สัปดาห์พระเครื่อง / อ.ราม วัชรประดิษฐ์
พูดถึงสุดยอด "เครื่องรางของขลังทางด้านความรักและมหาเสน่ห์" แห่ง "แผ่นดินล้านนา" เมืองเหนือของไทยเราที่สืบทอดกันมาช้านานนั้น ทุกคนต้องบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า "อิ้น" ชาวล้านนาเชื่อว่า การที่ได้มี "อิ้น" ไว้บูชา จะทำให้มีคนเมตตารักใคร่ ถ้าบูชาไว้ในเคหสถานก็จะทำให้ผู้คนในบ้านนั้นรักใคร่ปรองดองกัน ถ้าบูชาไว้กับตัวก็จะทำให้มีเสน่ห์เมตตามหานิยม อุดมด้วยโชคลาภ ข้าวของเงินทองไหลมาเทมา ค้าขายรุ่งเรือง มีแต่ความร่มเย็นเป็นสุข "อิ้น" จึงเป็นหนึ่งในเครื่องรางยอดนิยมตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบันไม่เสื่อมคลาย
ประวัติความเป็นมาของ "อิ้น" นั้น ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าชนชาติใดคิดสร้างเป็นชาติแรก มีเพียงตำนานซึ่งมากมายหลายหลากต่างกันไปตามภูมิภาค บางท่านว่า "อิ้น" มาจากทิเบตซึ่งมีความเชื่อเรื่องศักดิ์สิทธิ์ว่า หญิงชายเสพสมกันจะทำให้เกิดสิ่งมีชีวิต การมีชายหญิงร่วมกัน เป็นตัวแทนของการเกิด การงอกงาม และความสมดุล (หยิน หยาง) และสืบทอดกันเข้ามาทางพม่า บางท่านก็ว่าเป็นการสร้างเพื่อระลึกถึงหญิงชายคู่แรกของโลก เป็นต้นสำหรับประเทศไทย ความเชื่อเรื่อง "อิ้น" เริ่มเข้ามาทางล้านนา ซึ่งอาจสืบทอดเข้ามาทางพม่า ต่อมาขยายไปยังภาคอีสาน ภาคกลาง ณ ปัจจุบัน "อิ้น" กลายเป็นเครื่องรางของขลังที่เป็นที่นิยมกันทั่วประเทศ มีพระเกจิอาจารย์หลายสำนักนิยมจัดสร้างกัน และแต่ละท่านจะมีวิธีปลุกเสกเฉพาะตัว โดยคำนึงถึงพุทธคุณว่าด้วยเมตตามหานิยมและโภคทรัพย์เป็นหลัก เป็นความเชื่อในลักษณะเดียวกับการเอาส่วนต่างๆ ของสัตว์มาพกติดตัวเป็นเครื่องรางของขลัง เช่น เขี้ยวหมูป่า งาช้าง เขี้ยวเสือ เขาควาย ซึ่งต่อมาได้มีการพัฒนาแกะเป็นรูปต่างๆ "วิชาพญาอิ้นแก้ว" ของล้านนา ก็เป็นหนึ่งในวิทยาอาคมการผูกจิตผูกใจให้คนรักใคร่กัน โดยการสร้างเป็นหุ่นรูปผู้หญิงผู้ชายกอดกัน ซึ่งเป็นตำราเฉพาะของล้านนาเท่านั้น มีการลงคาถาที่เป็น "หัวใจของพญาอิ้นแก้ว" โดยตรง ปลุกเสกแล้วจะมีพลังอำนาจเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ทำให้ "อิ้น" ของล้านนา ไม่ได้มีแต่พุทธาคมที่เป็นไปทางด้านกามารมณ์หรือเกี่ยวกับทางเพศเพียงอย่างเดียว "วิชาพญาอิ้นแก้ว" ของล้านนานั้น มีทั้งด้านเมตตา มหาเสน่ห์ มหานิยมผูกจิตมัดใจ คิดถึง นะจังงัง โกรธไม่ลง และรักใคร่เอ็นดู อยู่ครบถ้วน มีการขุดค้นทางโบราณคดี พบเป็นตุ๊กตาดินเผาโบราณ ทำเป็นรูปชาย-หญิงเปลือย นั่ง หรือยืนกอดกัน เข้าลักษณะที่เรียกว่า "อิ้น" ซึ่งมีข้อสันนิษฐานว่าผู้สร้างตั้งใจสร้างเพื่อเอาไปใช้ในด้านนี้โดยเฉพาะ น่าจะเป็นเครื่องรางรุ่นแรกๆ ที่นอกจากแสดงถึงความรักระหว่างชายหญิงที่ชัดเจนแล้ว ยังเป็นเครื่องมือที่ใช้สอนให้สังคมรู้จักแสดงความรักที่มีขอบเขตตามมาตรฐานของสังคมนั้นๆ รวมทั้งเป็นเครื่องมือสอนเพศศึกษาในยุคโบราณอีกด้วย
วัสดุที่ใช้ในการสร้าง "อิ้น" นั้น มีทั้ง ไม้นามมงคล เช่น ไม้มะยม ไม้รัก ไม้คูน ไม้มะรุม กาฝาก, โลหะ พวก เงิน ทอง นาก สัมฤทธิ์, ดินเจ็ดป่าช้า เจ็ดท่า เจ็ดกลางใจเมือง, ผงยา รวมไปถึงอัญมณีต่างๆ โดยหลักการใช้ "อิ้น" ตามแบบฉบับล้านนาโบราณนั้นกล่าวไว้ว่า "อิ้นต้องคู่กับน้ำมัน" การใช้อิ้นที่ ถูกต้อง คือ ใช้น้ำมันที่แช่อิ้นมาทาตัวถึงจะเกิดผลดีทางเสน่ห์เมตตามหานิยม ใช้น้ำมันแตะตัวก่อนออกจากบ้านก็เสมือนพกอิ้นไปด้วยเช่นกัน แต่หากจะมี พกไว้ติดตัวก็ย่อมได้ โดยเวลาแตะน้ำมันทาตัวหรือก่อนพกอิ้นออกจากบ้าน ต้องท่อง "คาถาอิ้น" ด้วยจิตใจที่ศรัทธาไปด้วย
คาถาบูชาอิ้น ก็มีมากมายหลายบทหลายที่มา แต่ให้คุณเช่นเดียวกันหมด ยกตัวอย่างเป็นการปิดท้ายไว้สักบทครับผม
"โอมละลวยมหาละลวย ละลวยหน้า ละลวยหลัง ละลวยทั้งอินทร์ พรหม ยมราช อากาศ เทพยดา ละลวยทั้งพระแม่คงคา มาช่วยคํ้าคู่สู่องค์ สัพพะสิทธิสวาหะ โอมละลวยมหาละลวย ละลวยทั้งจิต ละลวยทั้งใจ กูจะเสกใส่นวดให้สาวแล่นมาหากูเน้อ กูจะเสกใส่นํ้ามันงาให้สาวพระยาแล่นมาสู่กูเน้อ สาวอยู่มิได้ร้องไห้มาหากู โอมสวาโหมติด โอมละลวยมหาละลวย กูจักละลวยเอาเขาพระสุเมน ก็อ่วยหน้าทบ ก็อ่วยหน้าท่าว กูจักอ้าปากอ่วยขัน นางก็ย่อมพึงใจ โอมสวาโหมติด"