บทความพิเศษ / ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น)

การรื้อระบบบริการงานของรัฐด้วยการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้เริ่มมานานแล้ว ส่งผลให้การติดต่อราชการของประชาชนตามแบบเดิมกับแบบใหม่มีรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อโควิด-19 ระบาดในช่วง 2-3 ที่ผ่านมา มีการอนุญาตให้มีการทำงานที่บ้าน (Work From Home : WFH) เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ โดยมีการใช้นำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการรายงาน เป็นต้น โดยเฉพาะระบบการให้บริการของรัฐนั้น การใช้ระบบบริการประชาชนด้วยระบบบริการเบ็ดเสร็จจุดเดียว (One Stop Service) ที่ดำเนินการมานานแล้วมันตกสมัยไปแล้ว เพราะเป็นระบบที่ประชาชนผู้รับบริการต้องมารับบริการต่อหน้าเจ้าหน้าที่ (Face to face) จากรูปแบบออฟไลน์ หรือการเดินทางไปจัดการธุระด้วยตัวเอง ถือเอกสารไปติดต่อหน่วยงานราชการ ต้องรอเรียกคิวดำเนินการ หรือหากจะมีได้ก็เป็นบริการทางไปรษณีย์ในการตอบรับ ส่งเอกสารเท่านั้น และได้มีการใช้เอกสารอิเล็กทรอนิกส์ (e-Document) มากขึ้นทั้งในภาครัฐภาคเอกชน

จนกระทั่งได้มีการตรา “พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2565” หรือกฎหมายอิเล็กทรอนิกส์ออนไลน์ ซึ่งมีผลใช้บังคับทั้งฉบับในวันที่ 10 มกราคม 2566 นับเป็นระบบไร้เอกสารเป็นประการสำคัญ ที่ผ่านมาในปี 2565 มีข่าวส่วนราชการต่างๆ ได้ยกเครื่องระบบอิเล็กทรอนิกส์ เช่น กทม.มีการใช้แพลตฟอร์มบริหารจัดการปัญหา Traffy Fondue ให้ทุกหน่วยงานสังกัดเปิดเผยข้อมูลภายใน 30 วันตามนโยบาย Open Data เพื่อให้ประชาชนตรวจสอบความโปร่งใส, ครม.ไฟเขียวปรับปรุง พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกฯ เพื่อยกระดับบริการ เพิ่มขีดความสามารถประเทศ, กรมโยธาธิการยื่นขอใบอนุญาตก่อสร้างฯออนไลน์เริ่มตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2565, มีการปรับโฉมภาคบริการราชการไทยเพิ่มรูปแบบ e-Service ติดต่อออนไลน์ เพื่อความสะดวก รวดเร็ว กรมการปกครองประกาศใช้แอปพลิเคชัน D.DOPA ระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล หรือ “DOPA-Digital ID” (ใช้โทรศัพท์มือถือ) เป็น “ระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล” เพื่อรองรับการให้บริการประชาชนในระบบการทะเบียนราษฎร ประชาชนสามารถใช้ภาพถ่าย Digital ID แทน "บัตรประจำตัวประชาชน" ตัวจริงได้ในรูปแบบออนไลน์ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ข้อมูลเลขบัตรประชาชน ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ ภาพใบหน้า อีเมล และ ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์, มีระบบการต่อใบอนุญาตเดิมโดยทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น และที่สำคัญมากในระบบการร้องเรียนของประชาชนก็คือ ให้ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด และศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ มีหน้าที่รับคำร้องทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วย

