การันตีด้วยรางวัลชนะเลิศระดับประเทศการประกวดผลงานการขับเคลื่อนหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในสหกรณ์และกลุ่มเกษตรเมื่อปี 2561  ก่อนถูกผลักดันเข้าประกวดแข่งขันในโครงการรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2566 สำหรับ”สหกรณ์การเกษตรคอนสาร จำกัด” ตั้งอยู่เลขที่ 154 ม.3 ต.ดงบัง อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ชูจุดเด่นสมาชิกมีอาชีพที่หลากหลายสร้างรายได้ตลอดทั้งปี

“จุดเด่นชาวบ้านมีช่องทางที่หลากหลายสามารถสร้างอาชีพในชุมชนเชิงเกษตรผสมผสาน เกษตรกรจึงไม่ค่อยมีเวลาว่าง” อัมพร เดชพรม ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรคอนสาร จำกัด เผย

อัมพร  กล่าวต่อว่า อาชีพหลักของสมาชิกคือการทำนา ปลูกข้าวหอมมะลิ 105 เพื่อจำหน่ายและปลูกข้าวเหนียวไว้เพื่อรับประทานในครัวเรือน หลังว่างเว้นจากอาชีพหลักก็หันมาปลูกพืชหลังนา อาทิ ถั่วเขียว ถั่วเหลือง แตงโม ข้าวโพดหลังนา  ตลอดจนเลี้ยงปศุสัตว์ ได้แก่ วัว สุกร ไก่ เลี้ยงปลาชนิดต่าง ๆ ทำให้สมาชิกมีรายได้ตลอดทั้งปี

ส่วนสหกรณ์มีหน้าที่เป็นผู้รวบรวมผลผลิตจากสมาชิกเพื่อจำหน่ายและหาตลาดรองรับผลผลิตส่วนหนึ่งก็จะนำมาแปรรูปเพิ่มมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นข้าวหอมมะลิ105 บรรจุถุง ๆ ละ 5 กิโลกรัม ถั่วแปรรูปต่าง ๆ เช่นถั่วคั่วทราย ถั่วคั่วสมุนไพร ขนมถั่วตัด ข้าวแต๋น เป็นต้น  

“สหกรณ์จะเข้าไปส่งเสริมสมาชิกตั้งแต่การให้เมล็ดพันธุ์ การเตรียมดินมีเครื่องมือเครื่องจักรไปให้เกษตรกรใช้แล้วรับซื้อผลผลผลิตคืน  รายไหนไม่มีทุนสหกรณ์ก็ให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ บางรายกู้ติดต่อกันมาหลายปีจนเกษตรกรบอกว่าพอแล้ว ๆ“

ผู้จัดการสหกรณ์คนเดิมเผยต่อว่าเมื่อก่อนการส่งเสริมอาชีพสมาชิกมีปัญหา เนื่องจากทำเป็นกลุ่มใหญ่ผลผลิตออกมาล้นจนไม่มีตลาดรองรับ จากนั้นจึงได้ปรับเปลี่ยนใหม่ทำเป็นกลุ่มเล็ก ๆ มีอาชีพที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความถนัดของสมาชิกแต่ละคน  

“เมื่อก่อนเราทำไซต์ใหญ่ทำให้มีปัญหาเรื่องตลาด  ตอนนี้เราทำไซต์เล็กค่อย ๆ ขยายไม่เน้นไซต์ใหญ่ทำตลาดได้ง่ายขึ้น อย่างเลี้ยงวัวสมาชิกรายใหม่ไปซื้อที่หน้าคอกของสมาชิกได้รายเก่า ๆ ได้เลย  การตลาดมันก็จะง่ายขึ้น แล้วแต่ละกลุ่มอาชีพก็จะเชื่อมโยงกัน อย่างการเลี้ยงหมูที่เราส่งเสริม เพราะเรามีกลุ่มแปรรูปข้าวอยู่แล้วก็จะขายรำข้าว ปลายข้าวกับกลุ่มเลี้ยงหมูมาผลิตอาหารหมู คือทุกกลุ่มจะเชื่อมโยงช่วยเหลือซึ่งกันและกัน”

