ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2566 พบคอหวยจากหลากหลายพื้นที่ได้เดินทางมาไหว้-ขอพรพระครูนันทธีราจารย์ หรือ  หลวงพ่อเหลือ นันทสาโร วัดสาวชะโงก  ต.สาวชะโงก อ.บางคล้า จ.  ฉะเชิงเทรา  วัดดังของแปดริ้ว  ตั้งติดริมแม่น้ำบางปะกง  ซึ่งเชื่อว่ามาไหว้ขอพรหลวงพ่อเหลือแล้วจะเหลือกิน เหลือใช้  โดยเฉพาะการให้โชคลาภประสบความสำเร็จ  

สำหรับ หลวงพ่อเหลือ เป็นพระเกจิที่มีคุณวิเศษในหลายด้านในอดีต มักได้รับนิมนต์เข้าร่วมพิธีปลุกเสกใหญ่เสมอ นอกจากนี้ เมื่อครั้งสงครามอินโดจีน ก็เป็น 1 ในพระเกจิที่สร้างผ้ายันต์แดง แจกทหารในสงคราม แต่ที่โดดเด่นเป็นที่กล่าวถึงคือ ปลัดขิก ซึ่ง “ปลัดขิก” หลวงพ่อเหลือ วัดสาวชะโงก อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา เป็นที่แสวงหาของบรรดานักนิยมสะสมเครื่องรางของขลัง   

โดย ประวัติ  หลวงพ่อเหลือ นันทสาโร มีนามเดิม เหลือ รุ่งสะอาด เป็นชาวฉะเชิงเทราโดยกำเนิด เกิดเมื่อวันที่ 9 ก.ค.2405 ที่ ต.บางเล่า อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา บิดา-มารดา ชื่อ นายรุ่ง-นางเพชร รุ่งสะอาด ในช่วงวัยเยาว์เป็นคนขยันขันแข็ง ช่วยงานบิดามารดาและญาติพี่น้องจนเป็นที่รักใคร่ของทุกคน เมื่อถึงวัยอันควรในปีพ.ศ.2428 เข้าพิธีอุปสมบท ที่พัทธสีมาวัดสาวชะโงก อ.บางคล้า โดยมี พระอาจารย์คง วัดใหม่บางคล้า เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอธิการขิก วัดสาวชะโงก เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระอาจารย์โต วัดสาวชะโงก เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายา นันทสาโร

พระภิกษุเหลือได้ศึกษาอักษรขอม-บาลี และวิปัสสนากัมมัฏฐาน จากพระอธิการขิก พระกรรมวาจาจารย์ ผู้มีวิทยาคมเข้มขลังจนแตกฉาน จากนั้นเดินทางไปฝากตัวเป็นศิษย์กับพระเกจิผู้ทรงคุณอีกหลายสำนัก อาทิ หลวงพ่อดำ วัดกุฎี จ.ปราจีนบุรี และหลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว จ.กาญจนบุรี เป็นต้น

หลังจากการไหว้พระ  ขอพรหลวงพ่อเหลือ แล้ว   สิ่งหนึ่งที่พบ คือ มีแผงหวยโดยเฉพาะใกล้วันหวยออกนี้  มีมาจำหน่ายถึงที่ 3-4 แผง   และ  ที่ริมเขื่อนกันตลิ่ง  ริมแม่น้ำบางปะกงหน้าวัด มีชาวบ้านนำสินค้าพื้นบ้านวางยาวเรียงราย เป็นตลาดนัดริมน้ำแบบชาวบ้าน  มีให้เลือกชิม – ซื้อหา   ทั้งอาหาร เครื่องดื่ม   พืชผัก  ผลไม้  จากในสวนมาจำหน่ายบริการแก่นักท่องเที่ยว พากันขายดิบขายดี  อันเป็นได้ทั้งที่กิน ที่เที่ยว พักผ่อนไปในตัว พร้อมสร้างเศรษฐกิจในท้องถิ่น อีกด้วย  

ผู้สื่อข่าว พบป้าเล็ก  ชาวบ้านละแวกใกล้วัด   นำเมี่ยงคำใส่รถเข็น พร้อมเครื่องเคียงมาจำหน่ายให้เป็นของว่างขบเคี้ยวของนักท่องเที่ยว  โดยขายทั้งแบบเป็นไม้เสียบ ใน 1 ไม้มีเมี่ยง 3 คำ ในราคาไม้ละ 10 บาท  ส่วนอีกแบบใส่ถุงขายเป็นชุดราคาชุดละ 40 บาท  พบว่า แบบเสียบไม้ขายดีกว่า เพราะสะดวก สามารถรับประทานได้ทันทีไม้ต้องมาม้วน หรือหยิบเครื่องใส่ใบชะพลู

ป้าเล็กบอกว่า  ส่วนใหญ่นำวัตถุดิบจากสวนมาจำหน่ายเอง ส่วนใหญ่ที่มาขายมักเป็นช่วงในวันหยุด เสาร์ – อาทิตย์  หรือ วันนักขัตฤกษ์ ที่นักท่องเที่ยวมาไหว้ ขอพรหลวงพ่อเหลือกันมากกว่า  ส่วนในวันพุธป้าเล็กจะขายขนมครกไทยแทน  รายได้แต่ละวัน หักแล้วกำไรมากกว่า 200 -300 บาท / วัน  ขายมาได้นาน 4 -5 ปีแล้ว และในหน้าแล้งนี้พบว่า  ร้านเมี่ยงคำมีปัญหาบ้าง คือราคามะนาวที่ซื้อมาจากท้องตลาดราคาแพง  โดยราคาสูงถึงลูกละ 5 บาท /ลูก  แต่ตนเองยังจำหน่ายราคาเท่าเดิมตามปกติ  ส่งผลให้ผลกำไรที่ได้ลดลงบ้าง  แต่ยังคงอยู่เลี้ยงครอบครัวได้