สรุปลงตัว...เมืองพัทยาระบุสถานีรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินใช้พื้นที่สถานีรถไฟเดิมซอยชัยพรวิถี หลังประชุมร่วมคณะกรรมการ TOD จัดสรรพื้นที่ 900 ไร่ ลงทุนร่วมเจ้าของอาคาร บ้านพัก สร้างแลนด์มาร์คแห่งใหม่ พร้อมต่อยอดโครงการรถไฟฟ้า Tram ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม
จากกรณีที่ภาครัฐมีนโยบายจัดทำโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มีแนวเส้นทางเชื่อมท่าอากาศยานสำคัญของไทย เริ่มจากท่าอากาศยานดอนเมือง วิ่งตรงเข้าสู่สถานีกลางบางซื่อ ผ่านสถานีมักกะสัน เลี้ยวเข้าสู่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มุ่งหน้าไปตามแนวเส้นทางรถไฟสายตะวันออก ผ่านแม่น้ำบางปะกงเข้าสู่สถานีฉะเชิงเทรา สถานีชลบุรี สถานีพัทยา และเข้าสู่ท่าอากาศยานอู่ตะเภา เป็นสถานีสุดท้าย รวมระยะทาง 220 กิโลเมตร โดยขบวนรถสามารถทำความเร็วได้สูงสุด 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ถือเป็นการร่วมทุน ระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐครั้งสำคัญของไทยแบบ PPP (Public-Private-Partnership) มูลค่าสูงถึง 224,544 ล้านบาท ร่วมลงทุนกับเอกชน 50 ปี ทรัพย์สินทั้งหมดจะเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐเมื่อสิ้นสุดสัญญา โดยคาดว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จะเปิดให้บริการได้โดยเร็ว และโครงการน่าจะมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจประมาณ 650,000 ล้านบาท
ล่าสุด (22 ก.พ.66) นายมาโนช หนองใหญ่ รองนายกเมืองพัทยา เปิดเผยว่าจากการที่ได้เข้าประชุมร่วมกับ TOD หรือคณะกรรมการพิจารณาโครงการศึกษาพัฒนาเมืองกับระบบโครงสร้างพื้นฐานที่จังหวัดชลบุรี นั้น ปรากฏว่าขณะนี้มีบทสรุปแล้วว่าสถานีรถไฟฟ้าความเร็วสูงจะมีพื้นที่จอดบริเวณสถานีรถไฟเดิมของเมืองพัทยา บริเวณซอยชัยพรวิถี ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี หลังก่อนหน้านี้มีท่าทีว่าผู้สัมปทานจะย้ายจุดจอดรถไฟฟ้าความเร็วสูงไปยังสถานีห้วยขวาง หรือชากแง้ว ในเขต ต.ห้วยใหญ่ อ.บางละมุง ซึ่งขณะนี้ในส่วนของการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ดำเนินเวนคืนที่ดินในฝั่งตะวันออกภายในซอยชัยพรวิถีสำเร็จไปแล้วเป็นพื้นที่รวมกว่า 50 ไร่ ขณะที่แผนการจัดทำ TOD นั้นจะมีการใช้พื้นที่กว่า 900 ไร่โดยรอบสถานี เพื่อจัดสร้างเป็นศูนย์ การค้า คอนโดมิเนียม สวนสาธารณะ จุดสันทนาการ รวมไปถึงพื้นที่จอดของระบบขนส่งมวลชน ซึ่งโครงการนี้จะไม่ใช้วิธีของการเวนคืน แต่จะมีการเสนอแนวทางการลงทุนร่วมกับเจ้าของอาคาร ที่ดิน หรืออสังหาริมทรัพย์ ที่อยู่ในกรอบพื้นที่ที่กำหนด โดยในเร็ววันนี้จะมีการประชุมร่วมเพื่อหารือกับภาคประชาชน ภาคสังคม รวมทั้งการจัดทำประชาพิจารณ์ถึงผลดี-ผลเสีย และผลประโยชน์ของทั้งผู้ลงทุนและผู้ถือกรรมสิทธิ์อาคาร และที่ดินจะได้รับ โดยอาจจะต้องใช้เวลาในการหาข้อสรุปนานพอสมควร ด้วยพบว่าพื้นที่ในกรอบ 900 ไร่ของ TOD นี้ จะกินพื้นที่ของเมืองพัทยาในสัดส่วน 60 % (ม.6 ต.นาเกลือ และ ม.5 ต.หนองปรือ) และเทศบาลเมืองหนองปรือ ในสัดส่วนอีก 40 % (ม.5ต.หนองปรือ) ที่ส่วนใหญ่จะเป็นย่านพักอาศัยในแปลงที่ดินขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ นับ 1,000 ราย
