ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล
การมองโลกที่มุ่งสู่ภายนอก ถ้าจิตใจไม่เปิดกว้าง “สว่างใส” ก็ยากที่จะทำได้
ตอนที่แม่เสียชีวิต แก้วมีอายุแค่ ๗ ขวบ น้องคนเล็กก็เพิ่งหัดคลาน พอมาอยู่บ้านที่มีแม่เลี้ยงอยู่ด้วยก็ดูเหมือนทุกคนจะเป็นส่วนเกิน แก้วต้องอดทนรอจนถึงเวลาที่น้องคนเล็กกำลังจะต้องเข้าโรงเรียน จึงแอบเขียนจดหมายหาลุงเดช พี่ชายแท้ ๆ ของพ่อที่เข้าใจปัญหาของแก้วและน้อง ๆ ให้ “แอบ” รับทุกคนมาอยู่ที่กรุงเทพฯ ซึ่งก็ได้ทำให้ชีวิตของแก้วกับน้องทั้งสามคนเปลี่ยนไปในทันที
ตั้งแต่ที่แก้วจำความได้ ตอนที่ยังอยู่กับแม่และยาย แก้วจำได้ว่าแก้วชอบตามแม่ไปช่วยยายขายของที่ตลาด แม่ไม่ให้แก้วทำอะไร แก้วจึงได้แต่นั่งเล่นบ้าง นอนหลับบ้าง อยู่ข้าง ๆ แม่กับยาย แก้วชอบฟังแม่และยายคุยกับลูกค้า ที่มักจะเป็น “เจ้าประจำ” และคุยกันในเรื่องซ้ำ ๆ เช่น ถามทุกข์สุขทั่ว ๆ ไป อาหารการกิน และดินฟ้าอากาศ ข้อสนทนาเหล่านี้ค่อย ๆ ซึมซับเข้าในตัวของแก้วอย่างไม่รู้ตัว ทำให้แก้วสนใจในเรื่องต่าง ๆ ของผู้คน ซึ่งเมื่อแก้วโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว เวลาที่แก้วเจอผู้คนต่าง ๆ แก้วก็ชอบที่จะถามไถ่กับทุก ๆ คน ด้วยคำพูดที่เป็นกันเองเหล่านั้น ที่หลายคนอาจจะคิดว่าเป็นคำถามที่น่าเบื่อ แต่สำหรับแก้วแล้วมันทำให้ดูมีความใกล้ชิดและเป็นกันเอง รวมถึงที่มีความจริงใจ ด้วยความรู้สึกที่เป็นห่วงเป็นใยและคิดถึงกันจริง ๆ
พอแก้วมาอยู่ที่กรุงเทพฯ ในโรงเรียนที่แก้วได้เข้าเรียน เด็ก ๆ ในวัยเดียวกันจะไม่ค่อยสนใจกันและกัน โดยเฉพาะเด็กจากต่างจังหวัดแบบแก้ว ก็ยิ่งไม่ได้อยู่ในความสนใจของใคร ๆ เลย แต่แก้วก็ไม่ได้รู้สึกเดือดร้อน กลับยิ่งทำให้แก้วอยากจะใกล้ชิดกับทุก ๆ คนเป็นอย่างยิ่ง แม้ว่าหลาย ๆ คนจะไม่ชอบคุยกับแก้ว แต่แก้วก็ทำดีและชอบพูดคุยกับทุก ๆ คน และถ้าหากแก้วมีโอกาสก็มักจะแบ่งขนมหรือของกินที่เอามาจากบ้านให้กับเพื่อนบางคนเสมอ โดยคุยว่าเป็นฝีมือของแก้วเอง นาน ๆ เข้าเพื่อนในห้องหลายคนก็เริ่มสนใจแก้วและมาเป็นเพื่อนกับแก้วมากขึ้น ทำให้แก้วพอมีกลุ่มเพื่อนที่สนิทสนมกันอยู่บ้าง และหลาย ๆ คนก็ยังคบกันมาจนถึงปัจจุบัน
แก้วชอบมองผู้คนต่าง ๆ ที่ได้พูดคุย แล้วคิดตามต่อไปว่าเขาจะมีความสุขหรือทุกข์อย่างไรหนอ ถ้าแก้วรู้ว่าเขามีความสุข แก้วก็จะรู้สึกยินดีมีความสุขไปกับเขาด้วย เช่นเดียวกันกับคนที่ยากลำบากมีความทุกข์ แก้วก็ดูเหมือนจะมีความทุกข์พอ ๆ กันกับคน ๆ นั้นด้วย แล้วคิดต่อไปอีกว่าจะช่วยเขาอย่างไรได้บ้างไหม เช่นบางทีรู้ว่าเขาไม่มีเงินกินข้าว ซึ่งแก้วก็ไม่มีเหมือนกัน แต่แก้วมีข้าวที่เอามาจากบ้าน แก้วก็แบ่งอาหารให้เพื่อนคนนั้นรับประทาน หรือบางทีเห็นเพื่อนมีอุบัติเหตุบาดเจ็บ แก้วก็จะเข้าไปประคบประหงมและเช็ดล้างบาดแผลให้ รวมถึงที่คอยถามไถ่อาการบาดเจ็บนั้นทุก ๆ วัน