อัมพร ยังกล่าวขอบคุณทางสหกรณ์จังหวัดที่ได้เข้ามาช่วยเหลือดูแล ตลอดจนการวางแผนส่งเสริมอาชีพให้กับสมาชิกและตัวสหกรณ์เองด้วยในการเข้ามาส่งเสริมสนับสนุนสร้างโรงบรรจุภัณฑ์    กระบวนการแปรรูปผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ยังพาสมาชิกไปอบรมดูงานตามสถานที่ต่าง ๆ เช่นกลุ่มเลี้ยงปศุสัตว์ก็จะไปดูผสมเทียมโค กระบือ หรือกลุ่มปลุกพืชผักก็จะไปเยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้ต่าง ๆที่ประสบผลสำเร็จเพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้มาพัฒนาต่อยอดในพื้นที่ของตัวเอง  

“สหกรณ์เราไม่ค่อยเน้นงานสินเชื่อ เราเน้นงานการตลาดเป็นหลัก เพราะไปแข่งกับธ.ก.ส. ออมสินไม่ไหว ซึ่งดอกเบี้ยถูกกว่า เราเลยหาจุดแข็งของเราในเรื่องการตลาด การรวบรวมผลผลิต รับซื้อผลผลิตและการแปรรูป  สมาชิกจะได้รับผลกำไรตั้งแต่ขาย สิ้นปีมีเงินปันผลและเฉลี่ยคืน ซึ่งเขาก็พึงพอใจ” ผู้จัดการสหกรณ์ฯคอนสาร กล่าวย้ำ

ด้าน นายทวีศักดิ์ อสุชีวะ สหกรณ์จังหวัดชัยภูมิ  กล่าวถึงสหกรณ์การเกษตรคอนสาร จำกัด ว่าเป็นสหกรณ์ที่ประสบความสำเร็จด้านการส่งเสริมอาชีพแก่สมาชิกเคยได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประเทศในโครงการประกวดผลงานการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในสหกรณ์และกรมเกษตรกรของกรมส่งเสริมสหกรณ์มาแล้วเมื่อปี 2561  และในปี 2566 สำนักงานสหกรณ์จังหวัดชัยภูมิ ได้ส่งผลงานเข้าร่วมการประกวดรางวัลเลิศรัฐประจำปี 2566

สหกรณ์จังหวัดชัยภูมิยอมรับว่าก่อนหน้านี้ สหกรณ์การเกษตรคอนสาร จำกัด เคยประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนัก ได้เริ่มฟื้นฟูกิจการจนปัจจุบันสามารถดำเนินธุรกิจได้ด้วยทุนภายในของตัวเอง หลังจากที่ให้สมาชิกเป็นหลักในการขับเคลื่อนดำเนินการสร้างอาชีพสร้างรายได้ ภายใต้สโลแกน สร้างรายได้ ขายผลผลิต พิชิตความจน คนสหกรณ์คอนสาร  ซึ่งเป็นคอนเซ็บที่เข้าร่วมประกวดรางวัลเลิศรัฐประจำปี 2566

“สหกรณ์ได้มีการดำเนินการขับเคลื่อนตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำไปจนถึงปลายน้ำ แนะนำส่งเสริมอาชีพสมาชิกในทุกกระบวนการผลิต  เน้นดูแลเรื่องการตลาดให้กับสมาชิก รับซื้อรวบรวมและแปรรูปผลผลิต ทำแบบครบบวงจร”

โดยจุดเด่นของสหกรณ์นี้ หลังจากเจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์ให้คำแนะนำจัดทำแผนกลยุทธ์ของสหกรณ์แล้ว สหกรณ์สามารถดำเนินการตามแผนได้เอง พร้อมทั้งต่อยอดโครงการอื่นๆที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ให้การสนับสนุน

“เราแนะนำหนี่ง สอง เขาขยายผลต่อเป็นสามสี่ห้าหกจนประสบความสำเร็จ พิสูจน์ให้เห็นว่าสหกรณ์นี้เข้มแข็ง พึ่งตนเองได้ พร้อมทั้งสามารถเป็นที่พึ่งให้กับสมาชิกและชุมชน” สหกรณ์จังหวัดชัยภูมิระบุ

ปัจจุบันสหกรณ์การเกษตรคอนสาร จำกัด  ก่อตั้งเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2521 มีสมาชิกเริ่มแรก 140 ราย ปัจจุบันมี 2,000 กว่าราย มีเงินทุนหมุนเวียน จำนวน 69.23 ล้านบาท ดำเนินธุรกิจรวบรวมผลผลิต  แปรรูปและจำหน่ายอุปกรณ์และเคมีภัณฑ์ทางการเกษตรแก่สมาชิกเป็นหลัก และเคยได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประเทศในการประกวดผลงานการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ปี 2561 ที่ผ่านมาอีกด้วย