นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า คลองเปรมประชากรเป็นคลองระบายน้ำหลักของกทม.เชื่อมโยงถึงเขตหลักสี่ เขตจตุจักร ไหลลงคลองบางซื่อก่อนออกแม่น้ำเจ้าพระยา ปัญหาหลักคือ ผู้รุกล้ำริมคลองจำนวนมาก ทำให้ไม่สามารถสร้างเขื่อนริมคลองได้ ถึงแม้จะมีผู้รับเหมาแล้วก็ตาม เมื่อสร้างเขื่อนไม่ได้ ส่งผลให้ขุดลอกคลองไม่ได้ คลองเปรมประชากรหลายจุดจึงตื้นเขิน เพราะการขุดลอกอาจทำบ้านทรุด เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ต้องเจรจากับประชาชน ปัญหาอีกส่วนคือ แต่ละหน่วยงานมีความเร่งด่วนไม่เหมือนกัน เช่น กทม.มีความเร่งด่วนเรื่องการระบายน้ำ ส่วนหน่วยงานที่ดูแลเรื่องที่อยู่อาศัยมีความเร่งด่วนเรื่องการหาที่อยู่อาศัยใหม่ให้ผู้รุกล้ำ สิ่งสำคัญคือการร่วมมือกันให้โครงการเดินหน้า ซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างกังวล

 

นายเฉลิมพล โชตินุชิต รองปลัดกทม. เปิดเผยว่า ผู้อำนวยการเขตคือพนักงานเจ้าหน้าที่ในการกำกับดูแลเรื่องนี้สามารถใช้อำนาจตามคำสั่งคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 44 หรือ ปว.44 ประกอบกับ พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 รวมถึง พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ซึ่งครั้งล่าสุดที่คลองลาดพร้าวรัฐบาลสนับสนุนทหารเข้ามาช่วยในการดำเนินการ แต่โดยปกติแล้ว ผอ.เขตมีอำนาจดำเนินการทางกฎหมาย สิ่งสำคัญคือ การออกคำสั่งและการบังคับใช้ โดยหลักการ ผอ.เขตจะออกคำสั่งไว้แล้วแจ้งความเป็นรายคดีกับผู้รุกล้ำที่ไม่ยอมย้ายออก เนื่องจากไม่กล้ารื้อถอนทันที เพราะที่ผ่านมาหลายคดีมีการฟ้องกลับ ทางออกของ กทม.คือ ออกคำสั่งตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร และปว.44 รวมถึงการแจ้งความหากมีการฝ่าฝืน ซึ่งมีโทษทางอาญา โดยปัญหาบ้านรุกล้ำริมคลองมีตั้งแต่คลองลาดพร้าว คลองแสนแสบ คลองเปรมประชากร ทำให้ขุดลอกคลองได้เพียงบางส่วน ไม่สามารถทำได้เต็มประสิทธิภาพ ทำให้ผู้รับเหมาต้องทิ้งงาน อย่างไรก็ตาม แม้ ผอ.เขตจะมีอำนาจทางกฎหมาย แต่ประชาชนก็มีสิทธิ์ฟ้องร้องเพื่อขอความเป็นธรรมได้ จึงมีหลายเรื่องที่ต้องให้ศาลเป็นผู้พิจารณา ส่วนใหญ่แล้ว กทม.จะชนะคดีความ แต่ผู้รุกล้ำไม่ยอมย้ายออก จึงต้องเจรจากันต่อไป