เทคโนโลยีแม้จะเป็นเรื่องดีทำให้สะดวกในการใช้ชีวิต แต่ก็แฝงไปด้วยภัยหากผู้ใช้ไม่รู้เท่าทัน กรุงเทพมหานคร จึงได้ผุดไอเดียอาสาสมัครพัฒนาชุมชนด้านเทคโนโลยี หรือ อสท.เพื่อช่วยในการจัดทำระบบฐานข้อมูลชุมชน ช่วยให้คนในชุมชนเข้าถึงสิทธิประโยชน์และสวัสดิการของภาครัฐรวมถึงสวัสดิการจากระบบออนไลน์ต่างๆ ช่วยให้คนในชุมชนมีทักษะการขายทางช่องทางออนไลน์ และ ช่วยให้คนในชุมชนรู้เท่าทัน

นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า การมีอาสาสมัครพัฒนาชุมชนด้านเทคโนโลยี (อสท.) คือการเติมส่วนที่ขาดเรื่องเทคโนโลยีดิจิทัลให้ชุมชน และถ้ามีโอกาสจากภาคเอกชนหรือภาคส่วนต่าง ๆ จะทำให้ชุมชนมีโอกาสเพิ่มมากขึ้น อาสาสมัครด้านเทคโนโลยีเป็นการนำอำนาจหรือสิ่งที่เป็นของชุมชนอยู่แล้วกลับมาสู่ชุมชน ทำให้เทคโนโลยีเป็นเรื่องใกล้ตัว ปัจจุบันมีเรื่องเศรษฐกิจออนไลน์ที่หากใครเข้าถึงเทคโนโลยีก็ได้ประโยชน์แต่คนที่ไม่มีความรู้ก็เสียประโยชน์ ซึ่งถ้ารวมทั้งชุมชนให้มีความรู้และเข้มแข็งเรื่องเทคโนโลยีก็จะได้เป็นประโยชน์มากขึ้น

ขณะนี้มีแพลตฟอร์ม 2-3 แห่ง ที่พร้อมจะนำเสนอและโฆษณาผลิตภัณฑ์ของชุมชนให้ ก็จะช่วยให้ผลิตภัณฑ์ที่ดีมีคุณภาพสามารถเข้าสู่ตลาดได้ง่ายขึ้น บางครั้งพอพูดถึงเรื่องของชุมชนอาจไม่น่าสนใจ แต่จริง ๆ มีหลายอย่างที่น่าสนใจ อัตลักษณ์ของชุมชนสามารถพูดได้ อย่างเขตลาดกระบังมีตลาดหัวตะเข้ เขตราชเทวีมีชุมชนบ้านครัว ที่คุ้นเคยในเรื่องราวของ จิม ทอมป์สัน

เรื่องแรกที่ อสท. ต้องทำก่อนคือ “เรื่องข้อมูล” คนที่เป็นเจ้าของข้อมูลก็คือชุมชน หน่วยงานต่างๆ ของกทม.มีข้อมูลชุมชนอยู่แล้วแต่อาจจะกระจายกันอยู่ เช่น สำนักอนามัย สำนักพัฒนาสังคม สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง เป็นต้น การนำข้อมูลมารวมไว้ในส่วนกลางเป็นการอัพเดทข้อมูลด้วย เช่น ผังเมืองเป็นอย่างไร ผู้ป่วยติดเตียง กลุ่มเปราะบาง คนพิการกี่คน เป็นต้น นอกจากเรื่องข้อมูลชุมชนแล้ว อสท. ก็จะทำในเรื่องสวัสดิการ คุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ และ Digital Literacy ซึ่งกรุงเทพมหานคร โดย สำนักงานเขต และหน่วยงานต่าง ๆ จะร่วมมือเต็มที่ ปัญหาในพื้นที่กรุงเทพฯ ส่วนใหญ่เป็นปัญหาซ้ำหรือคล้ายกัน เชื่อว่าหากมี 1 ชุมชนทำได้ดีแล้วจะสามารถขยายไปในชุมชนต่าง ๆ ที่มีอยู่มากกว่า 2,100 ชุมชนได้เร็วขึ้น

