บทความพิเศษ / ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น)

มีคำกล่าวว่าการปฏิรูปนั้น หากไม่จริงใจไม่มีเวลา ก็ไม่จำต้องใช้คำว่า “ปฏิรูป” เพราะการปฏิรูปเป็นการปรับปรุง แก้ไข รวมการยกเครื่องใหม่ ที่เรียกว่า reform แต่ไม่ถึงขนาดต้องไปปฏิวัติยกเลิกอะไร เป็นการกลับเนื้อกลับตัว ไม่จำเป็นต้องทำอะไรก็ได้ เพียงแต่การเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่ผิดพลาด ที่ไม่น่าพอใจ จนอยู่ในระดับที่พึงประสงค์ และเป็นที่พอใจยอมรับได้จากทุกฝ่าย ไม่ว่าในแนวทาง วิธีการที่มีอยู่เดิม รวมถึงการพัฒนานิสัยบุคลากรก็ได้ แต่อย่าได้อ้างการปฏิรูปเลย ด้วยปัญหาที่หมักหมมมานาน อ้างว่าไม่พร้อม ไม่มีงบ ไม่มีวัสดุอุปกรณ์ แล้วเมื่อไหร่จึงจะได้ปฏิรูป กำลังกล่าวถึงองค์กรตำรวจที่เป็นต้นทางของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เป็นที่ทราบดีว่า “การปฏิรูปการศึกษา” กับ “การปฏิรูปตำรวจ” เป็นภารกิจวาระเร่งด่วนแห่งชาติ (Quick Win) ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 โดยเฉพาะมาตรา 258 ง. ด้านกระบวนการยุติธรรม (4) ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ โดยแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับหน้าที่ อำนาจ และภารกิจของตำรวจให้เหมาะสม และแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตำรวจให้เกิดประสิทธิภาพ  

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (Royal Thai Police) เป็นส่วนราชการที่อยู่ในบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี จัดตั้งขึ้นใน พ.ศ.2541 เปลี่ยนมาจากกรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทย มีกำลังพลประมาณ 230,000 นาย ด้วยสัดส่วนประมาณ 16% ของกำลังพลฝ่ายพลเรือนทั้งหมด(ไม่รวมทหาร) ด้วยงบประมาณปี 2566 สูงถึง 1.15 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นงบบุคลากรถึง 71% จึงเป็นองค์กรที่สำคัญมากองค์กรหนึ่ง

ดังที่มีผู้กล่าวถึงหายนะของประเทศไทยว่า (1) มีนักการเมืองชั่ว (2) มีข้าราชการชั่ว (3) มีประชาชนชั่ว และ (4) มีสื่อมวลชนชั่ว ซึ่งข้าราชการชั่ว คือ ทหาร ตำรวจ ข้าราชการพลเรือน ข้าราชการการเมือง ครบทุกหมู่เหล่า ข้าราชการตำรวจเป็นข้าราชการกลุ่มหนึ่งในนั้น ที่มีอาวุธ มีอำนาจ กึ่งทหารกึ่งพลเรือน ซึ่งในระยะหลัง มีการวิพากษ์ว่ากระบวนการยุติธรรมไทยบิดเบี้ยว เช่น มีคดีแพะ คดีเชอรี่แอน (จำคุกคนที่ไม่ผิดปั้นพยานเท็จ, 2529) คดียาเสพติดและฟอกเงิน (ติดคุกฟรี 2 ปีโดยไม่ผิด, 2563) คดีถุงดำ (ซ้อมทรมาน, 2565) จนกระทั่งในที่สุด มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 หรือ "พ.ร.บ. อุ้มหาย" ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 โดยหวังว่ากฎหมายฉบับนี้จะเป็นการปฏิรูปยกเครื่องตำรวจได้ อย่างเช่น ปัญหาการ “รีดส่วย” และ “ส่งส่วย” อีกต่อไป ด้วยเงื่อนไข “การจับกุม” และ “ผูกขาดอำนาจสอบสวน” “ทุกคดี” ไม่มีใครสามารถตรวจสอบได้ เป็น "กฎหมายปราบตำรวจสายโจร” ที่ “รีดทรัพย์” “จับคนเรียกค่าไถ่-ส่งส่วย” เหล่านี้ เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันประเทศไทย (2566) เห็นว่ามันเป็นตัวก่อให้เกิดปัญหาคอร์รัปชันในการซื้อขายตำแหน่งบิ๊กข้าราชการสูงถึง 400 ล้าน