เวลาที่แก้วนั่งรถเมล์หรือเรือข้ามฟาก ระหว่างทางไปกลับโรงเรียน แก้วมักจะชอบมองคนนั้นคนนี้ที่ร่วมอยู่ในรถและเรือนั้นด้วย แล้วก็คิดปะติดปะต่อจากรูปร่างหน้าตาและการแต่งกาย ว่าคนนี้คนนั้นเป็นใคร ทำอาชีพอะไร หรือมีนิสัยใจคออย่างไร หรือถ้ามีการพูดคุยกัน แก้วก็จะสังเกตฟังเรื่องราวที่พูดกับอากัปกิริยาที่โต้ตอบกัน แล้วพยายามเชื่อมโยงให้เข้าใจเรื่องราวต่าง ๆ เหล่านั้น เหมือนกับว่าอยากเข้าไปรับรู้ในทุกข์และสุขของผู้คนเหล่านั้นด้วย ซึ่งบางทีแก้วก็รู้สึกว่าอาจจะเป็นเรื่องที่เกินเลยไป แต่ก็เหมือนกับเป็น “สิ่งธรรมชาติ” ที่ทำให้แก้วต้องอยากรู้และอยากคิดไปต่าง ๆ นานาในเรื่องของผู้คนเหล่านั้น เหมือนกับว่าในอนาคตต่อมา แก้วจำเป็นจะต้องใช้ชีวิตเพื่อที่จะรู้ในทุกข์และสุขของผู้คนต่าง ๆ ไปจนตลอดชีวิต
ลุงเดชถามในวันหนึ่งตอนที่แก้วเรียนขั้นมัธยม 5 เพราะปีต่อไปก็จะต้องเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว (การศึกษาในสมัยก่อนชั้นมัธยมปลายมีถึงชั้น ม.ศ. 5 จากนั้นก็ต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัย) ว่าแก้วอยากเรียนอะไรต่อ แก้วคิดอยู่นิดหนึ่งก่อนที่จะตอบว่าขอเวลาคิดก่อน แล้วแก้วก็ปวดหัวไปหลายวัน เพราะพยายามคิดว่าตัวเองชอบอะไร หรืออยากเป็นอะไร เพราะไม่เคยคิดถึงเรื่องของตัวเองมาก่อน
แก้วมานั่งคิดนอนคิดอยู่หลายวัน คิดถึงคนที่แก้วเคยพบเคยเห็นและเคยพูดคุยด้วย แล้วแก้วก็ชอบที่คนนั้นเป็นอย่างนั้น ถ้าคน ๆ นั้นมีความสุข แต่พอคิดถึงคนที่มีความทุกข์ แก้วก็ยังอยากเป็นคนที่มีทุกข์นั้น เพียงแต่อยากเข้าไปช่วยหรือเปลี่ยนความทุกข์ของเขาให้เป็นความสุข และนั่นก็คือคำตอบของแก้ว แก้วไปบอกลุงเดชว่าอยากเป็น “พยาบาล” ลุงเดชไม่ได้ถามอะไรต่อ ได้แต่พูดออกมาเบา ๆ ว่า “ดี ๆ”
วิทยาลัยพยาบาลที่แก้วไปสอบเข้าเป็นของกรุงเทพมหานคร แก้วจำได้ว่าแก้วอ่านหนังสือหนักมาก ลุงเดชบอกไม่ต้องทำงานบ้านให้มาก ให้น้อง ๆ คนอื่น ๆ ทั้งน้องของแก้วและลูกของลุงกับป้าก็เกินพอแล้ว พอประกาศผลว่าสอบข้อเขียนได้ก็ต้องเตรียมตัวสอบสัมภาษณ์ต่อไป ลุงเดชบอกว่าคงไม่เป็นปัญหาสำหรับแก้ว เพราะแก้วเป็นคนช่างพูดช่างคุยมาตลอด และที่เคยได้เห็นพูดคุยกับคนโน้นคนนี้ ก็เชื่อว่าแก้วจะตอบคำถามต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี ลุงเดชพูดว่า “แก้วเกิดมาเพื่อพูดคุยให้ทุกคนมีความสุข”
