วันนี้ (16 ก.พ.) เป็นวันแรกที่การรถไฟแห่งประเทศไทยกำหนดให้ผู้โดยสารที่ซื้อตั๋วรถไฟผ่านเว็บไซต์ D-Ticket (https://dticket.railway.co.th) และแอปพลิเคชัน D-Ticket ต้องชำระเงินด้วยบัตรเดบิต หรือบัตรเครดิตเท่านั้น เพื่อเปิดให้ผู้โดยสารหรือผู้ที่มีความจำเป็นในการเดินทางได้มีโอกาสจองตั๋วหรือสำรองที่นั่งในวันดังกล่าวได้

สำหรับสาเหตุที่การรถไฟฯ กำหนดให้การซื้อตั๋วรถไฟผ่านช่องทางออนไลน์ ต้องชำระเงินด้วยบัตรเครดิต หรือบัตรเดบิต เนื่องจากที่ผ่านมาการรถไฟฯ ให้ผู้โดยสารสามารถจองตั๋วโดยสารล่วงหน้าได้สูงสุด 30 วัน โดยมีตัวเลือกการชำระเงิน ได้แก่ ชำระด้วยบัตรเดบิต บัตรเครดิต กับการออกรหัสเพื่อชำระเงินด้วยเงินสดได้ที่สถานีรถไฟ โดยรหัสชำระเงินมีอายุ 24 ชั่วโมง

ทั้งนี้ปรากฏว่ามีผู้สำรองที่นั่งผ่านช่องทางออนไลน์ แต่ไม่นำรหัสการจองตั๋วมาชำระเงินภายในระยะเวลาที่กำหนดจำนวนมาก ส่งผลให้ผู้โดยสารผู้อื่นขาดโอกาส ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิ์การสำรองที่นั่งในช่วงระยะเวลาดังกล่าวได้ จึงปรับวิธีการชำระเงิน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผู้โดยสารในการสำรองที่นั่ง และเป็นการกระจายโอกาสในการซื้อตั๋วโดยสารแก่ทุกคนอย่างทั่วถึง

ผู้โดยสารที่ต้องการชำระด้วยเงินสด สามารถเลือกซื้อตั๋วโดยสารหรือสำรองที่นั่ง ได้ที่สถานีรถไฟทุกแห่ง หรือผ่านทางศูนย์บริการลูกค้าสัมพันธ์ โทรศัพท์สายด่วน 1690 ตลอด 24 ชั่วโมงตามปกติ โดยเลือกชำระเงินได้ทั้งรูปแบบเงินสด แอปพลิเคชันทรูมันนี่วอลเล็ต รวมถึงบัตรเครดิตและเดบิต

รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า ปัจจุบันมีบัตรเดบิตที่สามารถออกบัตรในรูปแบบเวอร์ชวลการ์ด (Virtual Card) ได้ฟรี และไม่มีค่าธรรมเนียมรายปี ได้แก่ 1. บัตรเดบิต Krungthai Fun ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ในแอปพลิเคชัน Krungthai NEXT 2. บัตรเดบิต ttb all free digital ในแอปพลิเคชัน ttb touch 3. บัตรเดบิตออนไลน์ LINE BK ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ในเมนู LINE BK บนแอปพลิเคชัน LINE

ส่วนบัตรเดบิตที่ไม่มีค่าธรรมเนียมรายปี ได้แก่ บัตรเดบิตชิลดี ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ทั้งนี้ สามารถศึกษาข้อมูลค่าธรรมเนียมบัตรเอทีเอ็ม หรือบัตรเดบิต ได้ที่ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เว็บไซต์ https://www.1213.or.th/App/MCPD/ProductApp/Debit

อย่างไรก็ตาม การยกเลิก การคืนตั๋วที่ซื้อผ่านระบบ D-Ticket จะไม่มีการคืนเป็นเงินสด ซึ่งการจองและใช้บัตรเดบิตหรือบัตรเครดิต จะได้รับความสะดวก กรณีต้องการยกเลิกการเดินทาง โดยการยกเลิกหรือคืนตั๋วทางอินเทอร์เน็ต ทำได้ 2 วิธี คือ ผู้จองตั๋วทำการยกเลิกผ่านทางอินเทอร์เน็ต เมนู "ยกเลิกตั๋วโดยสาร" หรือผู้จองตั๋วนำตั๋วมาขอยกเลิกและคืนเงินที่สถานีรถไฟ

สำหรับระบบการจำหน่ายตั๋วโดยสาร และสำรองที่นั่ง (D-Ticket) นั้น การรถไฟฯ ว่าจ้างบริษัท แอ็ดวานซ์ อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) ให้เป็นผู้พัฒนาระบบ ทดแทนระบบ STARS-2 ที่ให้บริการมานานถึง 20 ปี โดยทดลองให้บริการผ่านเว็บไซต์การรถไฟฯ ไปเมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2563 ก่อนที่จะพัฒนาแอปพลิเคชัน เปิดให้ดาวน์โหลดเมื่อเดือน เม.ย. 2564