ในปี 2565 มีเหตุอีกหลายครั้ง ตามมาติดๆ คือ เหตุกราดยิงศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ศพด.) เหตุการณ์ทุจริตการสอบ รร.พลตำรวจภาค 9 รวมถึงข่าวตำรวจพัวพันทุนจีนสีเทา มาเปิดประเด็นมาอีกครั้งจากเหตุกราดยิง ศพด.อบต.อุทัยสวรรค์ อ.นากลาง จ.หนองบัวลำภู เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2565 มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า "การปฏิรูปตำรวจเหลว" เป็นวัวหายยังไม่ได้ล้อมคอก ด้วยปัญหาที่สะสมที่หนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่เห็นมีการแก้ไขอย่างเป็นระบบ ปัญหายาเสพติดที่เกี่ยวข้องกับอำนาจในระบบและอำนาจนอกระบบ ยาเสพติดที่เกี่ยวข้องกับคนในเครื่องแบบ ยาเสพติดที่เกี่ยวข้องกับผู้มีอำนาจ ฯลฯ การจัดหาและครอบครองอาวุธที่น่าสงสัย การบริหารความเสี่ยงของกำลังพลที่เป็นปัญหา ฯลฯ

หมอประเวศเสนอปฏิรูประบบพิทักษ์สันติราษฎร์

ศ.นพ.ประเวศ วะสี (7 ตุลาคม 2565 ) เผยแพร่บทความเรื่อง "โศกนาฏกรรมหนองบัวลำภู ฟางเส้นสุดท้ายต้องปฏิรูประบบพิทักษ์สันติราษฎร์" มีเนื้อหาสำคัญคือ

(1) การกระจายอำนาจไปสู่ชุมชนท้องถิ่น และระบบความปลอดภัยของชุมชนท้องถิ่นก็จะส่งผลให้ประชาชนมีความปลอดภัยสูง ตำรวจทั้งประเทศมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี เป็นที่รักของประชาชน ไม่เครียดอีกต่อไป

(2) ปฏิรูปบทบาทขององค์กรตำรวจส่วนกลางที่เหลือกำลังพลน้อย เพราะตำรวจเกือบทั้งหมดไปขึ้นกับชุมชนท้องถิ่นแล้ว องค์กรตำรวจส่วนกลางแม้มีขนาดเล็กแต่มีบทบาทใหญ่ คือ (2.1) สนับสนุนระบบตำรวจทางวิชาการ (2.2) บทบาททางนโยบาย (2.3) เสริมกำลังตำรวจชุมชนท้องถิ่นในกรณีมีปัญหาที่เกินความสามารถของกำลังในชุมชนท้องถิ่น ในทางวิชาการนั้น ต้องวิจัยสำรวจความปลอดภัยของประชาชนทั่วประเทศ และนำมาสังเคราะห์เป็นนโยบายและยุทธศาสตร์ความปลอดภัยของประชาชนทั้งประเทศ และทำการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์ ทำโครงการฝึกอบรมตำรวจทั้งประเทศให้มีคุณธรรมและสมรรถนะสูง ตำรวจส่วนกลางก็ควรมีเงินเดือนและสวัสดิการสูงเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี ดังนี้ ตำรวจทั้งประเทศจะเป็นคนเก่งและคนดี เป็นที่รักของประชาชน ไม่เป็นต้นเหตุของโศกนาฏกรรม แต่เป็นผู้ป้องกันโศกนาฏกรรมทางสังคม

