วันที่ 20 ก.พ.66 สภากรุงเทพมหานคร นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยแรก ครั้งที่ 1 ประจำปีพุทธศักราช 2566 โดยมี สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ อาคารไอราวัตพัฒนา สภากรุงเทพมหานคร กทม.2 ดินแดง โดยมีเรื่องที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเสนอต่อสภา กทม. คือ ญัตติร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี งบประมาณ พ.ศ. 2566 พ.ศ. ....
นายชัชชาติ กล่าวว่า เงินสะสมจ่ายขาดของ กทม.ที่เหลืออยู่ เมื่อมีโครงการเร่งด่วน สามารถมาขออนุมัติจากสภากทม.ได้ ซึ่งฝ่ายบริหาร กทม.เสนอมาจำนวนเกือบหมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับสำนักการโยธาและสำนักการระบายน้ำ สืบเนื่องจากปัญหาน้ำท่วม งานโครงสร้างที่ยังไม่ได้ลงในพื้นที่เขต ปัญหาถนนชำรุดในเขตกลุ่มตะวันออก โดยเฉพาะเขตมีนบุรี คลองสามวา และลาดกระบัง ซึ่งจะมีงบประมาณจัดสรรลงในกลุ่มเขตนี้จำนวนมาก ส่วนเขตในเมือง อาจจะไม่ค่อยได้รับการจัดสรร เพราะงบประมาณกลางปีเน้นเรื่องที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง คงต้องฟังทาง สภา กทม.ว่าจะมีความเห็นอย่างไร อาจจะต้องตั้งคณะกรรมการวิสามัญเพื่อพิจารณารายละเอียดอีกครั้ง
โดยร่างงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี งบประมาณ พ.ศ.2566 ได้เสนอตั้งงบประมาณจำนวน 9,999,312,010 บาท ระบุว่า กทม.มีความจำเป็นเร่งด่วนในการบริการชุมชนและสังคม และให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ดำเนินการซ่อมสร้าง ช่วยเหลือ ฟื้นฟู และเยียวยาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการเกิดอุทกภัยในหลายพื้นที่ โดยมีการเสนอของบประมาณเพิ่มเติมในส่วน 50 สำนักงานเขต เป็นวงเงิน2,907,669,000 บาท และขอจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติม 8 สำนัก วงเงิน 7,091,643,000 บาท ได้แก่ 1.สำนักการระบายน้ำ 3,900,966,600 บาท 2.สำนักการโยธา 2,585,820,100 บาท 3.สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว136,102,000 บาท 4.สำนักการจราจรและการขนส่ง 33,799,000 บาท 5.สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย61,440,00 บาท 6.สำนักสิ่งแวดล้อม 44,700,000 บาท 7.สำนักการแพทย์ 308,605,900 บาท 8.สำนักอนามัย20,210,000 บาท
นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ส.ก.เขตจอมทอง พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เห็นด้วยกับสิ่งที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเสนอทุกประการ แต่ไม่เข้าใจว่าทำไมไม่มีการเสนอแก้ไขประตูระบายน้ำคลองบางซื่อและประตูระบายน้ำสามเสน ทั้งที่ประสบปัญหาน้ำท่วมหนัก การสูบน้ำและการระบายน้ำทำได้เพียง 30% การไม่เสนอเรื่องดังกล่าวเข้าไปในงบประมาณเพิ่มเติมเป็นเพราะไม่ชอบหน้าตนหรือไม่ และไม่แน่ใจว่ารองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่กำกับสำนักการระบายน้ำสั่งไม่ให้เสนอหรือไม่ โดยเฉพาะ ผอ.สำนักการระบายน้ำ สำหรับตนรู้สึกว่าไม่ค่อยสนใจงานเท่าที่ควร
นายพีรพล กนกวลัย ส.ก.พญาไท พรรคก้าวไกล กล่าวว่า สภากทม. ให้ความเห็นชอบ งบปี 66 ไปแล้ว และฝ่ายบริหารใช้งบไปแล้วเพียง 10% วันนี้มาของบเพิ่มเติม จึงห่วงว่าจะเป็นการซ้ำซ้อนกับงบประจำปีหรือไม่ และเพราะเหตุใดไม่ขับเคลื่อนการใช้งบประมาณประจำปีที่มีอยู่ โดยเฉพาะสำนักการโยธา มีการของบปรับปรุงทางเท้าจำนวนมากแต่กทม.ไม่เคยมีมาตรฐานทางเท้า เมื่อระยะเวลาผ่านไป 2-3 ปี ต้องทำใหม่ อีกทั้งการเว้นระยะทางเท้าหน้าบ้านเรือนประชาชนควรทำเป็นเนินทราย เพื่อให้เจ้าของบ้านขับรถขึ้นไปแทน ขณะเดียวกันให้ผู้ที่เดินเท้าได้รับความสะดวกเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตอีกว่า การของบประมาณ จะขอเฉพาะเพียงการก่อสร้างถนน เท่านั้น ไม่มีการของบในการก่อสร้างทางเท้า ท่อระบายน้ำ ท่อร้อยสายลงดิน ไปพร้อมกัน ทำให้ต้องขุดเจาะหลายครั้งและก่อให้เกิดความไม่สวยงาม ไม่มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ดังนั้นการใช้งบประมาณต้องให้ได้ประโยชน์คุ้มค่าและสวยงาม รวมทั้งต้องครอบคลุมกระจายทุกหน่วยงานให้เท่าเทียมกัน
นายนภาพล จีระกุล ส.ก.เขตบางกอกน้อย พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า แนวทางการปฏิบัติเพื่อของบประมาณควรเป็นโครงการเร่งด่วน แต่พบว่าหลายโครงการไม่เร่งด่วน นอกจากนี้โครงการปรับปรุงถนนตรอกซอยหลายเขตมีปัญหาความล่าช้าเนื่องจากติดขัดเรื่องระบบสาธารณูปโภค ทั้งการไฟฟ้า และการประปา ทำให้หลายโครงการไม่เสร็จตามระยะเวลาที่กำหนด ส่วนการป้องกันน้ำท่วมเห็นด้วยกับการลอกท่อระบายน้ำโดยกรมราชทัณฑ์ แต่หลายเขตกลับยังไม่มีการเซ็นสัญญาว่าจ้างกับกรมราชทัณฑ์แต่อย่างใด บางพื้นที่กรมราชทัณฑ์ดำเนินการล่าช้าในขณะที่ใกล้เข้าฤดูฝนแล้ว ดังนั้นหากเปิดโอกาสให้เขตสามารถใช้วิธีอื่นได้ การลอกท่อระบายน้ำจะเร็วขึ้น หรืออนุมัติให้เขตจัดซื้อรถดูดลอกท่อ ซึ่งจะประหยัดแรงงานและระยะเวลา มีความคุ้มค่า
ทั้งนี้ ที่ประชุมสภากทม.มีมติเห็นชอบรับหลักการแห่งร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 พ.ศ. … และให้แต่งตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติฯ 35 ท่านกำหนดการแปรญัตติภายใน 7 วันทำการ และจะพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 45 วัน นับจากวันที่สภาฯรับร่างข้อบัญญัติฯ เป็นครั้งแรก คือภายในวันที่ 5 เม.ย.66