เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 พ.ญ.ซินเทียค่า หรือ “หมอซินเทีย” ผู้ก่อตั้งแม่ตาวคลินิก อ.แม่สอด จ.ตาก เจ้าของรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการชุมชน ประจำปี 2545 และทีมงานด้านสัญชาติของมูลนิธิพัฒนชุมชนและเขตภูเขา(พชภ.)ได้เดินทางไปยังที่ว่าการอำเภอแม่สอดเพื่อยื่นคำร้องต่อนายอำเภอแม่สอดเพื่อขอแปลงสัญชาติไทยตามมาตรา 10 และ มาตรา 11(1) แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508  และขอออกหนังสือรับรองความประพฤติของตนเอง โดยมีนายธีระนันท์ ชัยมานันท์ ปลัดสำนักทะเบียนอำเภอแม่สอด เป็นผู้รับเรื่องและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

พ.ญ.ซินเทียค่า ให้สัมภาษณ์ถึงการยื่นเรื่องเพื่อขอสัญชาติไทยว่า ตนทำงานโดยมีฐานะเป็นผู้พลัดถิ่นมาโดยตลอด ไม่มีบัตรประชาชน ต่อเนื่องหลายทศวรรษ โดยทำงานเพื่อให้เกิดการเข้าถึงการศึกษาของเด็กและการสร้างสาธารณสุข ซึ่งการทำงานแบบนี้จำเป็นต้องมีความมั่นคงโดยเฉพาะโอกาสในการออกสู่โลกภายนอกเพื่อดึงความช่วยนเหลือเข้ามา และสถานการณ์ขณะนี้เป็นเวลาที่สำคัญสุด การเข้าถึงช่องทางต่างๆ นี่คือเวลาที่ต้องทำงานเข้มข้นมากขึ้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า หมอซินเทียเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของนักต่อสู้ การยื่นขอสัญชาติเป็นไทย ห่วงหรือไม่ว่าจะทำให้หลายคนรู้สึกว่าแม้แต่คุณหมอก็ไม่มีความหวังจะไม่กลับพม่าแล้ว พ.ญ.ซินเทียกล่าวว่า “ไม่ว่าคุณจะถือสัญชาติใดก็ตาม คุณต้องทำงานเพื่อให้ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด แม้ว่าจะเกิดพม่า ทำงานฝั่งไทย แต่ก็ทำงานให้แก่ประชาชนทั้ง 2 ฝั่ง ไม่ว่าคุณจะเกิดฝั่งไหน ก็ยังคงต้องทำงานเพื่อประชาชนผู้ยากลำบาก ทำงานให้แก่ชุมชน องค์กรภาคประชาสังคมทั้งไทยและพม่าต่างก็ทำงานอย่างเหนียวแน่นร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาและสร้างความเข้าใจ หลักใหญ่ใจความคือการทำงานเพื่อประชาชน ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการถือสัญชาติใด”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางเตือนใจ ดีเทศน์ หรือ “ครูแดง”กรรมการผู้ก่อตั้งมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา(พชภ.) และอดีตสมาชิกวุฒิสภา จ.เชียงราย ได้ทำหนังสือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อสนับสนุนการขอแปลงสัญชาติของ พ.ญ.ซินเทียค่า ในฐานะผู้ที่ทำคุณประโยชน์ต่อประเทศ โดยระบุว่า พชภ. ได้ดําเนินงานรณรงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการไร้สัญชาติของผู้เฒ่า โดยความสนับสนุนของสํานักงานสร้างเสริมสุขภาพแห่งชาติ (สสส.) ตั้งแต่ พ.ศ. 2555 ถึงปัจจุบัน มีผลให้เกิด การเปลี่ยนแปลงระดับนโยบายที่ทําให้ผู้เฒ่าที่เกิดในประเทศไทย และเกิดนอกประเทศไทย แต่เข้ามามีภูมิลําเนาอยู่ในรัฐไทยจนกลมกลืนกับสังคมไทย สามารถเข้าถึงสิทธิในการยื่นคําร้องขอมีสัญชาติไทย หรือขอแปลงสัญชาติเป็นไทยได้สะดวกและเป็นธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้สูงอายุ

ในหนังสือระบุว่า พชภ.ได้ติดตามการทํางานด้วยหลักมนุษยธรรมของ พ.ญ.ซินเทียค่าด้านสาธารณสุข โดยแม่ตาวคลินิก ซึ่งทําหน้าที่เป็นด่านหน้าในการป้องกันโรคระบาดไม่ให้เข้ามาระบาดในประเทศไทย และ แบ่งเบาภารกิจด้านการรักษาพยาบาลตามแนวชายแดน ให้แก่โรงพยาบาลแม่สอด และโรงพยาบาลตามแนว ชายแดน เฉลี่ยปีละ 30,000 คน เป็นมูลค่าปีละ 48 ล้านบาท รวม 34 ปี จํานวน 1,000,000 คนขึ้นไป เป็น มูลค่าไม่น้อยกว่า 1,800 ล้านบาท โดยไม่ใช้งบประมาณของรัฐ นอกจากนี้ พ.ญ.ซินเทียได้ก่อตั้งศูนย์พัฒนาการเรียนรู้เพื่อเด็กด้อยโอกาส ซีดีซี ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2538 เพื่อให้ลูกหลานผู้พลัดถิ่น ได้รับการศึกษาและพัฒนาตามวัย โดยใช้ภาษากะเหรี่ยง พม่า ไทย อังกฤษ ซึ่งมีผล ในการคุ้มครองเด็กไม่ให้เป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ และยาเสพติด ปัจจุบันมีนักเรียนระดับอนุบาลถึงมัธยมศึกษา ตอนปลาย ราว 1,000 คน

