นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงปัญหาบ้านเรือนรุกล้ำริมคลองในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า ปัญหาบ้านเรือนรุกล้ำริมคลองมีมานาน โดยเฉพาะคลองเปรมประชากร เป็นคลองระบายน้ำหลักของกรุงเทพมหานคร หากไม่ได้รับการขุดลอกอาจตื้นเขินเกินกว่าจะรับน้ำฝนได้เท่าที่ควร ทำให้ท่วมเอ่อล้นกระทบบ้านเรือนในวงกว้าง แต่ กทม.ทำได้เพียงขอความร่วมมือ เนื่องจากเข้าใจชาวบ้านที่อยู่มานาน เป็นเรื่องที่ไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ ทั้งการสร้างเขื่อน และการขุดลอกคลอง
อย่างไรก็ดี กรุงเทพมหานครได้ประชุมติดตามความคืบหน้าแนวทางการพัฒนาคลองลาดพร้าว คลองเปรมประชากรอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผู้บริหารกรุงเทพมหานครได้เน้นย้ำให้สำนักการระบายน้ำ สำนักงานเขตพื้นที่ และหน่วยงานเกี่ยวข้อง ลงพื้นที่เจรจาสร้างความเข้าใจกับชุมชนที่รุกล้ำแนวก่อสร้างเขื่อน ให้เห็นถึงความสำคัญของส่วนรวมและประโยชน์ที่ได้รับจากการก่อสร้างเขื่อน เพื่อดำเนินการรื้อย้ายสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำให้งานสร้างเขื่อนเป็นไปตามเป้าหมาย
นายพรเลิศ เพ็ญพาส ผู้อำนวยการเขตจตุจักร เปิดเผยว่า ก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงฤดูฝน ยังมีความหนักใจเรื่องบ้านเรือนริมคลองลาดพร้าวที่รุกล้ำพื้นที่ริมคลอง ทำให้ไม่สามารถลอกคลองให้ลึกขึ้นได้ ทั้งยังต้องหยุดโครงการสร้างเขื่อนเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วม ทั้งนี้ โดยพื้นที่ริมคลองลาดพร้าวตลอดจนคลองเปรมประชากรมีบ้านที่รุกล้ำริมคลองกว่า 10,000 หลัง ดังนั้น การจัดการเรื่องนี้เป็นปัญหาที่มีมานาน ยากต่อการแก้ไข เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ต้องการย้ายออก แม้ กทม.จะมีอำนาจดำเนินการทางกฎหมาย แต่ก็ต้องเข้าใจผู้พักอาศัย ในขณะเดียวกัน แผนป้องกันน้ำท่วมก็ดำเนินการไม่ได้ตามเป้า ไม่สามารถขุดลอกคลองได้เพราะกลัวบ้านริมคลองทรุด อาจทำให้คลองเดิมที่มีอยู่ไม่เพียงพอต่อปริมาณน้ำฝนที่จะมาถึง ส่งผลให้น้ำล้นคลองและท่วมเป็นวงกว้าง และกระทบต่อประชาชนคนอื่นๆ ที่ไม่รู้เรื่องด้วย
นายสาโรจน์ พลฤทธิ์ ผู้อำนวยการเขตดอนเมือง กล่าวว่า ในพื้นที่เขตดอนเมืองมีบ้านเรือนที่รุกล้ำคลองเปรมประชากรกว่า 2,000 หลัง ทั้งบนผิวน้ำและบนบก ปัจจุบันมีบ้านเรือนที่ยอมย้ายออกแล้วครึ่งหนึ่งของจำนวนที่มีอยู่ โดยรัฐจะสนับสนุนเงินเช่าบ้านให้ 8-9 เดือน ระหว่างก่อสร้างบ้านมั่นคง หรือจนกว่าจะก่อสร้างเสร็จพร้อมเข้าอยู่อาศัย แต่อย่างไรก็ตาม การย้ายออกต้องย้ายออกทั้งหมดถึงจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ จึงต้องเจรจาหารือกับชาวบ้านที่ไม่ยอมย้ายออกต่อไป เบื้องต้นชาวบ้านที่ไม่ยอมย้ายออกยื่นข้อเรียกร้องให้รัฐสนับสนุนเงินในการย้ายออกจำนวน 400,000-500,000 บาทต่อหลังคาเรือน จึงจะยอมย้ายออก ซึ่งไม่มีงบประมาณสนับสนุนส่วนที่ชาวบ้านร้องขอ เพราะจำนวนเงินค่อนข้างสูง โครงการเกี่ยวกับระบบระบายน้ำจึงต้องหยุดชะงักอย่างไม่มีกำหนด ทั้งการขุดลอกคลอง และการสร้างเขื่อน