นอกจากการจัดสรรบุคลากรในการดำเนินงานช่วยแก้ไขปัญหาให้ชุมชนแล้ว กรุงเทพมหานครได้มีการจัดสรรงบประมาณซึ่งเป็นอีกกลไกในการแก้ไขปัญหาให้กับชุมชนด้วย ซึ่งจัดสรรให้ชุมชนละ 200,000 บาท สามารถดำเนินการได้ในเดือนหน้า (มี.ค. 66) โดยในการใช้งบประมาณดังกล่าวแต่ละชุมชนจะมีคณะกรรมการพิจารณาและกลั่นกรองในเรื่องที่เสนอขอใช้งบประมาณก่อน เพื่อให้สามารถใช้งบประมาณในการดำเนินกิจกรรมหรือแก้ไขปัญหาได้ตรงกับความต้องการของชุมชนมากที่สุด เบื้องต้นจะจัดสรรให้กับชุมชนที่มีการจดทะเบียนถูกต้องก่อน

ส่วนชุมชนที่ยังไม่ได้จดทะเบียนอาจด้วยไม่เข้าเงื่อนไขบางอย่าง กทม.จะหารือแนวทางดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ ในความเป็นจริงไม่ว่าจะเป็นชุมชนจดทะเบียนหรือไม่จดทะเบียนถ้ามีปัญหากรุงเทพมหานครก็ต้องดูแลและให้ความช่วยเหลือ ที่ผ่านมามีการแก้ไขข้อบัญญัติในบางข้อเพื่อให้สามารถดูแลช่วยเหลือประชาชนได้มากขึ้น ในอนาคตจะพิจารณาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนชุมชนตามขนาด เช่น ชุมชนขนาดใหญ่ ชุมชนขนาดกลาง ชุมชนขนาดเล็ก ชุมชนไม่จดทะเบียน ชุมชนเล็กพิเศษ เพื่อให้มีแต่ละชุมชนได้รับงบประมาณที่เหมาะสมกับชุมชน ซึ่งจะต้องหารือในรายละเอียดเพิ่มเติมต่อไป

นายศานนท์ กล่าวอีกว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักพัฒนาสังคมจัดทำโครงการจ้างอาสาสมัครพัฒนาชุมชน (ด้านเทคโนโลยี) เพื่อให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยี และได้ผ่านการคัดเลือก ชุมชนละ 1 คน ทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ ทักษะ ส่งเสริมและสนับสนุนให้กลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางสังคม และประชาชนทั่วไปในพื้นที่ได้มีความรู้เท่าทันเทคโนโลยี สามารถเข้าถึงสิทธิสวัสดิการต่าง ๆ พัฒนาช่องทางการเข้าถึงการเผยแพร่ผลิตภัณฑ์ในพื้นที่สู่ตลาดออนไลน์ ตลอดจนการจัดทำข้อมูลแผนที่ และแผนผังชุมชนให้เป็นปัจจุบัน

ขณะนี้กรุงเทพมหานคร ได้ประกาศแต่งตั้งเป็นอาสาสมัครพัฒนาชุมชน (ด้านเทคโนโลยี) แล้วจำนวน 494 คน และมีการจัดฝึกอบรมให้ความรู้ก่อนการปฏิบัติงานจริง ซึ่งเมื่อเสร็จสิ้นการฝึกอบรมก็สะสามารถส่งลงไปในชุมชนเพื่อท่ายทอดความรู้ด้านเทคโนโลยี ให้คนในชุมชนได้รู้เท่าทันเทคโนโลยี และสามารถนำไปปรับใชในการดำรงชีวิต หรือประกอบอาชีพ