หลักเกณฑ์การพิจารณาการกำหนดระบบอนุญาตในกฎเพื่อการค้าระหว่างประเทศ

ระบบการออกใบอนุญาตหรือการอนุญาตล่วงหน้า (preliminary license/permit) ความสอดคล้องกับระบบบริการอนุญาต ตามกติกาขององค์การการค้าโลก (WTO, 1995) โดยเฉพาะเรื่อง "ใบอนุญาตในการประกอบกิจการ"(the license to exercise an activity) ใน 7 ประเด็น คือ (1) กำหนดให้ใช้มาตรการทางการค้าระหว่างประเทศโดยไม่เลือกปฏิบัติ (Non-Discrimination) คือให้การปฏิบัติต่อสินค้าจากประเทศสมาชิกอย่างเท่าเทียมกัน (Most-favoured Nation Treatment : MFN) (2) การกำหนดและบังคับใช้มาตรการทางการค้าจะต้องมี ความโปร่งใส (transparency) โดยประเทศสมาชิกจะต้องพิมพ์เผยแพร่กฎระเบียบ เกี่ยวกับมาตรการทางการค้าต่อสาธารณชน และแจ้งให้ประเทศสมาชิกอื่นๆ ทราบ (3) คุ้มครองผู้ผลิตภายในด้วยภาษีศุลกากรเท่านั้น (tariff-only protection) ห้ามใช้มาตรการจำกัดการนำเข้าและส่งออกทุกชนิด ยกเว้นกรณีที่สอดคล้องกับบทบัญญัติของ WTO (4) ส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม (fair competition) ประเทศสมาชิกสามารถเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด และ การอุดหนุน จากสินค้านำเข้าได้ นอกจากนี้ ยังห้ามไม่ให้ ประเทศสมาชิกอุดหนุนการผลิตและการส่งออกจนบิดเบือนกลไกตลาด (5) ให้มีการรวมกลุ่มทางการค้าเพื่อลดภาษีระหว่างกันได้ หากมีวัตถุประสงค์เพื่อขยายการค้า แต่มีเงื่อนไขว่าการรวมกลุ่มต้องไม่มีจุดประสงค์เพื่อกีดกันการนำเข้าสินค้าจากประเทศนอกกลุ่ม (no trade blocs) และเมื่อรวมกลุ่มกันแล้วต้องไม่กระทบต่อผลประโยชน์เดิมของประเทศนอกกลุ่ม (6) มีกระบวนการยุติข้อพิพาททางการค้า (trade dispute settlement mechanism) (7) ให้สิทธิพิเศษแก่ประเทศกำลังพัฒนาในการปฏิบัติตามพันธกรณี (special and differential treatment : S&D)

กฎหมายเดิมที่กำหนดกรอบระยะเวลาในการปฏิบัติราชการ

ในการอนุญาตของทางราชการมีระยะเวลาในการพิจารณาทางปกครองทั้งแบบ ระยะเวลาเร่งรัด และระยะเวลาบังคับ มีกฎหมายสำคัญที่เกี่ยวข้องเดิม 3 ฉบับ คือ

(1) พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.2546 ในกรณีที่ได้รับการติดต่อสอบถามเป็นหนังสือจากประชาชนหรือส่วนราชการด้วยกันเกี่ยวกับหน้าที่ ส่วนราชการมีหน้าที่ที่จะต้องตอบคำถามหรือแจ้งการดำเนินการด้วยตามมาตรา 38 ซึ่งมีสถานะเป็นกฎ หากละเลยไม่ปฏิบัติอาจมีโทษทางวินัยหรือหากเสียหายอาจต้องรับผิดทางละเมิดได้ (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.1314/2559)

(2) พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ความในมาตรา 27 วรรคสอง (แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2557) บัญญัติไว้ทำนองเดียวกันกับ พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558 ในส่วนที่เกี่ยวกับการตรวจสอบคำขอและความครบถ้วนของเอกสาร สำหรับระยะเวลานั้น บัญญัติไว้ในมาตรา 39/1 (เพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2557) ใช้บังคับกับการออกคำสั่งทางปกครองที่เป็นการให้สิทธิหรือประโยชน์เท่านั้น มิได้นำไปใช้กับเรื่องการร้องเรียน การกล่าวหา หรือการกล่าวโทษ อันมีลักษณะเป็นการให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการในลักษณะเป็นโทษ เป็นภาระ หรือเพิกถอนสิทธิบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เพื่อป้องกันการพิจารณาที่ล่าช้าเกินสมควรหรือการใช้ดุลพินิจที่ไม่เหมาะสมของเจ้าหน้าที่ และเป็นหลักประกันให้แก่ผู้ยื่นคำขอที่จะได้รับการพิจารณาทางปกครองและการออกคำสั่งทางปกครองภายในระยะเวลาที่สมควร (บันทึกคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง เรื่องเสร็จที่ 1545/2558) ซึ่ง มาตรา 39/1 นี้เป็น “ระยะเวลาเร่งรัด มิใช่ระยะเวลาบังคับ”

