วันที่ 18 ก.พ.66 ที่สำนักงานเขตลาดกระบัง นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังร่วมประชุมติดตามการดำเนินงานในกิจกรรมผู้ว่าฯสัญจร เขตลาดกระบัง ว่า เขตลาดกระบังมีพื้นที่ประมาณ 120 ตารางกิโลเมตร ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของกรุงเทพมหานคร มีประชากรกว่า 178,527 คน สูงเป็นอันดับ 7 ของกรุงเทพมหานครมีถนนประมาณ 643 สาย มีซอย 673 ซอย แบ่งเป็นซอยของ กทม. 343 ซอย และของเอกชน 330 ซอย มีถนนสายหลัก 9 สาย ถนนสายรอง 4 สาย มีคลอง 65 คลอง

 

ปัญหาที่พบคือการกระจายตัวของประชากรและระบบสาธารณูปโภคค่อนข้างมาก โดยช่วงฤดูฝนมีปัญหาเรื่องการระบายน้ำจากคลองประเวศบุรีรมย์ย้อนกลับไปออกคลองพระโขนง หากจะระบายออกทางฝั่งตะวันออกต้องผ่านประตูระบายน้ำไปยังคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต การป้องกันน้ำท่วมของเขตลาดกระบังในปีนี้ ต้องขุดลอกคลอง ลอกท่อและทำระบบระบายน้ำ ปัจจุบันพบปัญหาขาดแคลนแรงงานจากกรมราชทัณฑ์ ทำให้การขุดลอกท่อดำเนินการช้าเบื้องต้นกำลังประสานภาคเอกชนดำเนินการแทน เนื่องจากเป็นเรื่องเร่งด่วน ไม่สามารถรอได้ โดยจะเริ่มจ้างเอกชนมาขุดลอกท่อช่วงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ ส่วนเรื่องขุดลอกคลอง เขตลาดกระบังดำเนินการทั้งหมด 9 คลอง อาจต้องเพิ่มงบประมาณจากส่วนกลางเข้าช่วย พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำ โดยประสานกับสำนักการระบายน้ำและกรมชลประทาน เพื่อระบายน้ำไปยังฝั่งตะวันออก จากการหารือ คาดว่าจะควบคุมได้ในระดับหนึ่ง ในการรับมือน้ำท่วมปีนี้

 

สำหรับการสูบน้ำออกจากพื้นที่ แต่เดิมต้องมีระดับน้ำสูงตามเกณฑ์ที่กำหนดถึงจะทำการสูบออกได้ จากการหารือเห็นตรงกันว่าควรลดเกณฑ์ระดับน้ำจากเดิมลง เพื่อความมั่นใจในการควบคุมระดับน้ำมากขึ้น โดยเฉพาะจุดอ่อนอย่างถนนหลวงแพ่ง และจุดที่มีการสร้างสะพานยกระดับ ปัจจุบัน เขตลาดกระบังมีผู้เสียหายจากน้ำท่วมปี 2565 จำนวน15,000 ราย 

 

นอกจากนี้ ยังได้เร่งรัดให้ดูแลโรงเรียนทั้ง 20 แห่งในพื้นที่เขตลาดกระบัง เน้นย้ำเรื่องความปลอดภัย โดยเฉพาะโรงเรียนที่มีลิฟต์สำหรับผู้พิการ หวั่นเกรงจะเกิดการทรุดตัวจึงต้องรื้อถอนออกไป รวมถึงเน้นย้ำเรื่องคุณภาพโรงอาหาร ห้องน้ำ และอาหารกลางวัน กทม.ให้ความสำคัญกับคุณภาพและความโปร่งใส ซึ่งเขตลาดกระบังได้จัดตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลเรื่องนี้ โดยมีผู้ปกครองนักเรียนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในคณะกรรมการชุดนี้ด้วย เพื่อช่วยกันดูแลคุณภาพและความโปร่งใสในโรงเรียนมากขึ้น