(3) กลไกในการปฏิรูประบบพิทักษ์สันติราษฎร์คือคณะกรรมการอิสระปฏิรูประบบตำรวจ หลักการของคณะกรรมการอิสระ อันได้แก่ การเฟ้นหาประธานซึ่งมีปัญญาบารมีเป็นที่เชื่อถือของสังคมแล้วให้ประธานเลือกกรรมการเอง โดยรัฐบาลไม่เข้าไปเกี่ยวข้องนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระตามข้อเสนอของประธาน รัฐสนับสนุนและเอื้ออำนวยความสะดวกในการทำงานของคณะกรรมการอิสระทุกทาง เสนอ ดร. กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ เป็นประธานคณะกรรมการอิสระปฏิรูประบบตำรวจท่านเป็นอดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม มีแนวคิดเรื่องการปฏิรูประบบความยุติธรรมแนวคิดประสบการณ์เรื่องระบบความยุติธรรมชุมชน ซึ่งพบว่าตำรวจคนเดียวกัน ถ้าอยู่ในระบบความยุติธรรมแนวดิ่งจะเป็นที่เกลียดชังของประชาชน แต่ถ้าอยู่ในระบบความยุติธรรมชุมชนจะเป็นที่รักของประชาชน แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า “ระบบ” กำหนดพฤติกรรมของบุคคล ไม่ใช่ กรรมส่วนบุคคลอย่างเดียว จึงสมควรปฏิรูประบบ

ผลวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL)อยากปฏิรูปตำรวจ

เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2565 ซูเปอร์โพลหนุนปฏิรูปตำรวจ คุมเกม-หนัง-ซีรี่ส์รุนแรง สลดใจกราดยิงหนองบัวลำภู จากผลสำรวจ เรื่อง หยุดเหตุรุนแรงในสังคมไทย กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวน 1,125 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 7-8 ตุลาคม 2565 โดยมีค่าความคลาดเคลื่อนจากการกำหนดขนาดตัวอย่างบวกลบร้อยละ 3 ในช่วงความเชื่อมั่นร้อยละ 95 ประชาชนคนไทยส่วนใหญ่หรือร้อยละ 93.0 สลดใจ หดหู่ใจ กับข่าวเหตุรุนแรงและการสูญเสียในจังหวัด หนองบัวลำภู ในขณะที่ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 91.5 กลัว จะมีการลอกเลียนแบบเกิดซ้ำ ที่น่าพิจารณาคือ ความต้องการของประชาชน ด้าน งานตำรวจ หยุดเหตุรุนแรงในสังคมไทย พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 58.3 ต้องการให้ ปฏิรูปงานตำรวจ จะช่วยหยุดเหตุรุนแรงและดีต่อสังคมไทยแท้จริง ยั่งยืน รองลงมาคือ ต้องการให้ บังคับใช้กฎหมายเข้มงวด คุมอาวุธปืน การตั้งด่าน ป้องกันเหตุ ร้อยละ 54.6 และต้องการให้มี ตำรวจชุมชน เกิดขึ้นในระบบงานตำรวจ ที่มากกว่า ตำรวจชุมชนสัมพันธ์ กำกับคุณภาพงานตำรวจ โดยตำรวจอำเภอ จังหวัด ภาคและระดับประเทศ ร้อยละ 51.5

การพนันฟุตบอลสร้างรายได้ กม.พนันล้าสมัย ควบคู่ปฏิรูปตำรวจ

พรรคประชาธิปัตย์ (14 ธันวาคม 2565) จัดเวที ฟัง-คิด-ทำ “พนันบอล” ควรหยุดหรือถูกกฎหมาย? โดย รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การพนันฟุตบอลอยู่ในสังคมทุกประเทศ ต้องทำให้การพนันมิใช่เรื่องใต้โต๊ะ เพื่อง่ายต่อการควบคุม เช่น ในอังกฤษการพนันฟุตบอลเป็นเรื่องที่ถูกกฎหมาย มีกฎหมายการพนันมาตั้งแต่ปี 1960 และหลังจากนั้นปี 2005 ก็ยังได้มีการปรับปรุงเพิ่มมาตรการควบคุมไม่ให้มีการโฆษณาไปถึงเยาวชน และจะต้องมีการให้ความรู้กับประชาชน ทั้งนี้ในส่วนของการพนันฟุตบอลซึ่งมีคนที่เข้าไปเกี่ยวข้องน้อยกว่าการพนันประเภทอื่น แต่มูลค่ากลับสูงที่สุด อย่างเช่น ในประเทศไทย ปี 2564 มีเม็ดเงินหมุนเวียนในวงการพนันฟุตบอล 180,000 ล้านบาท คิดเป็น 1.12% ของ GDP แต่พบว่าคนที่เล่นการพนันแล้วโอกาสที่จะออกจากการพนันได้ยากมาก ดังนั้นเราจะสร้างความสมดุลได้อย่างไร เพราะตัวเลขเศรษฐกิจก็ต้องการ หากจัดเก็บภาษีนำมาพัฒนาประเทศได้ก็จะเป็นสิ่งที่ดี ส่วนเรื่องของกฎหมายการพนันไทยยังล้าสมัยไม่ทันต่อรูปแบบการพนันที่มีการปรับเปลี่ยน