(3) พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558 ในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ เป็นกฎหมายกลางที่ช่วยแก้ไขปัญหาและอำนวยความสะดวกในการอนุมัติ อนุญาต ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้ประกอบกิจการ หรือประชาชน ได้รับความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น และมีภาระค่าใช้จ่ายที่ถูกลง มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2558 กฎหมายบังคับให้หน่วยงานต้องจัดทำคู่มือสำหรับประชาชน และต้องปฏิบัติราชการตามขั้นตอนและระยะเวลาที่กำหนดไว้ในคู่มือ เสร็จแล้วต้องแจ้งประชาชน หรือหากไม่เสร็จก็ต้องแจ้งทุก 7 วัน มิฉะนั้นกฎหมายให้ถือว่ากระทำการหรือละเว้นกระทำการเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น และในการพิจารณาพนักงานเจ้าหน้าที่จะเรียกเอกสารหรือหลักฐานเพิ่มเติมอื่นใดอีกไม่ได้ และจะปฏิเสธการพิจารณาคำขอนั้นโดยอาศัยเหตุแห่งความไม่สมบูรณ์ของคำขอหรือความไม่ครบถ้วนของเอกสารหรือหลักฐานนั้นไม่ได้

กฎหมายใหม่ พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2565

พ.ร.บ.นี้เสริมให้การทำงานออนไลน์ทำงานได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ให้ใช้บังคับแก่หน่วยงานของรัฐทุกหน่วย ที่มิใช่หน่วยงานของรัฐในฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ องค์กรอัยการ และหน่วยงานอื่นของรัฐที่กำหนดในกฎกระทรวง เมื่อจะใช้ พ.ร.บ.นี้ทั้งหมดหรือบางส่วนแก่หน่วยงานของรัฐในฝ่ายนิติบัญญัติฝ่ายตุลาการ องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอัยการ ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกาในพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวจะกำหนดให้ใช้แก่องค์กรดังกล่าวทั้งองค์กรหรือบางหน่วยงาน หรืองานบางประเภทก็ได้

มีผลใช้บังคับทั้งฉบับตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2566 โดยมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมให้การทำงานและการให้บริการของภาครัฐ สามารถใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก แต่เดิมกฎหมายที่มีอยู่หลายฉบับกำหนดให้การปฏิบัติราชการหรือการติดต่อกับประชาชนต้องใช้สำเนาหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร หรือจำกัดวิธีหรือรูปแบบในการติดต่อราชการเฉพาะการติดต่อด้วยตัวบุคคล ณ สถานที่ทำการ หรือนำส่งเอกสารต่างๆ ทางไปรษณีย์ เป็นการตรากฎหมายกลางเพื่อแก้ปัญหาข้อจำกัดทางกฎหมายที่เป็นอุปสรรคของแต่ละหน่วยงาน เพื่อให้การดำเนินการทางอิเล็กทรอนิกส์มีผลสมบูรณ์ในทางกฎหมาย

สาระสำคัญ ตามนิยามมาตรา 5 “หน่วยงานของรัฐ” หมายความว่า ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการ ส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และหน่วยงานอื่นของรัฐทุกหน่วย แต่ไม่รวมถึงรัฐวิสาหกิจ ที่เป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด

“ขออนุญาต” หมายความรวมถึงขอรับใบอนุญาต ขออนุมัติ ขอจดทะเบียน ขอขึ้นทะเบียน ขอแจ้ง ขอจดแจ้ง ขออาชญาบัตร ขอการรับรอง ขอความเห็นชอบ ขอความเห็น ขอให้พิจารณา ขออุทธรณ์ ร้องทุกข์ หรือร้องเรียน ขอให้ดำเนินการ ขอรับเงิน ขอรับสวัสดิการ และขอรับบริการอื่นใด จากหน่วยงานของรัฐ

“อนุญาต” หมายความรวมถึง ออกใบอนุญาต อนุมัติ จดทะเบียน ขึ้นทะเบียน รับแจ้ง รับจดแจ้ง ออกอาชญาบัตร รับรอง เห็นชอบ ให้ความเห็น แจ้งผลการพิจารณา แจ้งผลการดำเนินการ จ่ายเงิน ให้ได้รับสวัสดิการ และให้บริการอื่นใดแก่ประชาชนหรือหน่วยงานของรัฐ

