จากภาพการบุกจับแก๊งลอบค้าสัตว์ป่าในพื้นที่ อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี พบของกลางเป็นตัวเงินตัวทอง (ตัวเหี้ย) ที่ยังไม่ตายกว่า 30 ตัว และซากเหี้ย 59 ตัว โดยผู้ต้องหาที่ถูกจับสารภาพว่า ชำแหละส่งขายร้านอาหารป่า ที่รับซื้อกันราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 125 บาท

-"ตัวเงินตัวทอง"กินได้ไหม

เบื้องต้นมาทำความรู้จัก "ตัวเงินตัวทอง" หรือที่ชาวบ้านเรียก ว่า "เหี้ย" จริง ๆ แล้วมีเกือบ 80 ชนิด ทั้งหมดอยู่ในสกุล Varanus โดยตัวเงินตัวทองที่พบในไทยจะเป็นพันธุ์ V.s. macromaculatus ซึ่งเคยมีคนจัดชนิด ตามคำเรียกของไทยได้ 6 ชนิด คือ

1.เหี้ย (ตัวเงินตัวทอง) : ตัวสีดำ ลิ้นสีม่วงปลายแฉก มีลายดอกสีขาวหรือเหลืองเป็นแถวพาดขวางตัว หางเป็นปล้องสีดำสลับกับเหลืองอ่อน หนังหยาบเป็นเกล็ด ลำตัวมีขนาดใหญ่กว่าสัตว์อื่นในจำพวกเดียวกัน แต่เล็กกว่ามังกรโคโมโด

2. ตะกวด (แลน) : พื้นตัวเป็นสีเทาเหลืองหรือน้ำตาลเทา เกล็ดเป็นสีเหลืองหรือเป็นจุด ๆ เมื่อมองผ่าน ๆ จึงดูตัวเป็นสีเหลือง

3. มังกรดำ (เหี้ยดำ) : มีขนาดเล็กกว่าเหี้ยมาก มังกรดำ สีดำสนิทด้านทั้งตัว ไม่มีลายและจุดด่างเลย ท้องเทาเข้ม ลิ้นสีเทาม่วง มังกรดำเป็น Monitor ชนิดที่พบใหม่ มีรูปลักษณะคล้ายเหี้ย ลักษณะของเกล็ดผิดเพี้ยนกันเพียงเล็กน้อย

4.แลนดอน (ตะกวดเหลือง) : มีนิ้วเท้าที่สั้น และพื้นลำตัวสีเหลือง อีกทั้งมีพฤติกรรรมไม่ชอบอาศัยอยู่ใกล้แหล่งน้ำหรือที่ชื้นแฉะ โดยจะอยู่เฉพาะที่แห้งแล้งหรือพื้นทราย

5.เห่าช้าง : ตัวสีดำเข้ม มีขนาดเล็กกว่าพวกเหี้ย หรือตะกวด มีลายเลือนๆ ขวางลำตัว ปากแหลมและเกล็ดบนสั้น เกล็ดบนคอใหญ่เป็นแหลม ๆ คล้ายหนามทุเรียน

6.ตุ๊ดตู่ : ตุ๊ดตู่เป็นสัตว์ที่เล็กที่สุดในกลุ่มสัตว์จำพวกเหี้ย-ตะกวดที่พบได้ใน ประเทศไทย และเป็นสัตว์ไม่มีพิษ มีลายแถบสีครีมขวั้นตามตัว ตัวมีสีน้ำตาลแดงไปจนถึงตล้ำ

ทั้งนี้ ที่คนนิยมกินกันนั้น คือ "ตะกวด หรือ ตัวแลน" เท่านั้น  ส่วน "ตัวเงินตัวทอง" จะไม่นิยมนำมากินกัน เพราะตัวเงินตัวทองมีเนื้อที่คาวมาก และมีพยาธิเยอะ เสี่ยงอันตรายต่อร่างกาย มีสิทธิ์ติดโรคพยาธิ แต่ก็ยังพบว่ามีผู้ที่ชื่นชอบ "เปิบพิสดาร" นิยมรับประทานกัน โดยอวดอ้างว่า "รสชาติเนื้อจะนุ่มกว่าตัวตะกวด ซึ่งเป็นสัตว์ป่าในตระกูลเดียวกัน อีกทั้งยังมีรสชาติเหมือนเนื้อไก่อีกด้วย"