“เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” พระปฐมบรมราชโองการนับแต่ทรงขึ้นครองสิริราชสมบัติ 70 ปีที่ทรงมีพระราชดำริริเริ่มงานต่างๆ เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขพสกนิกรให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จึงทรงมีพระราชปรารถนาที่จะเสด็จฯไปทรงเยี่ยมราษฎรให้ทั่วทุกแห่ง ไม่ว่าจะป่าลึก ทุรกันดารเพียงใด รวมทั้งเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานคร ยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณทรงปัดเป่าทุกข์ด้วยพระปรีชาสามารถ หนึ่งในนั้นคือ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำเสีย กรุงเทพมหานคร ข้อมูลจากหนังสือ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับการพัฒนากรุงเทพมหานคร ตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ระบุ เมื่อวันที่ 4 เม.ย.2528 เวลา 15.40น. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯตรวจดูการเตรียมการป้องกันน้ำท่วม การขุดคูคลองระบายน้ำตามจุดต่างๆ ในเขตกทม.6 แห่ง ซึ่งสร้างขึ้นตามโครงการป้องกันน้ำท่วมในกทม.และปริมณฑล พร้อมตรวจสภาพน้ำเน่าเสียตามคลองต่างๆ พร้อมผู้ว่าฯกทม.ในขณะนั้นคือ นายอาษา เมฆสวรรค์ และกรมชลประทาน จุดแรกที่เสด็จฯคือ ประตูระบายน้ำคลองเทเวศร์ ถนนสามเสน ได้รับสั่งกับเจ้าหน้าที่ว่า การระบายน้ำออกจากคลองอย่างที่ทำอยู่ในเวลานั้น ยังไม่ถูกระบบ เป็นเพียงสูบน้ำจากภายในออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาอย่างเดียว ทางที่ดีเวลาน้ำทะเลขึ้น ก็ควรปล่อยให้ไหลเข้ามาบ้าง แล้วก็สูบน้ำทิ้ง จะได้ประโยชน์มาก และมีรับสั่งเพิ่มเติม ความว่า “ที่ต้องมาวันนี้ เนื่องจากเป็นหน้าแล้งเดือดร้อนกันมาก เรื่องน้ำเน่า ถ้าดำเนินการให้ระบบน้ำไหลอย่างสะดวก พอหน้าฝน น้ำเน่าก็ต้องหมดไป หรือหน้าฝนน้ำท่วมก็ยังดี อาจเป็นบุญด้วย ในคลองต่างๆ ควรรักษาระดับน้ำในหน้าแล้งให้ได้ 30-40 ซม. น้ำเน่าก็จะหมดไป นอกจากนี้ ท่อระบายน้ำในหลายแห่งก็มีสิ่งอุดตัน...” ทั้งสองพระองค์เสด็จฯไปยังคลองสามเสน เขตห้วยขวาง ในแต่ละจุด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มีพระราชดำรัสแนะนำให้เจ้าหน้าที่แก้ปัญหาน้ำเน่าให้หมดไป เช่น คลองสามเสน ต้องเร่งดึงน้ำจากด้านนอกให้ไหลเข้ามาในคลองให้มาก คลองบางกะปิ คลองแสนแสบ ซึ่งเป็นจุดที่ต่ำมาก ต้องพยายามแก้ไขน้ำเน่าให้หมดโดยเร็ว โดยปล่อยน้ำจากคลองเทเวศร์ คลองสามเสน เข้าคลองแสนแสบ และให้ไหลลงคลองพระโขนง นอกจากนี้ ให้ตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อสูบน้ำออกไป ซึ่งเป็นการจัดระบบระบายน้ำอย่างง่ายๆ ตามธรรมชาติ ส่วนคลองลาดพร้าว มีรับสั่งว่า ให้กรมชลประทานดึงน้ำจากคลองบางเขนมาให้มาก และให้เร่งสูบน้ำ การสูบน้ำในแต่ละจุดนั้น ทรงแนะนำว่า คนเฝ้าสูบหรือเจ้าหน้าที่ประจำสถานีสูบแต่ละแห่ง อย่าให้หลับ ติดต่อโทรศัพท์ไม่ได้ ให้ใช้วิทยุสั่งการ เจ้าหน้าที่จากศูนย์ก็ให้คอยเตือน อย่าฟังแต่รายงาน ควรสั่งงาน เช็คกันทุกๆ ด้าน ให้รายงานเพื่อการทำงานไม่เสียกำลัง น้ำจะได้ไหลสะดวก และไม่เสียกำลังสูบ จุดสุดท้ายที่เสด็จฯคือลำรางยมราช ส่วนเหนือต่อจากหมู่บ้านศูนย์วิจัย ซึ่งเป็นจุดวิกฤติในเขตห้วยขวาง และในลำรางแห่งนี้น้ำเน่ามีสีดำสนิท ทรงแนะนำการแก้ปัญหา และมีพระราชดำริว่า ควรสร้างสะพานข้ามลำรางแห่งนี้ เพื่อใช้สัญจรของประชาชนได้ด้วย ก่อนเสด็จฯกลับ เมื่อเวลา 19.00 น. มีรับสั่งกับผู้ว่าฯกทม.และเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายว่า เดี๋ยวนี้ ใครใคร่สร้าง สร้าง สร้างได้ แต่ไม่มีการควบคุม เจ้าหน้าที่ควรควบคุมบ้าง ต่อไปใครสร้างบ้าน โรงงานต้องทำร่องน้ำ อย่างน้อยประมาณ 50 ซม. เพื่อระบายน้ำ พ.ร.บ.ต่างๆ ก็ควรให้สอดคล้องกับระดับน้ำ อย่างห้วยขวางท่วมหนักทุกปี อย่างบางนา มีการสร้างโรงงานต่างๆ แต่ไม่มีการควบคุมระบบระบายน้ำ ถ้าไม่มีการวางโครงการกันต่อไปในอนาคต ระวังจะเป็นเมืองใต้น้ำและใต้น้ำเน่า การระบายน้ำเสียในอนาคตเป็นที่น่าหนักใจ การจัดทำโครงการขจัดน้ำเสีย ก็ควรรีบทำควรรีบศึกษา เพราะต่อไปราคาวัสดุ ราคาก็ขึ้นไปอีก การทำน้ำเสีย ให้เป็นน้ำดี แม้ว่าจะไม่ได้ผลถึง 100% ก็ควรรีบทำอย่างทันที ในการนี้ ได้มีพระราชดำริให้แก้ปัญหาน้ำเน่าเสีย โดยให้ทำโครงการเล็กๆ ก่อน เพราะถ้ารอต่อไปจะยิ่งไม่มีงบฯ เพราะวัสดุที่มีราคาสูงขึ้น ให้ฤดูฝนให้รักษาระดับน้ำโดยคำนึงการป้องกันน้ำท่วม บรรเทาอุทกภัยเป็นสำคัญ ฤดูแล้ง ตั้งแต่พ.ค.-มิ.ย. ต้องควบคุมระดับน้ำและมาถ่ายเทน้ำเสีย โดยพยายามใช้หลักการไหลตามธรรมชาติ ให้มากที่สุด เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินเครื่องสูบน้ำ ทั้งได้พระราชทานพระราชดำริแก้ปัญหาน้ำเสียในพื้นที่ชั้นใน ว่าควรทำพร้อมกับแก้ปัญหาน้ำท่วมด้วย โดยใช้หลักธรรมชาติ เช่น เวลาน้ำลงให้เปิดประตูระบายน้ำตามคลองต่างๆ ให้ระบายน้ำเน่าออกทะเล หรือคลองที่เชื่อมต่อกันให้เปิดประตูระบายน้ำให้รับน้ำจากคลองต่อเชื่อมกันอย่างต่อเนื่อง สำหรับคูคลองต่างๆ ซึ่งเป็นทั้งแหล่งน้ำและทางระบายน้ำ ได้พระราชทานแนวพระราชดำริเพื่อแก้ปัญหาน้ำเน่าเสียด้วยหลักวิธีง่ายๆ ได้ประโยชน์หลายด้านและเสียค่าใช้จ่ายไม่มากนัก ในลักษณะการสร้าง “ชักโครกเมืองหลวง” จึงเป็นที่มาของ “โครงการสระเก็บน้ำพระราม 9 อันเนื่องมาจากพระราชดำริ” สำหรับบำบัดน้ำเน่าเสียให้ กทม. หรือเป็นชักโครกเมืองหลวง ปัจจุบันสร้างในพื้นที่คลอง 5 และคลอง 6 อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เป็นการขุดสระเก็บน้ำขนาดใหญ่ 2 สระ ขนาด 790 ไร่ และ 1,790 ไร่ ให้กักเก็บน้ำที่มีมากมายในฤดูฝนไว้ใช้ เมื่อน้ำในคลองต่างๆ ของกทม.เน่าเสียเมื่อไร น้ำในสระจะถูกปล่อยให้ไหลไปตามคลอง เชื่อมต่อกับทุกคลองในกทม. โดยจะเข้าไปทำให้ความเน่าเสียของน้ำในคลองต่างๆ เจือจางลง ผลักให้น้ำเน่าเสียที่เจือจางแล้วระบายลงทะเลเหมือนน้ำที่ถูกเก็บไว้ในชักโครก โครงการสระเก็บน้ำพระราม 9 ยังเป็นแหล่งน้ำสำหรับการเกษตรในฤดูแล้ง และกักเก็บน้ำเหนือที่ไหลบ่าในฤดูฝน เป็นแก้มลิงด้านทิศเหนือ เพื่อบรรเทาน้ำท่วมพื้นที่กทม.ได้อีกด้วย... นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้....