การกำหนดให้ประชาชนสามารถยื่นคำขอ จ่ายเงิน หรือติดต่อราชการโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้โดยให้ถือว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมาย และเจ้าหน้าที่ของรัฐจะปฏิเสธไม่รับคำขอนั้นเพียงเพราะเหตุที่ผู้ขออนุญาตใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ไม่ได้ เว้นแต่เป็นเรื่องที่เป็นการดำเนินการเฉพาะตัว มีข้อยกเว้นว่า พ.ร.บ. ปฏิบัติราชการอิเล็กทรอนิกส์ จะไม่ใช้กับการขออนุญาตที่ผู้ยื่นคำขอจะต้อง “ดำเนินการเป็นการเฉพาะตัว” เช่น การสมรส การหย่า การรับบุตรบุญธรรม การขอมีบัตรประจำตัวประชาชน และการขอออกหนังสือเดินทาง เป็นต้น ระบบอิเล็กทรอนิกส์มีข้อจำกัดในตัวของมันเอง จึงมีการห้ามดำเนินการทางอิเล็กทรอนิกส์ในบางกรณีดังกล่าว เช่น ในเรื่องสถานะบุคคล กรณีขอลงรายการสัญชาติไทยก็เช่นกัน ไม่อาจทำได้ในทุกขั้นตอน 100% ในระบบออนไลน์ เนื่องจากมีกระบวนการขั้นตอนการตรวจสอบหลายขั้นตอน หลายหน่วยงาน ยุ่งยาก การทำออนไลน์จึงไม่อาจทำได้ ต้องมีการตรวจสอบเอกสารประกอบคำร้อง ของเจ้าหน้าที่ด้วยระบบมือ (manual) และต้องมีการสอบสวน (สอบปากคำต่อหน้าเจ้าพนักงาน) เป็นต้น สำหรับการบริการออนไลน์อื่นๆ ที่เกี่ยวกับการยื่นคำร้องทั่วๆ ไป หรือ การแจ้งนัดเพื่อมาสอบสวน หรือให้ส่งเอกสารเพิ่ม หรือ การประสานงานอื่นๆ ย่อมสามารถทำได้ ทั้งนี้เพื่อเป็นการบริการประชาชน อำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ลดภาระแก่ประชาชน ทำให้ไม่เสียเวลา เสียค่าเดินทาง เสียค่าใช้จ่ายในการมาพบเจ้าหน้าที่ เป็นต้น

เป็นกฎหมายกลางในการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ ส่งเสริมให้การทำงานและการให้บริการของภาครัฐปรับเปลี่ยนไปสู่ระบบดิจิทัล วัตถุประสงค์ในการยื่นคำขอหรือติดต่อใดๆ ระหว่างประชาชนกับหน่วยงานของรัฐ การติดต่อราชการ ระหว่างหน่วยงานของรัฐด้วยกัน และระหว่างเจ้าหน้าที่ภายในหน่วยงานของรัฐ สามารถทำโดยวิธีการ ทางอิเล็กทรอนิกส์ได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาทางเทคโนโลยีในปัจจุบัน อันจะเป็นการอำนวยความสะดวกและลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน ลดค่าเดินทางรวมของประชาชน รวมทั้งลดต้นทุนและ เพิ่มประสิทธิภาพแก่การปฏิบัติราชการของภาครัฐ ตามยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนการปฏิรูป ประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดิน แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 258 ข.ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน (1) ให้มีการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาประยุกต์ใช้ในการบริหารราชการแผ่นดินและการจัดทำบริการสาธารณะ เพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดิน และเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน

ข้อดี 4 ประการของการมีระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Digital ID)

Digital ID มีส่วนในการผลักดัน พ.ร.บ. การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2565 สร้างสังคมดิจิทัลของหน่วยงานรัฐที่มีต่อประชาชน ยกระดับการทำงานของหน่วยงานราชการให้ตอบโจทย์กับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง และเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก ดังนี้ (1) ใช้บริการผ่านช่องทางออนไลน์ได้อย่างปลอดภัยในการทำธุรกรรมออนไลน์ (2) ลดโอกาสการปลอมแปลงตัวตน โดยมิจฉาชีพหลอกลวง (3) ช่วยให้การทำธุรกรรมออนไลน์สะดวกยิ่งขึ้น ประชาชนไม่เสียเวลาเสียเงินเดินทางไปทำเรื่อง ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็สามารถทำธุรกรรมได้ทุกที่ (4) ลดขั้นตอนที่ซับซ้อน ประหยัดต้นทุน ข้อดีของภาคหน่วยงานรัฐ หรือเอกชน Digital ID ช่วยลดขั้นตอนการทำงาน การตรวจสอบแบบเอกสาร ไม่จำเป็นต้องยื่นสำเนาเอกสารเพื่อพิสูจน์ เพราะทางระบบจะแจ้งเตือนในระบบอิเล็กทรอนิกส์ และใช้คอมพิวเตอร์ในการตรวจสอบ ลดเวลา ทำงาน แถมประหยัดต้นทุน

