วันที่ 19 ก.พ.66 มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานอาชีพ เครือข่ายลูกจ้างทำงานบ้านในประเทศไทย ได้จัดเวทีสาธารณะ “ประกันสังคมนั้นสำคัญไฉน กับลูกจ้างคนทำงานบ้าน” ณ โรงแรมแกรนด์ปาลาซโซ รัชดา โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความตระหนักให้แก่สังคมเรื่องการจัดสวัสดิการสังคมแก่ลูกจ้างทำงานบ้าน และที่สำคัญคือให้พรรคการเมืองได้ชี้แจงนโยบายของพรรคที่เกี่ยวข้องกับการจัดสวัสดิการแก่ลูกจ้างทำงานบ้าน
นางพูลทรัพย์ สวนเมือง ตุลาพันธ์ ประธานมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานอาชีพ กล่าวว่า แม้ว่ากฎกระทรวงแรงงาน ฉบับที่ 14 จะมีการประกาศใช้เพื่อคุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้าน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 แต่ลูกจ้างทำงานบ้านยังเข้าไม่ถึงสิทธิประกันสังคม
“ตามมาตรา 33 ในกฎหมายประกันสังคมยังยกเว้นลูกจ้างทำงานบ้าน ทำให้ลูกจ้างเหล่านี้ต้องไปเข้ามาตรา 40 ซึ่งเป็นการจ่ายสมทบฝ่ายเดียว และให้สิทธิประโยชน์ที่น้อย ลูกจ้างหลายคนเลือกที่จะไม่เป็นผู้ประกันตน ซึ่งคนกลุ่มนี้จะไม่ได้รับการดูแลจากสังคมเลย เช่น ช่วงสถานการณ์โควิดระบาด ลูกจ้างเหล่านี้ไม่ได้รับการชดเชย เพราะไม่ได้เป็นผู้ประกันตน ในขณะที่กลุ่มประเทศอาเซียน ยอมรับว่า ลูกจ้างทำงานบ้านเป็นผู้ใช้แรงงานคนหนึ่ง เพราะเรามีนายจ้างที่ชัดเจน เราควรได้สิทธิเท่ากับแรงงานทุกคน” นางพูลทรัพย์ กล่าว
ขณะที่นาย Nuno Meira Simoes Cunha ผู้แทนองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ( ILO ) ได้นำเสนอรายงานการทบทวนนโยบายประกันสังคมสำหรับแรงงานทำงานบ้านในประเทศไทย โดยระบุว่า ในประเทศไทย มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่างค่าจ้างลูกจ้างทำงานบ้านกับลูกจ้างอื่นๆ โดยข้อมูลจากรายงานบอกว่า ครึ่งหนึ่งของแรงงานทำงานบ้านมีรายได้ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ ในขณะที่ความคุ้มครองด้านการประกันสังคมในกลุ่มแรงงานทำงานบ้านต่ำกว่าประชากรทั่วไป หากพิจารณาจากข้อจำกัดทางกฎหมายในการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนกรณีภาคบังคับ จึงเป็นไปได้ว่าผู้ประกันตนส่วนใหญ่เข้าร่วมในภาคสมัครใจ ซึ่งหมายความว่าแรงงานทำงานบ้านส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงการคุ้มครองการว่างงานหรือประกันบาดเจ็บ และเจ็บป่วยจากการทำงาน
“จากที่เคยสัมภาษณ์นายจ้าง นายจ้างส่วนใหญ่เห็นด้วยที่จะให้ลูกจ้างทำงานบ้านเข้ามาตรา 33 ของกฎหมายประกันสังคม แต่ในทางกฎหมายไม่สามารถดำเนินการได้”ผู้แทนไอแอลโอ กล่าว
ทั้งนี้ รายงานดังกล่าวได้นำเสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย โดยขอให้ขยายความคุ้มครองทางกฎหมาย โดยยกเลิกบทบัญญัติที่เป็นข้อยกเว้นที่มุ่งเป้าไปที่แรงงานทำงานบ้าน คือมาตรา 33 ของพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 และให้พิจารณารวมความคุ้มครองงานบ้านในกฎหมายให้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยแก้ไขบทบัญญัติที่เป็นข้อยกเว้นภายใต้พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 และพระราชกฤษฎีกา พ.ศ.2560 ภายใต้พระราชบัญญัติประกันสังคม โดยให้ความสำคัญกับการปฏิรูปพระราชบัญญัติเงินทดแทนเพื่อขยายสิทธิประโยชน์โดยเร็วที่สุด