นักโภชนาการ ชี้หลังผ่านพ้นสถานการณ์โควิด และ สภาวะโลกร้อน ประชาชนหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ทำให้แนวโน้มนวัตกรรมอาหารสุขภาพขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะอาหารฟังก์ชั่น อาหารทางการแพทย์ และ อาหารอินทรีย์ที่ปลอดสารเคมีตกค้าง
การอบรมหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตนวัตกรรมการจัดการสุขภาพยุคดิจิทัล หรือ HIDA รุ่นที่ 2 มุ่งเน้นการดูแลสุขภาพแบบศาสตร์องค์รวมแบบครบวงจร เพื่อให้ผู้เข้าอบรมนำความรู้ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อดูแลสุขภาพของตนเอง คนในครอบครัวให้ห่างไกลโรค และ มีสุขภาพที่แข็งแรง
ในช่วงบรรยายวิชาการให้ความสำคัญเรื่อง Future Food Trend แนวทางการพัฒนานวัตกรรมอาหารสุขภาพ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด็อกเตอร์สถาพร งามอุโฆษ ภาควิชาโภชนาการและการกำหนดอาหาร คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สุขภาพที่ดีขึ้นอยู่กับโภชนาการเป็นสำคัญ โดย Future Food คือ อาหารแห่งอนาคต เนื่องจาก การเกิดวิกฤตโควิดในช่วงสองปีที่ผ่านมา ภาวะสงครามรัสเซียยูเครน สภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลง สภาวะโลกร้อน ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตทำให้ประชาชนหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบการได้คำนึงถึงแนวทางการดำเนินธุรกิจ มีการแข่งขันสูง และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทำให้อาหารแห่งอนาคตกับโอกาสการเติบโตมีมากขึ้น โดยมีปัจจัยมาจาก การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากขึ้น การเป็นสังคมเมืองที่เพิ่มขึ้น การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การเพิ่มขึ้นของกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดัน ไขมัน หัวใจ และ โรคอ้วน หรือ น้ำหนักเกินมาตรฐาน
แนวโน้มความต้องการของธุรกิจอาหารของโลกและโอกาสการเติบโตของอุตสาหกรรมอาหาร เน้นเรื่อง ความปลอดภัย ส่งผลดีต่อสุขภาพร่างกาย ความยั่งยืนทางอาหาร เทคโนโลยีทันสมัยในการแปรรูปอาหาร อาหารพรี่เมี่ยมปลอดสารเคมีตกค้าง การขนส่งและการให้บริการอาหาร และ สารที่ใช้ในอาหารที่มาจากธรรมชาติ กลุ่มเป้าหมายคือ กลุ่มคนที่นิยมอาหารแห่งอนาคต เป็นผู้บริโภค 3 กลุ่ม คือ ผู้รักสุขภาพ ผู้ต้องที่มีรูปร่างที่ดี และ ผู้สูงอายุ ซึ่งผู้บริโภคแต่ละกลุ่มมีลักษณะและความต้องการโดยคำนึงถึงสุขภาพที่แตกต่างกัน
โดยกลุ่มผู้รักสุขภาพ ต้องการอาหารที่มาจากธรรมชาติ อาหารที่ตอบโจทย์ เช่น อาหารที่บำรุงสมองช่วยเพิ่มความจำ อาหารออร์แกรนิคลดการสะสมของสารเคมี กลุ่มลดน้ำหนัก ต้องการบริโภคอาหารที่มีคุณภาพสูง ความหลากหลายของอาหารโปรตีน และ กลุ่มผู้สูงอายุต้องการบริโภคอาหารทางการแพทย์ อาหารที่เสริมความแข็งแรงให้ร่างกายช่วยบำรุงกระดูกและข้อ อาหารเฉพาะกลุ่มโปรตีนสูง
