สัปดาห์ที่ผ่านมาคนกรุงเทพฯต้องเจอกับฝนกระหน่ำนอกฤดู เมื่อวันที่ 15-16 ก.พ. ส่งผลให้กรุงเทพฯหลายพื้นที่เกิดน้ำขังหลายจุด เป็นสัญญาณเตือนถึงว่าปีนี้ฝนค่อนข้างแรง ทุกหน่วยงานต้องเตรียมการรับมือกับฤดูฝนที่กำลังจะมาถึงกันอย่างรัดกุมเพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบรุนแรง
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ฝนเมื่อวันที่ 15-16 ก.พ.ที่ผ่านมาเป็นฝนนอกฤดู ตกหนักแต่ไม่นาน ทำให้มีน้ำท่วมขังหลายจุด จากข้อมูลปีที่ผ่านมา ปริมาณน้ำฝนสะสมมากกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 30 ปีถึง 40% โดยเฉพาะในเดือนกันยายนปี 2565 มีปริมาณน้ำฝนสะสมสูงกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 30 ปีถึง 2.48 เท่า ปัจจุบันกทม.มีจุดเสี่ยงน้ำท่วมจากน้ำฝน 661 จุด ได้ปรับปรุงบ่อสูบน้ำไปแล้ว 69 แห่ง เพิ่ม Mobile Pump 124 ตัว ปรับปรุงสถานีสูบน้ำ 39 แห่ง ลอกท่อไปแล้ว 3,357 กิโลเมตร พร้อมซ่อมแซมแนวป้องกันและแนวฟันหลอ 21 แห่ง โดยในปี 2566 มีแผนขุดลอกคลองเพื่อเชื่อม 9 คลองสายหลักและคลองอื่นอีกจำนวน 65 คลอง เพื่อเร่งระบายน้ำไหลลงอุโมงค์และสถานีสูบน้ำ ก่อนระบายออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา รวมความยาว 393,174 เมตร ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 50 เขต
ความพร้อมของเขตพื้นที่ในการรับฝนปีนี้เป็นอย่างไร ?
นายไพโรจน์ จันทรอด ผู้อำนวยการเขตหนองจอก กล่าวว่า บริบทของเขตหนองจอกไม่เหมือนเขตชั้นในของกทม.พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทุ่งนา ประชาชนประกอบอาชีพเกษตรกร ส่วนใหญ่ประสบปัญหาในช่วงน้ำเหนือหลากลงมาจนล้นคลองท่วมบ้านเรือน แต่หากเป็นฝนตกตามปกติเขตหนองจอกรับมือได้เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นดินเกษตรกรรม สามารถอุ้มน้ำได้ดี
แต่สิ่งที่กังวลเรื่องเดียวคือฝนจากภาคเหนือมีปริมาณมาก และหลากลงมาจะทำให้ประตูระบายน้ำที่คลองแสนแสบระบายไม่ทัน ทำให้น้ำล้นคลองท่วมถนนเลียบคลองกว่า 10 สาย ปัจจุบันได้เสนองบประมาณเพิ่มเติมเพื่อปรับปรุงถนนทั้ง 10 สายนี้ พร้อมสร้างคันกั้นน้ำเพิ่มเติม เนื่องจากได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมปีที่ผ่านมาอย่างมาก คาดว่าปีนี้จะได้รับงบประมาณตามที่เสนอไป อย่างไรก็ตาม เขตหนองจอกมีคลองถึง 85 คลอง สามารถรับน้ำได้ดี ทำให้มีจุดน้ำท่วมไม่มาก ปัจจุบันมีการกำจัดผักตบชวาและลอกคลองทั้งหมดแล้วในอัตรา 4 ปีต่อ 1 ครั้ง เพื่อรองรับฤดูฝนที่จะมาถึง หากได้รับงบประมาณเพื่อปรับปรุงยกพื้นถนนให้สูงขึ้นทั้ง 10 สาย คาดว่าจะไม่เกิดปัญหาน้ำท่วมเหมือนที่ผ่านมา
ขณะที่ นายศักดิ์ชัย ใสสุข ผู้อำนวยการเขตมีนบุรี เผยว่า ปัจจุบันพื้นที่เขตมีนบุรีเป็นพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมจากปี 2565 มีผู้รับเงินสนับสนุนค่าเสียหายกว่า 5,000 ราย เบื้องต้นสำนักงานเขตปฏิบัติตามแผนป้องกันน้ำท่วมประจำปี 2566 ของ กทม.ว่าด้วยการลอกท่อ ลอกคลอง เปิดทางน้ำไหล จากการสำรวจจุดเสี่ยงปัจจุบันพบว่า มีพื้นที่น่ากังวล ได้แก่ จุดก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มและสายสีชมพู และจุดก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียของสำนักการระบายน้ำ ต้องเฝ้าระวัง เพราะแต่ละจุดมีการปิดท่อตลอดแนวถนนเพื่อการก่อสร้าง ปัจจุบันได้รับงบประมาณประจำปี 2566 ในการปรับปรุงแก้ไขน้ำท่วม และดำเนินการแก้ไขไปแล้วเกือบ 100% รวมถึงได้ของบฯเพิ่มเติมเพื่อวางแนวท่อและยกระดับพื้นถนน อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภากทม.
