ขยายอิทธิพลไปยังอดีตกลุ่มสหภาพโซเวียต

ประธานาธิบดีปูติเคยเอ่ยปากกล่าวเตือนสหรัฐฯมาแล้วครั้งที่จะเกิดการประชุมสุดยอดขององค์การนาโตเมื่อปีค.ศ.2008 ว่า การที่ยูเครนจะเข้าไปเป็นสมาชิกขององค์การนาโตนั้น ถือเป็นการกระทำที่ไม่เป็นมิตรต่อรัสเซีย

ถึงแม้ว่าขณะนี้ยูเครนยังไม่ได้เป็นสมาชิกของนาโตก็ตาม แต่การที่ยูเครนขยายความสัมพันธ์กับนาโตอย่างต่อเนื่อง น่าจะเป็นประเด็นหลักที่ทำให้ประธานาธิบดีปูตินตัดสินใจบุกโจมตียูเครน เพื่อต้องการที่จะกอบกู้ศักดิ์ศรีอันยิ่งใหญ่ของรัสเซียในอดีตให้กลับคืนมา!!!

สำหรับนโยบายของสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปที่ทั้งสองฝ่ายต่างมุ่งมั่นต้องการที่จะเพิ่มอำนาจอธิปไตยให้แก่ยูเครน โดยไม่ยอมรับการอ้างสิทธิ์ของรัสเซีย โดยขณะนี้สหรัฐฯให้ความช่วยเหลือยูเครนไปแล้วเป็นเม็ดเงินมากกว่าห้าหมื่นล้านดอลลาร์ และสหรัฐฯก็ยังช่วยเหลือยูเครนทางด้านอาวุธไม่ว่าจะเป็นจรวด ขีปนาวุธ เฮลิคอปเตอร์ โดรน รถถัง  ซึ่งมีนาโตเข้าไปให้ความช่วยเหลือยูเครนในลักษณะที่คล้ายๆกันอีกด้วย

อย่างไรก็ตามบรรดาพันธมิตรของสหรัฐอเมริกาที่เข้ามาให้การสนับสนุนนโยบายของ “ประธานาธิบดีโจ ไบเดน” ซึ่งมีโยงใยต่อประสานกันอย่างมากมายเหมือนกับใยแมงมุม

โดยทันทีที่รัสเซียนำกองทัพเข้าบุกยูเครน อีกฟากหนึ่งอันได้แก่สหรัฐฯก็จัดตั้งแนวร่วมพันธมิตรโดยมี 141 ประเทศสนับสนุนมาตรการของสหประชาชาติที่เรียกร้องให้รัสเซียถอนตัวออกจากยูเครนอย่างไม่มีเงื่อนไข โดยประธานาธิบดีโจ ไบเดน ใช้สโลแกนที่ว่า “โลกอยู่กับเรา”

เมื่อนำเอาทั้งสองสถานการณ์มาพิจารณากันแล้ว ขณะนี้ดูเหมือนว่าทั้งสหรัฐอเมริกาและรัสเซียต่างพยายามจะไขว่คว้าหาพันธมิตรเข้าไปร่วมกับตนเอง

อนึ่งยังมีหลายๆประเทศที่ไม่ต้องการจะเข้าไปพัวพันกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยพยายามจะรักษาผลประโยชน์ของชาติตนเองเอาไว้ให้มากที่สุด อาทิเช่น อินเดีย ตุรเคีย และ อิสราเอลที่ต่างนั่งคุมเชิงอยู่บนรั้ว ไม่ยอมร่วมกับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด แต่ปรากฏว่าทั้งสามประเทศนี้ยังคงซื้อน้ำมันและก๊าซจากรัสเซีย และยังซื้ออาวุธจากสหรัฐอเมริกาด้วยเช่นกัน!!!

สำหรับจีนนั้นดูเหมือนว่าเล่นการเมืองแบบใช้กำลังภายในพิเศษ โดยก่อนหน้าที่จะเกิดสงครามยูเครน  ประธานาธิบดีปูตินได้เดินทางไปยังประเทศจีนและผู้นำทั้งสองยังได้ทำสัญญาใจผนึกความเป็นหุ้นส่วนแบบ “ไร้ขีดจำกัด” ซึ่งก่อให้เกิดความกังวลกับสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จะเข้าพบปะกับประธานาธิบดีปูติน มาแล้วถึงสามสิบแปดครั้งก็ตาม แต่ทว่าประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ก็ยังเว้นระยะห่างพยายามระมัดระวังตัว ที่อาจเป็นเพราะเกรงจะถูกมองว่า จีนสนับสนุนให้เกิดสงครามยูเครน ต่อมาภายในกลับปรากฏข่าวลับๆออกมาว่า บริษัทค้าอาวุธของจีนหลายๆบริษัทขายอุปกรณ์สงครามให้แก่รัสเซีย

อนึ่งจากการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้วมีการคาดการณ์กันว่า “จะมีการรับรองมติที่เรียกร้องให้รัสเซียถอนตัวออกจากยูเครนอย่างไม่มีเงื่อนไข” แต่กลับปรากฏว่า จีน อาฟริกาใต้ และอินเดีย กลับงดออกเสียง เท่ากับว่าการประชุมในครั้งนี้รัสเซียเป็นฝ่ายได้เปรียบ!!!