มูลค่าตลาดอาหารแห่งอนาคตในไทยปี 2564 อาหารฟังก์ชั่น มีมูลค่า 64,000 ล้านบาท และ อาหารทางการแพทย์ มีมูลค่า 2,850 ล้านบาท อาหารอินทรีย์มีมูลค่า 3,000 ล้านบาท ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตลาดผู้บริโภคกลุ่มแม่และเด็ก รวมถึง กลุ่มผู้สูงอายุให้ความสำคัญอาหารอินทรีย์ หรือ อาหารออร์แกร์นิค เนื่องจาก ใช้ธรรมชาติในการดูแล ลดสารเคมีตกค้าง ธัญพืชที่ปลูกบนดินไม่มีสารเคมีปลอดสารพิษ
นอกจากนี้ กลุ่มผู้สูงอายุ ให้ความนิยมอาหารนวัตกรรมใหม่ ( Novel Food ) คือ อาหารที่ไม่เคยนำมาบริโภค หรือ บริโภคน้อยกว่า 15 ปี หรือ อาหารที่ใช้นวัตกรรมแปลกใหม่มาทำเป็นโปรตีนทางเลือก หรือ Plant – Based เช่น เนื้อที่เพาะในห้องปฏิบัติการ การใช้เทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต การใช้โปรตีนจากแมลงนำมาทำเป็นขนม เพื่อเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคและทำให้ร่างกายดูดซึมสารอาหารจากโปรตีนทางเลือกได้ดี ไขมันต่ำ ไม่มีคลอเลสเตอรอล ส่งผลให้ในปี 2565 มูลค่าการเติบโตโปรตีนทางเลือกที่มาจากนวัตกรรมอาหารใหม่มีมูลค่าประมาณ 4,100 ล้านบาท หรือ ขยายตัว 5.1% มีโอกาสทางการตลาด 4 กลุ่มและได้รับความนิยมจากผู้บริโภค เช่น เนื้อสัตว์จากพืช นมจากพืช อาหารจากพืช และไข่จากพืช เช่น โปรตีนจากถั่วเขียวนำมาทำเป็นไข่เจียวเพื่อทำให้เนื้อสัมผัสคล้ายกับไข่เจียวทำให้บริโภคง่ายขึ้น
อาหารทางเลือกใหม่ ใช้น้ำมันในแมลงมาเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ มีไขมันอิ่มตัวลดลง มีสารอาหารสูงทั้ง โปรตีน ไขมัน และ วิตามิน ใช้เทคโนโลยีและการลงทุนต่ำในการผลิต รวมถึง อาหารฟังก์ชัน เป็นตลาดใหญ่ คือ อาหารปกติที่มีการใส่คุณประโยชน์ทางโภชนการเฉพาะเข้าไปเน้นส่งเสริมสุขภาพในด้านต่างๆ และ ตัดลดสารอาหารที่ให้ประโยชน์น้อยออกไป
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด็อกเตอร์สถาพร กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารทางเลือกเน้นตอบโจทย์ผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ลดการบริโภคข้าว แป้งและเปลี่ยนมาบริโภคโปรตีนมากขึ้น ลดการบริโภคเกลือ รวมถึง คนไทยบริโภคผักผลไม้ไม่เพียงพอ อย่างน้อยต้องทานผักผลไม้เฉลี่ยให้ได้ 400 กรัมต่อวันจะสามารถลดการเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งลำไส้ได้ จึงเป็นปัจจัยหลักทำให้ผู้ประกอบการได้คิดค้นนวัตกรรมอาหารที่ให้พลังงานมากขึ้น เช่น เส้นโปรตีนที่ทำจากไข่ขาว 100% เบคอนที่ทำจากโปรตีนทางเลือก รวมถึง อาหารทางการแพทย์ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยา หรือ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารใช้เป็นโภชนการบำบัดสำหรับผู้ป่วยเฉพาะโรค ผู้ที่ไม่สามารถกินอาหารปกติได้อย่างเพียงพอ หรือร่างกายอยู่ในภาวะที่ต้องการสารอาหารบางอย่างมาก หรือ น้อยเป็นพิเศษโดยที่ไม่สามารถบริโภคจากอาหารทั่วไปได้
