อาชีวะ อบรมครูสอนประวัติศาสตร์ หารูปแบบสอนไม่น่าเบื่อ พาไปดูสถานที่จริงเด็กซึมซับเข้าใจได้ นายวณิชย์ อ่วมศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.)มีนโยบายส่งเสริมให้สถานศึกษาอาชีวศึกษาทั้งรัฐและเอกชนจัดการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์เป็นวิชาเลือกบังคับ ตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่ง สอศ.ได้มีการพัฒนาหลักสูตร พัฒนาครู และพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ประวัติศาสตร์ของชาติ และประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ที่จะต้องมีวิธีหรือรูปแบบการจัดการเรียนการที่ไม่ให้น่าเบื่อหน่ายและจำเจ โดยจะเน้นให้เด็กได้ทำกิจกรรมนอกห้องเรียนมากขึ้น ได้ไปดูสถานที่จริง โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่เด็กจะต้องเรียนรู้ เพื่อให้เกิดความตระหนัก รักถิ่นฐานมากขึ้น ที่สำคัญจะทำให้เด็กเกิดความรักในชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และความสามัคคีปรองดอง เพราะเด็กจะได้เรียนรู้ถึงความเป็นมาของประเทศชาติ ความเสียสละของบูรพมหากษัตริย์ที่ทรงกอบกู้ชาติบ้านเมืองและรักษาให้อยู่มาได้ถึงวันนี้ "เราพัฒนาครูให้สอนวิชาประวัติศาสตร์โดยเน้นให้เด็กคิดวิเคราะห์ ไม่ใช่ท่องจำ เพื่อให้เกิดความเข้าใจประวัติศาสตร์มากขึ้น  ซึ่งจะทำให้การเรียนการสอนไม่น่าเบื่อ โดยร่วมมือกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร(กอ.รมน.) ให้ความรู้แก้ครูผู้สอนในการจัดกิจกรรมที่เน้นการทำกิจกรรมนอกห้องเรียน โดยได้ทยอยจัดอบรมครูและผู้บริหารสถานศึกษาในพื้นที่ภาคกลางและตะวันออกเฉียงเหนือไปแล้ว และกำลังจะจัดอบรมในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคตะวันออก เพื่อให้ไปขยายผล และให้วิทยาลัยอาชีวศึกษาทั้งรัฐและเอกชนทุกแห่งเริ่มจัดการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ได้ในปีการศึกษา 2560" รองเลขาธิการ กอศ. กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม ภาคเรียนที่ผ่านมามีบางวิทยาลัยนำร่องการจัดการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์เป็นวิชาคับเลือกไปแล้ว เช่น วิทยาลัยการอาชีพสองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี  วิทยาลัยเทคนิคโพธาราม จ.ราชบุรี ซึ่งได้ผลเป็นที่น่าพอใจ