นายมาโนช กล่าวต่อไปว่าทั้งนี้ในส่วนตัวแทนบริษัทที่ปรึกษาโครงการศึกษาความเหมาะสม ระบุว่า จากนโยบายของคณะกรรมการ EEC ที่มีเป้าหมายการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและการลงทุนในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคตะวันออก คือ ระยอง ฉะเชิงเทรา และชลบุรี ด้วยการสนับสนุนให้มีทั้งโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม ต่อ 3 สนามบิน การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และการพัฒนาระบบขนส่งทุกรูปแบบ รวมทั้งการผลักดันให้เมืองพัทยาเป็นศูนย์กลางทางการท่องเที่ยวที่สำคัญของโลกนั้น
ในส่วนของการศึกษาความเหมาะสมเพื่อจัดทำระบบขนส่งสาธารณะแบบรถไฟฟ้าในเมืองพัทยา ได้กำหนดรูปแบบไว้ 3 ประเภท คือ แบบบนพื้นถนน หรือ Tram แบบยกระดับ หรือ BTS และ Monorail รวมทั้งแบบใต้ดินหรืออุโมงค์ ซึ่งผลจากการศึกษาและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียจำนวน 2 ครั้ง ไม่นับรวมการประชุมย่อยที่มีการวิเคราะห์ปัจจัยหลักทางด้านกายภาพ สภาพถนนเดิม เส้นทาง และการเวนคืนที่ดิน รวมทั้งผลกระทบสิ่งแวดล้อมและงบประมาณการลงทุน พบว่า โครงสร้างรถไฟฟ้าทั้งแบบคร่อมรางยกระดับ หรือระบบ Monorial และวิ่งบนพื้นถนนหรือ TRAM มีความเหมาะสมกับพื้นที่เมืองพัทยา จึงได้เร่งทำการศึกษาออก แบบและวางแผนเส้นทาง สถานีรับส่ง สถานีจอด และศูนย์ซ่อม โดยเน้นการพิจารณาในเรื่องผลกระทบด้านการเดินทาง และทัศนียภาพ รวมถึงการเวนคืนเป็นหลัก
ทั้งนี้จากผลการนำเสนอแนะแนว 4 เส้นทางการเดินรถเสียงส่วนใหญ่สนับสนุนให้ใช้สีเขียว ระยะทางรวม 8.3 กม. และอีก 1.8 กม.เพื่อมุ่งสู่ท่าเรือแหลมบาลีฮาย จาก 13 สถานีจอด โดยจะวิ่งตามเส้นทางจากสถานีรถไฟพัทยาที่เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าความเร็วสูงมาตามถนนสายมอเตอร์เวย์ เข้าถนนพัทยาเหนือไปถึงวงเวียนปลาโลมา ก่อนจะเลี้ยวเข้าถนนพัทยาสายสอง ไปจนถึงแยกทัพพระยา และมุ่งตรงสู่ท่าเทียบเรือแหลมบาลีฮาย โดยเส้นทางดังกล่าวมีการกำหนดอัตราค่าโดยสารแรกที่ 16 บาท และ กม.ต่อไปอีกคิด กม.ละ 2.80 บาท แต่ไม่เกิน 45 บาทตลอดเส้นทางในรูปแบบเดียวกับรถไฟฟ้า BTS เพียงแต่อาจมีอัตราที่สูงกว่าเล็กน้อย เนื่องจากอัตราค่าแรงขั้นต่ำของแรงงานใน จ.ชลบุรี สูงกว่า กทม.หรืออยู่ที่ 336 บาทต่อวัน ขณะที่ กทม.อยู่ที่ 331 บาทต่อวัน
โดยโครงการดังกล่าวจะทำการเวนคืนที่ดินไม่มากนัก แต่จะใช้งบประมาณลงทุนประมาณ 20,805 ล้านบาท ขณะที่แนวทางการลงทุนจะได้มีการนำเสนอทั้งในรูปแบบของ PSC หรือ PPP ในลักษณะการร่วมทุนกับภาคเอกชนซึ่งปัจจุบันพบว่ามีผู้ที่สนใจประสานเข้ามาเพื่อขอร่วมทุนจำนวนหลายราย...