“ในปีนี้หากมีการควบคุมระดับน้ำในคลองสายหลักโดยสำนักระบายน้ำและกรมชลประทาน ไม่ปล่อยให้น้ำล้นขีดจำกัดของคลอง เขตมีนบุรีจะไม่พบปัญหาน้ำท่วม แต่ปีที่ผ่านมาระดับน้ำเกินค่าวิกฤตของคลอง ทำให้น้ำล้นคลอง ประกอบกับน้ำจากถนนทุกสายของเขตมีนบุรีระบายลงคลองทั้งหมด เมื่อน้ำในคลองล้นตลิ่งจะไม่สามารถระบายออกทางใดได้ เป็นเหตุให้มีปัญหาน้ำท่วมเมื่อปลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะชุมชนริมคลองได้รับผลกระทบอย่างหนัก” ผอ.เขตมีนบุรี กล่าว
นายชัชชญา ขำจันทร์ ผู้อำนวยการเขตลาดกระบัง เปิดเผยว่า เขตลาดกระบังยึดบทเรียนจากปีที่แล้ว มุ่งเน้นไปที่จุดเสี่ยงน้ำท่วมหนัก ได้แก่ ถนนสายหลัก แยกกิ่งแก้ว หน้าโลตัสถนนหลวงแพ่ง ได้ประสานกับสำนักการระบายน้ำเพื่อขอเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติม จากปีที่แล้วต้องใช้เครื่องสูบน้ำถึง 77 เครื่องในการระบายน้ำออกจากพื้นที่ ในปีนี้จึงประสานเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ขึ้น ประกอบกับการเร่งลอกท่อในพื้นที่เขตทั้งหมด อย่างไรก็ตาม เขตลาดกระบังเป็นพื้นที่ต่ำ สิ่งที่ทำได้คือเร่งการระบายน้ำให้เร็วขึ้น ตามจุดเสี่ยงที่เฝ้าระวังไว้ ไม่สามารถป้องกันไม่ให้น้ำท่วมได้ 100%
ส่วนการลอกคลองเพิ่งดำเนินการไปเมื่อปีที่แล้ว คาดว่าจะรองรับน้ำได้คล่องตัวขึ้น ปัจจุบันจึงเน้นการลอกท่อเป็นหลัก เพื่อให้น้ำไหลสะดวกโดยเร็วที่สุด เน้นแก้ไขจุดติดขัดต่างๆ จากบทเรียนปีที่แล้ว โดยเฉพาะท่อระบายน้ำ และขยะอุดตัน เพื่อให้น้ำท่วมขังในเวลาน้อยที่สุด พร้อมกันนี้ ยังเตรียมกระสอบกั้นบังคับทิศทางน้ำบริเวณจุดที่มีถนนต่ำ โดยใช้เครื่องสูบน้ำประจำจุดเข้าช่วย เพื่อให้ทางสายหลักสามารถสัญจรต่อไปได้