“ด้วยการอุทิศตนทํางานเพื่อเพื่อนมนุษย์ พชภ. ร่วมกับภาควิชาการ และภาครัฐ จึงเห็นสมควรสนับสนุนให้นางซินเทียค่าได้ยื่นคําร้องขอแปลงสัญชาติเป็นไทย ในกลุ่มผู้ทําคุณประโยชน์ต่อประเทศตาม มาตรา 10 และมาตรา 11(1) แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ”หนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ระบุ

 ด้าน น.พ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยายาบอุ้งผาง อ.อุ้งผาง จ.ตาก กล่าวว่า จริงๆแล้ว พ.ญ.ซินเทียค่าน่าจะขอสัญชาติไทยตั้งนานแล้วเพราะเป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่มีคุณค่าโดยทำงานมากว่า 30 ปี จนกระทั่งคลินิกแม่ตาวย้ายไปที่ใหม่ ซึ่งมีทั้งแพทย์อาสาและภารกิจหลักของแม่ตาวคือดูแลประชาชนที่เข้ามาจากประเทศพม่ามาสู่ประเทศไทย ซึ่งสามารถช่วยประชาชนได้เยอะมากและเป็นที่พึ่งจริงๆ ถ้าไม่มีคลีนิคแม่ตาว ตนคิดว่าโรงพยาบาลแม่สอดเองก็รับไม่ไหว ลำพังแค่กรณีคลอดลูกตกปีละ 3,000-4,000 คน ซึ่งโรงพยายาบาลแม่สอดรับไม่ไหวแน่เพราะงานจะเพิ่มเป็นเท่าตัวซึ่งในมุมของการแพทย์ไม่ว่าเป็นภาครัฐหรือเอ็นจีโอได้เข้ามาช่วยกันรักษาชาวบ้านเพราะใน 5 อำเภอในเขตชายแดนมีคนที่มีสัญชาติและไม่มีสัญชาติปะปนกันอยู่ ซึ่งคาดว่ามีราว 9 แสนคนซึ่งเยอะมาก หากให้สถานพยาบาลไทยรับผิดชอบอย่างเดียวคงไม่สำเร็จ

“หากคุณหมอซินเทียได้รับสัญชาติเป็นคนไทยถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะจะได้ดำเนินการทุกอย่างตามกฎหมายไทยทำให้การช่วยเหลือเป็นไปได้ดีขึ้นเพราะเป็นที่ยอมรับของรัฐบาลไทย ผมยกตัวอย่างเช่นเรื่องของการขอนำเข้ายาจากต่างประเทศ ถ้าเป็นมูลนิธิไทยก็จะง่ายขึ้น ทุกวันนี้แม้แต่โรงพยาบาลรัฐก็ยังมีปัญหาขลุกขลักมากมาย ดังนั้นการเป็นองค์กรที่ไม่มีกฎหมายไทยรองรับ แม้จะมีเหตุผลด้านมนุษยธรรมก็ยังเป็นเรื่องยากมาก หากคุณหมอซินเทียมีสัญชาติไทยและตั้งเป็นมูลนิธิในไทยทุกอย่างก็จะง่ายกว่าเดิม”น.พ.วรวิทย์ กล่าว

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้งผางกล่าวว่า เราไม่ยุ่งเรื่องการเมืองในประเทศพม่า ใครรบกันก็รบการไป แต่งานด้านการแพทย์และสาธารณะสุขเป็นเรื่องมนุษย์ธรรม เมื่อมีคนเจ็บคนป่วยเข้ามาเราก็ต้องรักษา

ทั้งนี้ พ.ญ.ซินเทียค่า อายุ 64 ปี เกิดเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ.2502 ที่เมืองมะละแหม่ง มีพี่น้อง 7 คน ลี้ภัยทางการเมืองเข้ามาอาศัยอยู่ตามแนวชายแดนไทยเมื่อ พ.ศ.2531เนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศพม่า โดย พ.ศ.2532 ได้เปิดคลินิกแม่ตาว โดยช่วงแรกให้การรักษานักศึกษาพม่าตามแนวชายแดน ต่อมาให้การรักษาชาวพม่าทั่วไป ซึ่งมีองค์กรระหว่างประเทศ และองค์กรพัฒนาเอกชนให้การช่วยเหลือทางด้านยา และเวชภัณฑ์ รวมทั้งงบประมาณด้านอื่น ๆ

พ.ญ.ซินเทียเรียนหนังสือระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และตอนปลายที่เมืองมะละแหม่ง และศึกษาต่อที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยย่างกุ้ง หลังจากสำเร็จการศึกษาในปี 2528 แล้วได้ไปฝึกงานที่ จ.บาเสง ภาคอิระวดี และได้เปิดคลินิกแต่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบเมื่อปี 2531 จึงลี้ภัยทางการเมืองมาอยู่ตามแนวชายแดนไทย-พม่า