วันที่ 27 ก.พ.2566 ที่ศาลาว่าการกทม.เสาชิงช้า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม.เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 6/2566 ว่า ศูนย์ปฏิบัติการติดตามการต่อต้านการทุจริตของกรุงเทพมหานคร ได้รายงานผลดำเนินการตั้งแต่ปี 2564-2566 มีจำนวน 390 เรื่อง และนับตั้งแต่วันเปิดศูนย์ฯ อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 2 ถึง 27 ก.พ.2566 มีการร้องเรียนผ่านทราฟฟี่ฟองดูร์ 11 เรื่อง ร้องผ่านผู้บริหาร 6 เรื่อง โดยส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)พิจารณาแล้ว  1 เรื่อง เกี่ยวกับแรงงานต่างด้าว และวันที่28 ก.พ.จะส่งป.ป.ช.อีก 1 เรื่อง เป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อภาพรวม และได้ข้อยุติซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจผิดเกี่ยวกับเทศกิจ 2 เรื่องส่วอีก10 กว่าเรื่องคณะทำงานทั้ง 3 คณะได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูล

 

นายชัชชาติ กล่าวว่า เรื่องการทุจริตได้มีนโยบายให้ทำโปร่งใส ยุติธรรมและสื่อสารคนในองค์กรทราบว่าเราทำจริงจัง จริงๆไม่อยากจับคนของเราหรอก  แต่อยากให้ทุกอย่างโปร่งใส เป็นมาตรการกระตุ้นเตือนอย่าทำผิด นอกจากนี้ต้องเน้นสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจจุดที่แจ้งเหตุมีที่ไหนบ้าง ท้ายสุดพลังสุดท้ายให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมสร้างกรุงเทพฯให้โปร่งใส  ซึ่งทำสำเร็วแล้วจากการร้องเรียนผ่านทราฟฟี่ฟองดูร์ ซึ่งมีคนแจ้งเรื่องประมาณ 2.4 แสนเรื่องแก้ไขแล้ว 1.7 แสนเรื่อง 

 

นายเฉลิมพล โชตินุชิต รองปลัดกทม. กล่าวถึงกรณีการทุจริตเรียกรับผลประโยชน์แลกกับตำแหน่งพนักงานขับรถเก็บขนขยะ เขตลาดพร้าวว่า นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกทม.ได้นำตัวเข้ามาช่วยราชการที่ส่วนกลาง และตั้งคณะกรรมการสอบทางวินัย ส่วนเรื่องอาญา ทางศูนย์ปฏิบัติการติดตามการต่อต้านการทุจริตของกรุงเทพมหานคร จะเดินหน้าต่อสำหรับภาพรวมเรื่องอื่นๆจะเสนอความเห็นของคณะกรรมการฯแต่ละชุดเข้าสู่คณะกรรมการต่อต้านการทุจริต ชุดใหญ่มีผู้ว่าฯกทม.เป็นประธาน ในการประชุมวันที่  2 มีค.นี้