และถึงแม้ว่าค่ายฝั่งตะวันตกที่นำโดยสหรัฐฯนั้น จะเล็งเห็นว่าประธานาธิบดีโจ ไบเดน ยังคงสามารถผนึกชาติพันธมิตรเอาไว้ได้อย่างแข็งแกร่งก็ตาม แต่ต้องไม่ลืมด้วยว่า ขณะนี้คนอเมริกันเริ่มเบื่อหน่ายที่จะให้สหรัฐฯเข้าไปสนับสนุนการทำสงคราม จากที่เคยมีการสนับสนุนอยู่ที่ 73% ตอนสงครามยูเครนเกิดขึ้นใหม่ๆ แต่ขณะนี้แรงสนับสนุนกลับลดลงเหลือแค่เพียง    48% และยังมีผู้ที่ออกมาต่อต้านอยู่ที่ 29%

และจากผลสำรวจล่าสุดของ ARD-Deutschland Trend ในเยอรมนีพบว่า 58% ของชาวเยอรมันมีความคิดเห็นว่า “ความพยายามทางการทูตเพื่อยุติสงครามยังมีกลไกที่ไม่เพียงพอ”

ส่วนการสำรวจในรัสเซียเมื่อเดือนพฤศจิกายปีกลายของศูนย์ Levada Center ปรากฏว่า ชาวรัสเซียกว่า 53% ต้องการจะให้รัฐบาลของตนเริ่มการเจรจาเพื่อสันติภาพ

อนึ่งเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 23 กุมภาพันธ์ 2023 ที่ผ่านมา จีนพันธมิตรอันแสนใกล้ชิดของรัสเซียได้ออกมาประกาศเรียกร้องให้ยูเครนและรัสเซียยุติการสู้รบและเปิดการเจรจาเพื่อสันติภาพ ซึ่งที่จีนกล่าวมานี้เป็นส่วนหนึ่งของข้อเสนอ 12 ข้อเพื่อยุติความขัดแย้ง อีกทั้งประธานาธิบดีสี จิ้นผิงยังได้ออกมาเรียกร้องให้มีการยุติการคว่ำบาตรของฝ่ายตะวันตก  แต่ประเด็นสำคัญกลับอยู่ที่ว่า ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง สามารถจะวางตัวเป็นกลางได้หรือไม่?

ในการแถลงข่าวเมื่อวันศุกร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2023 ที่ผ่านมาของ “ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี” แห่งยูเครนที่เขาออกมากล่าวว่า“ข้าพเจ้ามั่นใจว่ายูเครนจะชนะ โดยชัยชนะเป็นสิ่งที่ยูเครนหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย!!!

ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าประธานาธิบดีปูตินออกมายืนยันตลอดเวลาว่า “รัสเซียมีความพร้อมในการทำสงคราม แม้จะเป็นสงครามที่ยาวนานก็ตาม” ส่วนประธานาธิบดีโจ ไบเดน ก็ได้ออกมากล่าวว่า “เราจะไม่อ่อนล้าในภารกิจช่วยเหลือ เพื่อแน่ใจว่ายูเครนจะเป็นชาติประชาธิปไตย”

กล่าวโดยสรุปทั้งนี้และทั้งนี้ดูเหมือนว่าประธานาธิบดีโจ ไบเดน และ ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่า ฝ่ายตนจะได้รับชัยชนะหรือไม่และอย่างไร แถมในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าก็ยังมีเรื่องท้าทายเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาสงครามทางการทูตในยูเครน แต่สิ่งที่เห็นค่อนข้างเด่นชัดของสงครามยูเครนในครั้งนี้ก็คือ ยังไม่สามารถชูมือตัดสินได้ว่าใครคือผู้ชนะ? แต่ที่แน่ๆผู้ได้รับผลกระทบได้รับความเดือดร้อนอย่างแน่นอนก็คงจะตกไปอยู่ที่บรรดาประชากรตาดำๆ ตาเขียวๆ ตาฟ้าๆทุกๆคนบนโลกใบนี้ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม สำหรับผู้ที่ได้รับผลประโยชน์รับทรัพย์อื้อซ่ามากที่สุดก็น่าจะเป็นผู้ประกอบธุรกิจผลิตอาวุธสงครามละครับ