ทั้งนี้ ร่างกายของคนเราต้องให้ความสำคัญกับการบริโภคโปรตีน 1 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวันสำหรับคนทั่วไป หากผู้ที่ออกกำลังกายชนิดใช้กำลัง ควรบริโภคโปรตีนวันละ 1.6-1.7 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ขณะที่ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่ต้องล้างไต ผู้ป่วยมะเร็ง ควรบริโภคโปรตีนในปริมาณที่มาก เช่น คนป่วยที่ต้องล้างไต ควรกินโปรตีนจากไข่ขาว 6 ฟอง หรือ 9 ฟองต่อวัน เนื่องจาก บทบาทและหน้าที่ของโปรตีนในร่างกาย เพื่อสร้างภูมิต้านทาน เป็นโครงสร้างของร่างกายเพื่อสร้างกล้ามเนื้อ เนื้อเยื่อ ผนังเซลล์ ขนส่งสารต่างๆในเลือด และ ควบคุมความดันออสโมติค แหล่งพลังงานยามจำเป็นเมื่อร่างกายขาดอาหาร
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด็อกเตอร์สถาพร กล่าวย้ำว่า คนทั่วไปไม่ควรบริโภคโปรตีนมากกว่าร้อยละ 30 ของพลังงานทั้งหมดที่ได้รับต่อวัน หากทานโปรตีนมากเกินไป จะถูกเปลี่ยนเป็นคาร์โบไฮเดรตและไขมัน พลังงานสำรองทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ตับและไตทำงานหนัก และเสี่ยงเป็นโรคกระดูกพรุนเนื่องจากมีการขับแคลเซียมออกทางปัสสาวะเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับ องค์การอนามัยโลก แนะนำว่า ไม่ควรบริโภคโปรตีนเกิน 2 เท่าของปริมาณที่แนะนำให้บริโภคต่อวัน ดังนั้น ต้องมีการคำนวณการบริโภคโปรตีนให้เหมาะสมกับร่างกาย
ก่อนเริ่มช่วงบรรยายวิชาการ ทางหลักสูตร HIDA รุ่น 2 ได้จัดให้มีช่วง “HIDA EXECUTIVE TALK”ด็อกเตอร์สมศักดิ์ ชลาชล นายกสมาคมวิชาชีพช่างผมไทย เล่าประสบการณ์ในหัวข้อ “ให้ผมพลิกชีวิตคุณ” ว่า ที่ในยุคดั้งเดิมวิชาชีพช่างทำผมไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมไทย จุดเปลี่ยนเมื่อได้มีโอกาสไปแข่งทำผมที่ลาสเวกัส ทำให้มองเห็นโอกาสช่างทำผมไทยมีโอกาสเติบโตได้มากขึ้น ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจทำให้กลับมาพัฒนาวงการช่างผมไทย โดยหลักการดำเนินธุรกิจช่างทำผมที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนต้องมีการสร้างมาตรฐานประกอบด้วย องค์ความรู้ ทัศนคติ การบริหาร และการบริการ โดยมีเป้าหมายพัฒนาวงการช่างทำผมไทยให้มีความก้าวหน้าและเติบโตเป็นที่ยอมรับในวงการช่างทำผมเวทีโลก
และในช่วงวิกฤตโควิดที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ทำให้มีประชาชนตกงานจำนวนมาก จึงได้ร่วมมือกับหลายหน่วยงาน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมอาชีวะ วิทยาลัยสารพัดช่าง และ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน สร้างงานสร้างอาชีพให้กับคนที่ตกงาน และคนรุ่นใหม่ ด้วยการทำโครงการ “ให้ผมพลิกชีวิตคุณ” ทั้งแบบออนไซค์และ ออนไลน์ นอกจากนี้ ได้ทำโครงการสร้างงานสร้างอาชีพให้กับกลุ่มคนที่เคยหลงผิดได้มีอาชีพช่างทำผมเพื่อสร้างรายได้เลี้ยงชีพ รวมถึง เร่งผลักดันสภาวิชาชีพช่างทำผมไทย ให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็ว