วันที่ 28 ก.พ.66 รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวช มศว. โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก หมอหมู วีระศักดิ์ ระบุว่า...

อันตราย! เด็กทารกตกจากอ้อมแขนของคนอุ้ม

ได้มีการศึกษาการบาดเจ็บในเด็กอายุน้อยกว่า 6 ปี ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในสหราชอาณาจักร จำนวน 1775 ราย

พบว่าเด็กทารกที่ตกจากอ้อมแขนของคนอุ้ม (เด็ก 233 คน (อายุเฉลี่ย 1 ปี)) จะมีการแตกของกะโหลกและเลือดออกในสมอง ประมาณ 10.6% ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูง ดังนั้นผู้ที่ดูแลเด็กจำเป็นต้องมีความระมัดระวังอย่างยิ่งในการอุ้ม และหากเกิดเหตุเด็กตกจากการอุ้ม ต้องรีบนำส่ง รพ. เพื่อทำการตรวจอย่างละเอียดเพื่อทำการรักษาทุกรายนะครับ

แม้ว่ากระดูกของเด็กจะยืดหยุ่นและมีรูพรุนมากกว่ากระดูกของผู้ใหญ่ และต้องใช้พลังงานมากขึ้นกับกระดูกที่อายุน้อยเพื่อทำให้กระดูกหัก แต่อย่างไรก็ตามการตกจากอ้อมแขนของคนอุ้ม ก็อาจทำให้กระดูกหักในเด็กทารกได้ เช่นเดียวกับการตกจากที่สูง โดยปัจจัยที่อาจส่งผลต่อความน่าจะเป็นของการแตกหัก คือ

• ความสูงของการตก: แม้แต่การตกจากอ้อมแขนของผู้อุ้มก็มีโอกาสทำให้กะโหลกแตกและสมองบาดเจ็บ (โดยเฉลี่ยสูง 60-90 ซม.)

• พื้นผิวที่เด็กตกลงไป

• ส่วนของร่างกายที่ได้รับผลกระทบ

หากศีรษะของเด็กทารกเป็นจุดแรกของการกระแทก ก็มีโอกาสทำให้กะโหลกแตกได้ รวมถึงการตกจากอ้อมแขนของผู้อุ้มลงไปบนวัตถุหรือพื้นผิวที่มีขอบก็อาจส่งผลให้กะโหลกศีรษะแตกในเด็กทารกได้เช่นกัน

อ้างอิงข้อมูลจาก:

1) Burrows P, Trefan L, Houston R, et alHead injury from falls in children younger than 6 years of ageArchives of Disease in Childhood 2015;100:1032-1037.

2) https://www.contemporarypediatrics.com/.../fractures...