สังคมโลกมิได้หยุดนิ่ง แต่ Disrupt เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมาก “อินเตอร์เน็ต ดิจิทัล สมาร์ทโฟน Digital ID” ถือเป็นปัจจัยที่ 5 ในชีวิตประจำวันปัจจุบันไปแล้ว ยังจะมีกฎหมายที่เอื้อต่อดิจิทัลตามมาอีก เช่น "กฎหมายป้อง" (มติ ครม.31 มกราคม 2566 ตามที่ ยธ.เสนอ) ข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐและบุคคลที่ได้รับมอบหมายที่ทำผิด ได้รับความคุ้มกันไม่ต้องรับผิดทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย สร้างขวัญกำลังใจเจ้าหน้าที่กล้าตัดสินใจปฏิบัติงานเป็นหลักประกันความเป็นธรรม เพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ (Law of Efficiency)

 ถือเป็นการปฏิวัติระบบบริการประชาชน ระบบการให้ใบอนุญาตแก่ประชาชนเอกชนและองค์กรต่างๆ การควบคุมจัดการบริการแก่ประชาชนทั่วไปและแก่เอกชน รวมทั้งองค์กรต่างๆ ที่ต้องมาขอรับใบอนุญาต รวมถึงกิจการสัมปทานต่างๆ จากรัฐ เช่น การขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ ขอรับสัมปทานเหมืองแร่ ขุดเจาะก๊าซ การขุดเจาะบ่อบาดาล การขออนุญาตระเบิดและย่อยหิน การตั้งโรงงาน และในระดับท้องถิ่น เช่น การขออนุญาตก่อสร้าง การประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ฯลฯ เป็นต้น ในที่นี้ก็คือระบบการให้อนุญาต (License & Permit) ที่เป็นการควบคุมการดำเนินกิจกรรมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสังคมของประเทศ ซึ่งปัจจุบันพัฒนาไปสู่ระบบอนุมัติ อนุญาตทางอิเล็กทรอนิกส์ การออกเอกสารหลักฐานของทางราชการผ่านระบบดิจิทัล หรือการยื่นคำร้องขอทางไปรษณีย์

สรุปว่า ระบบ Permit System Electronics อำนวยความสะดวกการบริการสาธารณะ เช่น การอนุญาตทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นการขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data Driven) เป็นแนวคิดที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน เพราะข้อมูลหรือ Data ถือเป็นกุญแจสำคัญในการทำกลยุทธ์การตลาด และการพัฒนาทุกรูปแบบธุรกิจ รวมถึงการปรับใช้กับหน่วยงานภาครัฐ ต้องปรับใช้หลักแนวคิด Data Driven Mindset ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลที่มีอยู่เป็นหลัก มากกว่าการใช้สัญชาตญาณและความรู้สึก เพื่อช่วยส่งเสริมการทำงาน และการให้บริการของภาครัฐ พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการข้อมูลให้ง่าย และรวดเร็วมากขึ้น มีการทำระบบจัดการเอกสาร ระบบสำนักงานอัจฉริยะ การปรับระบบบริการเข้าระบบออนไลน์ให้หมด จะลดค่าหัวคิว เงินใต้โต๊ะได้เด็ดขาด ไม่ต้องกลัวว่าเอกสารเท็จ ปลอม เพราะการยื่นออนไลน์ เขาได้รับรองตนเองแล้ว การทำงานตรงไปตรงมาเพราะ (1) ลดคนภาครัฐ (2) ลดเวลา (3) ลดข้อสงสัย (4) มีหลักฐานบันทึก แต่ก็ต้องระวังมิจฉาชีพแก๊งคอมฯ บ้าง