วันที่ 23 ก.พ.2566 ที่สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(สปภ.) นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังประชุมติดตามผลการดำเนินงานในกิจกรรมผู้ว่าฯสัญจร สำนัก สปภ.ว่า สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(สปภ.) เป็นสำนักที่มีความสำคัญ เพราะดูแลเกี่ยวกับเรื่องภัยพิบัติต่างๆ มีภารกิจรอบด้าน เฉลี่ยช่วยประชาชนวันละ 150 เรื่อง เช่น จับงู ตัวเงินตัวทอง ไฟไหม้ ปัญหาหลักที่พบคือ อัตรากำลังไม่เพียงพอปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่ประมาณ 2,000 คน มีเจ้าหน้าที่อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน(อปพร.) ประมาณ 60,000 คนมีอาสาสมัครจากมูลนิธิต่างๆ ประมาณ 7,000 คน สิ่งสำคัญคือต้องทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ อาจต้องมีการจัดอบรม บริหารพื้นที่ ลำดับความสำคัญว่าหน่วยงานใดควรเข้าก่อน-หลังขณะเกิดเหตุ เพื่อให้กำลังพลทั้ง 3 หน่วยทำงานอย่างเป็นเนื้อเดียวกัน

 

ปัญหาสำคัญต่อมาคือ เรื่องอุปกรณ์เครื่องมือ ปัจจุบันมีรถดับเพลิงประมาณ 840 คัน เสียหายไปแล้วครึ่งหนึ่งตั้งแต่การรับโอนจากการจัดซื้อครั้งใหญ่ รวมถึงรถบันไดสูงยังใช้งานไม่ได้ โดยในปี 2566 มีแผนจัดซื้อรถกู้ภัยเพิ่มเติม 15 คัน ทั้งนี้ ยังมีรถที่จอดค้างอยู่ในอู่ประมาณ 139 คัน ซึ่งเป็นปัญหาตั้งแต่การจัดซื้อครั้งที่แล้ว มีค่าจอดรถหลักพันล้านขณะนี้เรื่องอยู่ในการพิจารณาของศาล โดยรวมแล้ว สปภ.มีอุปกรณ์ใช้งานได้เพียง 50% อย่างไรก็ตาม กทม.มีแผนจัดซื้อเพิ่ม โดยเน้นย้ำถึงความโปร่งใสและมีประสิทธิภาพ

 

ปัญหาต่อมาคือ เรื่องสถานที่ ปัจจุบัน สปภ.มีสถานีดับเพลิงหลักทั้งหมด 37 แห่ง สถานีย่อย 11 แห่ง ถือว่าอัตราการกระจายตัวยังไม่มาก เนื่องจาก 1 สถานีบริการครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 32 ตารางกิโลเมตร ถือว่าพื้นที่กว้างกว่าเมืองใหญ่ทั่วโลก ต้องพยายามเพิ่มสถานี โดย 2 ปีที่ผ่านมาเพิ่มไปแล้ว 4 สถานี พร้อมปรับปรุงสถานีเก่าให้มีสภาพดีขึ้นอีก 8 สถานี รวมถึงได้หารือกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) ถึงแผนจัดทำศูนย์ฝึกอบรมเพื่อเตรียมความพร้อมในสถานการณ์ต่างๆ คาดว่าในอนาคตอาจเป็นศูนย์ฝึกอบรมด้านปัองกันภัยของภูมิภาค โดยเรื่องทั้งหมดอยู่ในแผนการพัฒนาปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพต่อไป โดยเฉพาะที่ตั้งของสำนักงานสปภ.ปัจจุบันยังมีปัญหาเรื่องการส่งมอบพื้นที่คืนจากตำรวจ จึงยังไม่สามารถพัฒนาได้เต็มที่ แม้จะเป็นศูนย์บัญชาการหลักในการดูและประชาชน

 

สำหรับกรณีการฟ้องร้องเกี่ยวกับค่าจอดรถดับเพลิงกว่าพันล้านระหว่างกทม.กับเอกชน เนื่องจากรถดับเพลิงที่กทม.จัดซื้อจากต่างประเทศตามโครงการเพิ่มประสิทธิภาพ ส่วนแรก 176 คัน ปัจจุบันได้ซ่อมนำกลับมาใช้งานแล้ว ส่วนที่สอง 139 คัน ยังคงจอดค้างไว้ที่ลานพักสินค้าบริษัทนามยง เทอร์มินัล จำกัด(มหาชน) รอคำสั่งศาลฎีกาต่อไป ซึ่งเรื่องผ่านการฟ้องร้องกันมากว่า 15 ปี โดยศาลชั้นต้นชี้ว่า กทม.ไม่ต้องชำระเพราะไม่ใช่คู่สัญญา ส่วนศาลอุทธรณ์ชี้อีกแบบหนึ่ง จึงต้องรอศาลฎีกาต่อไป เป็นเรื่องที่กทม.มีความกังวลเนื่องจากสภาพรถที่จอดไว้คงนำกลับมาใช้งานได้ยาก นอกจากนี้ ยังมีการพิจารณาเบี้ยเสี่ยงภัยเพิ่มเติมแก่เจ้าหน้าที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการทบทวนถึงความเหมาะสมกับงานที่มีความเสี่ยงภัยด้านต่างๆ

 

นายชัชชาติ กล่าวว่า โดยรวม สปภ.ต้องรับการสนับสนุนหลายเรื่อง ทั้งเรื่องอุปกรณ์ รถดับเพลิง สถานีดับเพลิง ศูนย์ฝึกอบรม และบุคลากรต่างๆ ต้องบริหารจัดการให้สมดุล โดยเฉพาะศูนย์ฝึกอบรม จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ประเทศตุรกี ทำให้เห็นว่าความเชี่ยวชาญของเจ้าหน้าที่กู้ภัยเป็นเรื่องจำเป็น ดังนั้นการจัดตั้งศูนย์ฯมีผลดีในแง่การบริหารจัดการและการประสานงานของบุคลากรในสปภ. เพราะมีเป้าหมายสำคัญคือ ต้องเข้าถึงพื้นที่เกิดเหตุใน 8 นาที อย่างไรก็ตาม ช่วงนี้อากาศแห้ง ขอให้ประชาชนดูแลเรื่องไฟฟ้าลัดวงจรและเหตุเพลิงไหม้ให้ดี รวมถึงเฝ้าระวังสายไฟเก่า โดยกทม.มีแผนประสานกับโรงเรียนอาชีวะ ศูนย์ฝึกอาชีพต่างๆ เพื่อสนับสนุนผู้ที่มีความรู้ด้านการตรวจสอบสายไฟเข้าไปตรวจสอบในชุมชนมากขึ้นเพื่อป้องกันเหตุไฟไหม้