วันที่ 24 ก.พ. 66 สืบเนื่องจากในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 23 ก.พ.ที่ผ่านมา สำนักนายกรัฐมนตรีได้ส่งพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย เพื่อให้รัฐสภาพิจารณา โดยที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า สภาฯ ยังไม่หมดสมัยประชุม จึงต้องนัดวันประชุมเพิ่มเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ภายใน 28 ก.พ. ซึ่งเป็นวันหมดสมัยประชุม
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดวันนี้ (24 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวได้สอบถาม นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ในฐานะวิปฝ่ายค้าน ซึ่งเผยว่า ประธานสภาฯ แจ้งในที่ประชุมว่าจะมีการหารือวิป 3 ฝ่าย เพื่อกำหนดวันประชุม แต่ยังไม่มีการนัดหมายแต่อย่างใด โดยเมื่อวาน ส.ส.ทั้งวิปรัฐบาลและวิปฝ่ายค้าน ได้หารือกันเองนอกรอบว่า ได้ข้อสรุปว่าพร้อมประชุมเพิ่มทั้งวันที่ 27 ก.พ. ช่วงเช้า หรือ 28 ก.พ. ช่วงบ่าย
ทั้งนี้ นายจุลพันธ์ ยังระบุว่า ประธานสภาฯ อาจนัดประชุมวิป 3 ฝ่ายดังกล่าวในวันที่ 28 ก.พ. แต่มีข้อบังคับว่าการประชุมสภาฯ ต้องนัดหมายล่วงหน้าก่อน 3 วัน ซึ่งหากประชุมนัดหมายกันเมื่อวาน ก็อาจออกระเบียบวาระนัดประชุมเพิ่มวันที่ 27 ก.พ. ได้ทัน แต่ในเมื่อไม่ได้นัด ก็จะเหลือเพียงวันที่ 28 ก.พ. เท่านั้นที่จะนัดประชุมเพิ่มได้
“สุญญากาศของการบังคับใช้กฎหมาย จะเป็นปัญหา เพราะตอนนี้อยู่ในสมัยประชุมของสภาฯ สภาฯ ต้องพิจารณาให้เสร็จ พรรคร่วมฝ่ายค้านยืนยันไม่เห็นด้วยกับการเลื่อนบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมาน-อุ้มหายฯ ฟังจากการอภิปรายในสภา ก็เห็นว่า ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลหลายคนก็ไม่เห็นด้วยเช่นกัน เริ่มมีการล่ารายชื่ออยู่” นายจุลพันธ์ กล่าว
นายจุลพันธ์ ยังกล่าวว่า ปัญหาอีกประการคือ เท่าที่ทราบ ทาง ส.ว. จะได้อ่านพระราชโองการปิดสมัยประชุมของวุฒิสภาไปแล้วในวันที่ 28 ก.พ. โดยหากสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา พ.ร.ก.แล้วเสร็จ ก็จะต้องเข้าวุฒิสภา แต่ถ้าวุฒิสภาปิดสมัยประชุมไปแล้ว ก็จำเป็นต้องเปิดประชุมสมัยวิสามัญ โดยหากทั้ง 2 สภาไม่เห็นชอบกับ พ.ร.ก. ก็เป็นอันตกไป
“เรื่องพวกนี้นักการเมืองเราเห็นถึงปัญหาในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา ระหว่าง พ.ร.ก.บังคับใช้ ถ้าช่วงนี้มีเหตุใครโดนอุ้มไป หรือซ้อมทรมาน พวกเราก็ปัดความรับผิดชอบยาก เพราะเราไม่พิจารณาให้เสร็จ และปล่อยให้รัฐบาลประกาศให้งดเว้นการใช้กฎหมายได้ ตอนนี้ถึงมือเราก็จำเป็นต้องทำ”
ทั้งนี้ นายจุลพันธ์ ระบุว่า อีกช่องทางคือ ส.ส.สามารถรวมรายชื่อส่งประธานสภาฯ เพื่อเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย พ.ร.ก.ดังกล่าว ซึ่งประธานสภาฯ ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญภายใน 3 วัน หลังยื่นรายชื่อ แต่สมาชิกยังไม่ได้พิจารณาช่องทางนี้ และหากทั้ง 2 สภาฯ ไม่ได้พิจารณา พ.ร.ก.ดังกล่าว หรือพิจารณาไม่ทั ด้วยเหตุใดก็ตาม พ.ร.ก.ก็ยังคงมีผลบังคับใช้ต่อไป และต้องรอให้สภาฯ ชุดถัดไปเข้ามาพิจารณาหลังเลือกตั้ง