ที่วิทยาลัยพยาบาลแก้วได้เพื่อนใหม่หลายคน ที่สนิทสนมกันมาก ๆ นั้นมีอยู่ 5 คน รวมกับตัวแก้วเองก็เป็น 6 คน แล้วเรียกชื่อกลุ่มว่า “ 6 สลึง” เวลาที่อยู่รวมกับคนอื่น ๆ ก็ดูเรียบร้อยเหมือนสาว ๆ ที่เคร่งครัดระเบียบวินัย แต่พอมาอยู่รวมกันเฉพาะในกลุ่ม 6 คน ก็แสดงอาการสนุกสนานมาก ๆ จนถึงเอะอะโกลาหลและทะลึ่งตึงตัง จนบางทีก็ถูกเรียกว่ากลุ่ม “เกินบาท” ก็มี จนถึง “3 สลึง” หรือ “ไม่เต็มบาท” แต่แก้วก็มีความสุขมากที่ได้อยู่ร่วมกันกับเพื่อนกลุ่มนี้ และทุกคนก็ยังคบกันมา จนถึงกลุ่มลูกและหลานในเวลาต่อมาก็ยังรู้จักและเป็นเพื่อนกันเหมือนอย่างพวกคุณแม่
ที่วิทยาลัยพยาบาล แก้วและเพื่อน ๆ ต้องนอนในหอพัก ซึ่งมีเวลาเข้าออกและระเบียบเคร่งครัด รวมถึงมีเรื่อง “สุดสยอง” จากปากคำของรุ่นสู่รุ่น บ้างก็ว่าอย่าไปกลัวเรื่องผี ๆ เหล่านั้น มันก็เป็นแค่เรื่องของพวกรุ่นพี่ที่แต่งเรื่องขึ้นมาไว้หลอกรุ่นน้อง ๆ กลัว แต่แก้วและเพื่อน ๆ ก็กลัวผีพวกนั้นจริง ๆ ยิ่งในเวลาดึก ๆ ที่นอนไม่หลับหรือหิวอยากกินโน่นกินนี่ ก็ไม่มีใครที่กล้าจะลุกออกไปหาอะไรกินนอกห้อง ครั้งหนึ่งมีคนกล้าเปิดประตูออกไป เพียงแค่เดินพ้นมุมบันไดก็ต้องกรีดร้อง เพราะไปเจอวัตถุขนาดคนตัวเล็ก ๆ ห่อด้วยผ้าชาว ๆ อยู่ในความมืด คนที่ไปเจอเล่าว่าพอร้องเสร็จลืมตาขึ้นมาก็ไม่เห็นใครอยู่ตรงนั้นแล้ว ได้ยินแต่เสียงโครมครามไปอีกทางหนึ่งของตึก ตื่นเช้ามามีคนอยากรู้ออกไปเดินดู ก็พบมุ้งขาว ๆ กองอยู่ใต้บันได สืบสาวราวเรื่องไปก็ทราบว่าเป็นของนักศึกษาพยาบาลอีกห้อหนึ่งที่ออกมาหาอะไรกินเหมือนกัน แต่เอามุ้งมาคลุมพรางตัวเอง พอมาเจอกับอีกคนหนึ่งที่ตรงบันได้และกรีดร้อง ก็เลยสลัดมุ้งวางไว้ และเจ้าตัวก็หนีกลับไปนอนตัวสั่นที่ห้องเหมือนกัน แปลว่าต่างคนต่างนึกว่ากันและกันเป็นผี ซึ่งเป็นเรื่องเล่าอย่างตลกขบขันกันอยู่นานหลายวัน
อย่างไรก็ตามแก้วก็ได้ชื่อว่าเป็นคนที่ไม่กลัวผี แต่กลัว “ศพ” คือร่างของคนที่ตายไปแล้ว เพราะในบางวิชาที่เรียนต้องใช้ศพในการศึกษา บางครั้งก็กินอะไรไม่ได้เป็นอาทิตย์ หรือไม่ก็กินแต่ผักและแป้งเท่านั้น กระนั้นกว่าที่แก้วจะเลิกกลัวศพก็ต้องใช้เวลาอีกหลายปี เพราะในสถานที่ที่แก้วต้องประกอบอาชีพเป็นพยาบาลในเวลาต่อมาจำเป็นที่จะต้องอยู่กับศพจำนวนมาก
ศพเหล่านั้นคือศพที่ทุกคนต้องระลึกถึง เพราะเป็นศพของคนที่เสียสละแม้ชีวิตเพื่อประเทศชาติ!