หากประเทศไหนทำให้ถูกกฎหมายก็ต้องมีการกำหนดกรอบกติกาในการควบคุมไว้ค่อนข้างมาก ส่วนกรณีของประเทศอังกฤษนั้นสิ่งหนึ่งที่นอกจากมีการออกกฎหมายให้การพนันถูกกฎหมายแล้ว ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่มีการดำเนินการไปควบคู่กัน คือ การปฏิรูปตำรวจอย่างจริงจัง เพราะถือว่าเป็นเรื่องที่มีความเกี่ยวข้องกัน จึงต้องปฏิรูปเพื่อให้เกิดความเข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ เพราะเมื่อมีการทำการพนันให้ถูกกฎหมายก็ต้องมีการปราบในส่วนที่ผิดกฎหมายด้วย เนื่องจากการตรากฎหมายเพียงอย่างเดียวไม่สามารถทำให้การพนันที่ผิดกฎหมายหมดไปได้

ข่าวการทุจริตสอบ รร.นายสิบตำรวจ

มีข้อสังเกตข่าวทุจริตการสอบเข้าเรียนรวมการสอบแข่งขันของราชการไทย พบว่า ทุจริตการสอบมีแทบทุกวงการ ทั้ง นร.แพทย์ วิศวะ ตำรวจ ผช.ครู โดยเฉพาะตามข่าวท้องถิ่นที่ผ่านมา สอบพนักงาน อบต.ยิ่งเยอะ ด้วยระบบอุปถัมภ์ลูกหลานหัวคะแนนเต็มสำนักงาน จนมีเสียงตำหนิว่า อบต.พนง.มีเยอะกว่างาน มีตัวอย่างแย่ๆ เช่น ข่าวการสอบแข่งขันช่วงปี 2555-2556 ผู้สอบได้จ่ายค่าสอบสูงถึงหัวละ 6 แสนบาท บรรจุแล้ว 1 ปี ก็ให้ไปหาที่อยู่ อบต.ใหม่ โดยที่ใหม่เสียค่าเปิดตำแหน่ง 1 แสน ใครยังหาที่ใหม่ไม่ได้ตามกำหนดก็ถูกกดดันด้วยวิธีต่างๆ จนต้องกู้หนี้ยืมสินไปทำให้ได้ วกมาข่าวทุจริตการสอบเข้า รร.นายสิบตำรวจ กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 (ภ.9) เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2565 พบผู้เข้าสอบนำโพยคำตอบเข้าไปในห้องสอบ 1 คน หลังจากที่มีผู้จ่ายเงินให้กับนายหน้าเพื่อซื้อข้อสอบ และกลุ่มผู้จ่ายเงินที่สอบไม่ได้ ได้มีการแจ้งความ ที่ สภ.เมืองสงขลาแล้ว มีการสืบสวนขยายผลจนพบมีผู้ร่วมกระทำความผิดรวม 73 คน วงเงินทุจริตหมุนเวียนสะพัดถึง 30 ล้าน สืบสาวไปมาพบมีทุจริตอีก 19 กลุ่ม 365 คน

