ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมสภาการศึกษา ครั้งที่ 1/2566 ร่วมกับกรรมการสภาการศึกษา โดยมี ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการสภาการศึกษา เป็นกรรมการและเลขานุการสภาการศึกษา ร่วมหารือแนวทางการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการสภาการศึกษา 9 คณะ เพื่อวางแผนการยกระดับความสามารถในการแข่งขันทางการศึกษาไทยในเวทีโลกเพื่อขับเคลื่อนการศึกษาไทยในยุคที่มีการปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว 

คุณหญิงกัลยา กล่าวว่า ในปี 2565 IMD ได้จัดอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านการศึกษา ประเทศไทยมีอันดับด้านการศึกษาอยู่ในอันดับที่ 53 มีอันดับดีขึ้น 3 อันดับ เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2564 และอันดับดีที่สุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ดังนั้นคณะกรรมการสภาการศึกษาจึงเร่งศึกษาแนวทางการยกระดับความสามารถในการแข่งขันทางการศึกษาของไทย ได้กำหนดกรอบแนวคิดไว้ 3 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1) ยกระดับผลการประเมิน PISA เป้าหมายคือ เด็กไทยสามารถอ่านออก เขียนได้ คิดเลขเป็น มีทักษะการคิดวิเคราะห์ และสามารถประยุกต์ใช้ความรู้ที่ได้

จากการศึกษามาใช้ในชีวิตประจำวันและการประกอบอาชีพได้ 2) ยกระดับผลการจัด IMD เพื่อให้เด็กไทยทุกคนสามารถเข้าถึงระบบการศึกษาที่มีคุณภาพได้อย่างเท่าเทียม ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาลดลง และการจัดการศึกษามีคุณภาพเพิ่มมากขึ้น 3) ยกระดับผลการจัดอันดับ WEF โดยจัดการศึกษาให้สามารถผลิตกำลังคนสมรรถนะสูงได้เพียงพอต่อความต้องการของตลาดแรงงาน และเด็กไทยทุกคนมีงานทำ มีทักษะที่ตรงต่อความต้องการของตลาดแรงงาน ทั้งนี้คณะกรรมการสภาการศึกษาจะติดตามผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องโดยใช้จุดเน้นในการสื่อสารเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้กลุ่มเป้าหมายและสร้าง Dash Board เพื่อการติดตามและปรับปรุงการดำเนินงานดังกล่าว

คุณหญิงกัลยา กล่าวต่อไปว่า คณะกรรมการสภาการศึกษาได้จัดตั้งอนุกรรมการจำนวน 9 คณะ ได้แก่ 1) ด้านนโยบายและแผน 2) ด้านประเมินผลการจัดการศึกษา 3) ด้านกฎหมาย 4) ด้านมาตรฐานการศึกษา 5) ด้านเครือข่ายการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา 6) ด้านวิจัย เทคโนโลยีดิจิทัล และนวัตกรรมด้านการศึกษา 7) ด้านคุณธรรมจริยธรรม จิตอาสาและสำนึกสาธารณะ 8) ด้านการเรียนรู้ตลอดชีวิตและการศึกษาพิเศษ และ 9) ด้านอำนวยการ เพื่อรองรับการดำเนินงานตามนโยบายของคณะกรรมการสภาการศึกษา โดยในปี 2566 นี้มีโครงการน่าสนใจ เช่น การขับเคลื่อนมาตรการส่งเสริมการลงทุนด้านการศึกษาด้วยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน การพัฒนาครูและผู้ทำหน้าที่ครูทุกช่วงวัย การจัดประชุมสมัชชาการศึกษาระดับภูมิภาคและระดับชาติ ปูทางสานพลังเครือข่ายร่วมก่อนถึงเวที “Educational Policy of Political Party for All : นโยบายการศึกษาที่ประเทศต้องการ” เพื่อออกแบบการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์พื้นที่และทันการเปลี่ยนแปลงของโลก และระบบธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank) มาเป็นปัจจัยเร่งความสำเร็จของการสร้างสังคมการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่แท้จริงต่อไป