ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล
ด้วยใจที่บริสุทธิ์ใสจึงจะได้ก้อนแก้วที่ใสสว่าง พร้อมรับและส่งผ่านทุกความทุกข์ที่หมองมัว
นิพนธ์มาพูดกับแก้วในวันหนึ่งว่า ขอให้แก้วออกจากงานที่โรงพยาบาลแล้วมาเลี้ยงลูกเพียงอย่างเดียว ฟังน้ำเสียงก็เหมือนจะมีความปรารถนาดี แต่พอแก้วปะติดปะต่อสภาพการณ์ต่าง ๆ ที่แก้วมาอยู่ที่บ้านของนิพนธ์ในจังหวัดน่านได้กว่า 4 ปี จนมีลูกกับนิพนธ์ได้ 2 คน ก็ชักจะเริ่มระแวงสงสัยอะไรบางอย่าง
นิพนธ์เป็นลูกคนโตของครอบครัว พ่อเขาเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของจังหวัด แต่ได้เสียชีวิตไปนานแล้ว นิพนธ์อาศัยอยู่กับแม่ที่ผู้คนนับหน้าถือตาว่าเป็น “แม่เลี้ยง” คนหนึ่งของจังหวัด เขามีน้องชายอีก 2 คน แต่ทั้งสองคนก็แต่งงานออกไปอยู่กับภรรยาหมดแล้ว นิพนธ์พูดกับแก้วอยู่เสมอ ๆ ว่า ให้เอาใจแม่ของเขาให้มาก ๆ ซึ่งแก้วก็พยายามทำหน้าที่ของลูกสะใภ้อย่างขยันขันแข็ง โดยมีผู้ช่วยทำงานบ้านและเลี้ยงลูกอีก 2 คน กระนั้นก็ดูเหมือนว่ายังไม่เป็นที่พอใจของนิพนธ์ จนถึงขั้นอยากให้ออกจากงานที่โรงพยาบาลเพื่อมาเป็นแม่บ้านให้เต็มตัว แล้ก็ต้องขั้นทะเลาะกันบ่อย ๆ เพราะแก้วไม่อยากออกจากงานประจำที่เป็นข้าราชการ และแก้วสามารถแบ่งเวลาได้เป็นอย่างดี แม้จะต้องมีภาระงานในหลาย ๆ สถานะอย่างล้นมือนั้นก็ตาม
แม่ของนิพนธ์ในวัยย่างเจ็ดสิบเริ่มเป็นโรคหลง ๆ ลืม ๆ และชอบบ่นน้อยใจในเรื่องโน้นเรื่องนี้ บ่อยครั้งแก้วได้ยินแกบ่นต่อว่าลูกสะใภ้ว่าไม่ค่อยสนใจไยดีแก บางทีก็ไล่แก้วให้ออกเสียจากบ้าน รวมถึงที่บอกว่าจะไม่ให้มรดกเงินทองอะไรเลยสักสลึง พอแก้วเล่าเรื่องเหล่านี้ให้นิพนธ์ฟัง นิพนธ์ก็บอกว่าให้อดทน เพราะธรรมเนียมของคนทางเหนือถ้าลูกคนใดได้เลี้ยงดูแลพ่อแม่ ก็จะได้รับทรัพย์สินมรดกมากกว่าผู้ใด เรื่องนี้ทำให้แก้วรู้สึกไม่ดีเลย เพราะมองไปในวันข้างหน้าแก้วจะต้องมีปัญหากับน้อง ๆ ของนิพนธ์ รวมถึงลูกหลานญาติพี่น้องอื่น ๆ ยิ่งคิดไปแล้วก็ยิ่งไม่มีความสุข โดยเฉพาะที่จะต้องทำให้คนอื่น ๆ ไม่มีความสุขนั้นอีกด้วย ซึ่งขัดแย้งกับนิสัยของแก้ว ที่ไม่ปรารถนาจะให้ใคร ๆ มีความทุกข์ และอยากให้ทุก ๆ คนนั้นมีความสุข