ตอกย้ำการเลือกปฏิบัติ สองมาตรฐาน และผลประโยชน์ส่วนตน

ข่าวการจับยึดดาราสาวนักท่องเที่ยวชาวไต้หวันผู้ครอบครองบุหรี่ไฟฟ้า (บารากู่ไฟฟ้า) และรีดเงิน 27,000 บาท เหตุเกิดท้องที่ สน.ห้วยขวาง ขณะตั้งด่านตรวจหน้าสถานทูตจีน เมื่อคืนวันที่ 4 มกราคม 2566 ข้อหาผิดกฎหมาย นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 และ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2562 ทั้งๆ ที่บุหรี่ไฟฟ้ามีขายกันทั่วไปในย่านนักท่องเที่ยว เป็นต้น ทำไมไม่กวาดล้าง แต่รอให้มีคนมาซื้อก่อนจึงตามจับ

โปรดเกล้าฯ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565

ตั้งแต่ริเริ่มปฏิรูปตำรวจมาร่วม 8 ปี รัฐบาล (คสช.) ตั้งกรรมการหน้าซ้ำคนเดิมๆ หลายชุดถึง 6 ชุด แต่ผ่านกฎหมายสำคัญหากไม่นับ พ.ร.บ. อุ้มหาย เพียงฉบับเดียว คือ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 ซึ่งให้ยกเลิกพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 ประกาศราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2565 กำหนดบัญชีอัตราเงินเดือนตำรวจประเภทที่มียศ และ บัญชีอัตราเงินประจำตำแหน่ง 3 ประเภท ยุบเลิกกองบังคับการตำรวจรถไฟ (บก.รฟ.) ตามมาตรา 163 มีการระบุ ยุบเลิก กองบังคับการตำรวจรถไฟ (บก.รฟ.) ภายใน 1 ปี นับตั้งแต่ พ.ร.บ.ดังกล่าว มีผลใช้บังคับ (17 ตุลาคม 2565) มีสาระสำคัญ ได้แก่

มาตรา 163 "เมื่อครบหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้กองบังคับการตำรวจรถไฟเป็นอันยุบ และให้โอนเงินงบประมาณของการรถไฟแห่งประเทศไทยในส่วนที่ได้รับจากงบประมาณแผ่นดินสำหรับเงินเดือน ค่าตอบแทน และค่าใช้จ่ายอื่นของข้าราชการตำรวจในกองบังคับการ ตำรวจรถไฟ มาเป็นของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาตินำอัตรากำลังจากกองบังคับการตำรวจรถไฟตามวรรคหนึ่ง ไปดำเนินการจัดสรรเพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 12"

ก็เพราะเหตุกราดยิงฟันที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กใช่ไหม จึงได้หันมาทบทวนองค์กรตำรวจกัน ที่จริงไม่ต้องรอเหตุกราดยิงใดๆ "ตำรวจ" ก็คือเป้าหมายแห่งการปฏิรูปมานานแล้ว เพราะตำรวจเป็น "ต้นทางแห่งกระบวนการยุติธรรมทางอาญา" ที่เกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคล ตามหลัก "The Rule of Law" หรือ "Due process of law" อันเป็นหลักพื้นฐานแห่งกฎหมายของโลกในค่ายเสรีประชาธิปไตย ดังที่ปรากฏตาม "หลักนิติธรรม" ในบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า “การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์การ ตามรัฐธรรมนูญและหน่วยงานของรัฐ ต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม” และแท้จริงแล้ว ยังคงปรากฏข้อมูลแย่ๆ ที่ซ่อนไว้ใต้พรมอีกทั้งสีดำ สีเทา มากมาย ไม่ว่าจะซุกซ่อนด้วยความจงใจหรือไม่ตั้งใจหรืออายหรือนายสั่งหรือเหตุรอประทุอื่นใดก็ตาม

คอร์รัปชันในการซื้อขายตำแหน่งราชการ มันสามารถทำลายศักดิ์ศรีข้าราชการ ทำร้ายคนไทย ทำลายระบบ และทำลายชาติ เพราะหากปล่อยให้เหล่าคนโกงได้ครองเมืองอย่างย่ามใจ บ้านเมืองจะไม่มีขื่อมีแป การบังคับใช้กฎหมาย และการปฏิบัติตามกฎหมาย (Law Enforcement and Legal & Law Compliance) จะไร้ผล ความยุติธรรม และความเป็นธรรมหาเกิดไม่ ใจคอคนไทยจะเอากันอย่างนี้จริงๆ หรือ