วันที่ 2 มี.ค.2566 ที่ศาลาว่าการ กทม.เสาชิงช้า นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังเป็นประธานประชุมหัวหน้าหน่วยงานของ กทม.ครั้งที่ 3/2566 ว่า กรณีจ้างกรมราชทัณฑ์ขุดลอกท่อติดขัดเรื่องแรงงานและอุปกรณ์ไม่เพียงพอ รวมถึงความล่าช้าของระบบราชการ ทำให้เกิดความล่าช้า ประกอบกับกรมราชทัณฑ์ต้องวัดจำนวนปริมาณเลนที่ขุดลอกได้ตามระเบียบขั้นตอน ทั้งนี้ ไม่เกี่ยวกับเรื่องราคาว่าจ้างที่สูงเกินไป แต่กทม.มีแผนเร่งลอกท่อจำนวนมาก เพื่อเตรียมรับฤดูฝน หากถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ กทม.อาจต้องจ้างผู้รับเหมารายอื่นมาดำเนินการแทน ต้องขอบคุณกรมราชทัณฑ์ที่ช่วยสนับสนุนอย่างมีคุณภาพมาตลอด อย่างไรก็ตาม ได้มอบหมายให้สำนักการระบายน้ำเป็นผู้ดำเนินการ รวมถึงให้เขตต่างๆ ดูแลเรื่องการว่าจ้างลอกท่อในพื้นที่ของตน หากงบประมาณไม่พออาจต้องขอส่วนกลางเพิ่มเติมเพราะเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน ปัจจุบันทำการลอกท่อไปแล้วประมาณ 40% เชื่อว่าน่าจะทันฤดูฝนที่จะมาถึง

ด้านนายสุราษฎร์ เจริญชัยสกุล ผู้อำนวยการสำนักระบายน้ำ กล่าวว่า ปัจจุบันมี 24 เขต ที่พิจารณาสัญญาแล้วอยู่ระหว่างดำเนินการ อีก 17 เขต อยู่ระหว่างการพิจารณาสัญญา  อีก 4 เขต จ้างเอกชนดำเนินการ ส่วนที่เหลือยังไม่ได้รับรายงาน ทั้งนี้กทม.มีแผนลอกท่อระบายน้ำ ปีงบประมาณ 2566 แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นท่อระบายน้ำของสำนักการระบายน้ำ ดำเนินการแล้ว 947 กิโลเมตรจาก 2,050 กิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 32.3 แบ่งเป็นสำนักระบายน้ำ ดำเนินการลอกเอง 45 กิโลเมตร เสร็จแล้ว 76.5% และจ้างเอกชนหรือกรมราชทัณฑ์ดำเนินการ 902 กิโลเมตร เสร็จสิ้น30.1%  ขณะที่การลอกท่อในส่วนของสำนักงานเขตทั้งสิ้น ดำเนินการแล้ว 2,532 กิโลเมตร จาก 4,510 กิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 23.1 แบ่งเป็นส่วนที่สำนักงานเขต ดำเนินการลอกเอง 848 กิโลเมตร เสร็จแล้ว 53.1% และจ้างเอกชนหรือกรมราชทัณฑ์ดำเนินการ 1,684 กิโลเมตร เสร็จสิ้นเพียง 8% นอกจากนี้สำนักการระบายน้ำ มีแนวทางแก้ไขปัญหาจากน้ำเหนือน้ำหนุน โดยการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็ก (ค.ส.ล.)จำนวน 120 จุด และยังมีแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังจากน้ำฝน โดยการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 507 จุด แบ่งเป็นความรับผิดชอบของสำนักการระบายน้ำ 111 จุดและสำนักงานเขต 396 จุด ขณะเดียวกันยังมีแผนติดตั้งเครื่องสูบน้ำให้เสร็จก่อนฤดูฝนอีก 259 จุด