แก้วเขียนจดหมายไปขอพึ่งลุงเดชาอีกครั้ง เธอวางแผนอยู่นับปี หลังจากที่ลุงเดชายินดีช่วยเหลือเธอแล้ว เธอก็ทำเรื่องขอโอนไปเป็นพยาบาลที่กรุงเทพฯ กว่าจะสำเร็จก็ใช้เวลาหลายเดือน ลุงเดชาช่วยหาโรงเรียนเตรียมไว้ให้ลูกสาวทั้งสองของแก้ว ส่วนลูกติดของนิพนธ์กับแม่ชาวฟิลิปปินส์ก็โชคดี เพราะแม่จริง ๆ มาแอบพากลับไปฟิลิปปินส์ก่อนที่แก้วจะแอบพาลูก ๆ ของเธอเองออกมาเพียงเดือนเดียว วันที่แก้วพาลูก ๆ ออกมานั้นไม่ได้ยุ่งยากอะไร เพราะนิพนธ์ก็ทำงานอยู่อีกจังหวัดหนึ่ง นาน ๆ จึงจะกลับมาบ้านสักครั้ง เธอพาลูกออกจากบ้านในตอนเช้า โดยเอาเฉพาะข้าวของที่จำเป็นติดตัวมา โดยบอกพี่เลี้ยงว่าจะพาลูกไปทำบุญบ้านเพื่อน แล้วก็นั่งรถ บ.ข.ส.มาลงที่พิจิตร แล้วต่อรถไฟในตอนค่ำมาถึงหัวลำโพงในรุ่งเช้าอีกวันหนึ่งโดยลุงเดชาให้ลูกชายคนหนึ่งที่แก้วก็สนิทสนมเมื่อตอนที่มาอาศัยอยู่ตอนเรียนมัธยมให้ขับรถมาคอยรับ
นิพนธ์มาตามหาแก้วกับลูกถึงกรุงเทพฯ แต่ลุงเดชาก็ออกรับหน้าแทนจนนิพนธ์ไม่กล้าเข้ามาในบ้าน ในที่สุดแก้วก็ทำเรื่องหย่ากับนิพนธ์ และขอให้ได้เลี้ยงดูลูกทั้งสองคน ซึ่งนิพนธ์ก็ดูจะไม่ขัดขืนอะไร ที่คงจะเป็นเพราะลุงเดชาได้ใช้ทนายความกับอิทธิพลส่วนตัวเข้าดำเนินการ หรือไม่ก็เป็นด้วยนิสัยที่ไม่รับผิดชอบของนิพนธ์เอง ที่ไม่อยากจะรับภาระอะไรและเอาแต่สิ่งที่ตัวได้ประโยชน์ดั่งที่เคยเป็นมา
สองปีแรกแก้วยังคงอาศัยอยู่กับลุงเดชา ก่อนที่จะออกมาหาบ้านเช่าอยู่ใกล้ ๆ โรงพยาบาลที่ทำงานและใกล้โรงเรียนของลูก แก้วยังคงทำงานหนักเหมือนเดิม ทั้งที่ด้วยเป็นนิสัยส่วนตัวที่ชอบขวนขวายไม่อยู่นิ่ง ยิ่งมีลูกสาวที่กำลังเติบโตเป็นกำลังใจ เธอก็ยิ่งทุ่มเททำงานอย่างมีความสุข นอกเหนือจากงานประจำที่เธอทั้งเข้าเวรอยู่ตามปกติ เธอยังรับงานพิเศษเฝ้าไข้นอกเวลา และทำประกันชีวิตเสริมรายได้ เมื่อเธอมีรายได้มากขึ้น เธอก็ไปผ่อนรถยนต์มือสองมาขับรับส่งลูก เมื่อลูกขึ้นชั้นมัธยมที่โรงเรียนอยู่ไกลออกไป รวมทั้งที่จะได้ขับรถไปทำธุรกิจต่าง ๆ เพื่อหารายได้เสริมของเธอนั้นด้วย
วันหนึ่งเธอก็ลาออกจากราชการเพื่อไปทำงานในบริษัทเอกชน เพราะมองเห็นว่ารายได้ของราชการนั้นไม่ได้จะทำให้ลูกของเธอได้เรียนสูง ๆ เธอวาดหวังที่จะให้ลูกได้เรียนถึงในต่างประเทศ อันเป็นความฝันส่วนตัวของเธอเองมาตั้งแต่สมัยวัยรุ่น รวมทั้งที่อยากให้อนาคตที่ดีที่สุดแก่ลูก ส่วนหนึ่งก็อาจจะด้วยค่านิยมทางสังคม อีกส่วนหนึ่งก็ด้วยเห็นเป็นความเหมาะสม ในช่วงเวลาที่เธอก็มีฐานะและโอกาสที่จะมอบสิ่งดี ๆ นั้นให้แก่ลูกนั้นได้ ซึ่งเธอก็ไม่ได้คิดว่าเป็นความยากลำบาก แต่สิ่งนี้ก็คือ “พลังใจ” ที่ทำให้เธอฝ่าฟันในทุกอุปสรรค รวมถึงที่นำเธอกับลูก ๆ พบกับสิ่งที่มุ่งหวังตั้งใจนั้นได้อีกด้วย
แก้วไม่เคยเกษียณจากการงาน เมื่อลูก ๆ จบการต่างประเทศทั้งสองคน แก้วก็เหมือนจะบรรลุเป้าหมายในชีวิตทุกสิ่งทุกอย่างนั้นแล้ว ซึ่งแก้วควรจะได้พักผ่อน และให้ลูก ๆ ดูแลเธอเองต่อไป แต่นั่นก็ไม่ใช่นิสัยของแก้ว เธอยังทำงานทั้งที่เป็นธุรกิจให้พอมีรายได้โดยไม่ต้องไปพึ่งพิงคนอื่น รวมทั้งงานที่เป็นสาธารณกุศลเหมือนเมื่อครั้งที่เธอยังเป็นพยาบาล ซึ่งเป็นงานที่นำ “ความสุข” มาให้เธอ และเธอก็ปวารณาว่าจะอุทิศตนให้กับคนอื่น ๆ จนกว่าจะทำอะไรให้กับใคร ๆ ไม่ได้
แก้วไม่ได้เชื่อในเรื่องโชควาสนาอะไรมากนัก เพราะแก้วพบว่าทุกอย่างที่แก้วได้มาเป็นเพราะความทุ่มเทและพยายามอย่างหนักเท่านั้น แต่เมื่อแก้วมามองย้อนไปในอดีตของชีวิต เธอก็เริ่มเปลี่ยนความเชื่อว่าคงจะเป็นเรื่องของสิ่งดี ๆ ที่เธอได้ทำมานั้น ที่ได้ทำให้เธอพบกับสิ่งดี ๆ หลาย ๆ อย่างในชีวิต
เธอเชื่อว่าจากการที่เธอไม่นำเรื่องขุ่นข้องหมองใจมาทำให้จิตใจตนเองเป็นทุกข์ ทำให้จิตใจเธอโล่งสว่าง ยิ่งเมื่อมองปัญหาและความทุกข์ต่าง ๆ ด้วยจิตใจที่เปิดโล่ง ด้วยจิตใจที่พยายามจะเปิดรับความทุกข์ยากของคนอื่น ๆ ก็ยิ่งทำให้หัวใจของเธอปลอดโปร่ง รับรู้ได้ถึงความรู้สึกต่าง ๆ ของผู้คนทั้งหลายได้เป็นอย่างดี จนทำให้เธอมองเห็นว่าความสุขและความทุกข์นั้นมีลักษณะเดียวกัน คือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับทุก ๆ คนอยู่ตลอดเวลา เพียงแต่เราจะมองเห็นด้านใดของมันเท่านั้น ถ้ามองเห็นด้านดีก็เป็นสุข แต่ถ้ามองเห็นด้านไม่ดีก็เป็นทุกข์
แก้วอาจจะแตกต่างกับหลาย ๆ คน ที่มองเห็นแต่ด้านที่ดี ที่เป็นเพราะเธออยากจะมองและเลือกที่จะมองแต่สิ่งดี ๆ เท่านั้น ดังนั้นคนที่เป็นทุกข์ก็เพราะมองไปพบแต่สิ่งที่ไม่ดี หรือพอพบกับสิ่งที่ไม่ดีนั้นก็ยอมรับเอาเข้ามาไว้กับตัว เหมือนกับจิตใจที่ขุ่นมัวย่อมจะชนประทะสิ่งที่พุ่งเข้ามาได้ง่าย ๆ แต่ถ้าจิตใจมีความสว่างใสแล้ว สิ่งใด ๆ ที่พุ่งเข้ามานั้นก็ย่อมผ่านพ้นอันตรธานหายไปได้เอง
ฉับพลันเธอนึกถึงคำสอนของหลวงปู่รูปหนึ่ง ที่เธอได้ไปกราบเมื่อนานมาแล้ว หลวงปู่บอกว่า “ดินน้ำลมไฟมันทุกข์ไหม มันก็เป็นดินน้ำลมไฟของมันมาแต่ไหนแต่ไรอย่างนั้น คนนั่นแหละรับเอาทุกข์เข้ามาเอง คนก็คือดินน้ำลมไฟประกอบกัน แล้วเราจะไปทุกข์ทำไม ก็เป็นดินน้ำลมไฟไปตามธรรมชาตินั่นแหละ”