นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม.กล่าวกรณีมีข้อเสนอแนะให้กทม.แก้ไขปัญหาฝุ่นด้วยแนวคิด (Low Emission Zone) ว่า เมื่อปี 2564 - 2565 กรุงเทพมหานคร ได้นำแนวคิดเขตควบคุมมลพิษต่ำ (Low Emission Zone) ต้นแบบจากลอนดอน ประเทศอังกฤษมาประยุกต์ใช้ในพื้นที่เขตปทุมวันเมื่อปี 2564 - 2565 เป็นเขตนำร่องจัดทำโครงการ “อากาศสะอาดเขตปทุมวัน” โดยได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายภาครัฐ เอกชน และมหาวิทยาลัยในพื้นที่ ร่วมกันป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศในเขตกรุงเทพฯ เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนตระหนักถึงการดูแลสุขภาพ ตรวจสภาพรถที่อาจปล่อยมลพิษทางอากาศ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมส่งเสริมการใช้รถสาธารณะพลังงานสะอาดที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ พัฒนานวัตกรรมระบบฐานข้อมูลออนไลน์กรุงเทพธุรกิจอากาศสะอาดต้นแบบ (BMA - BLEZ) เพื่อรายงานผลการตรวจสภาพรถของผู้ที่ใช้รถในพื้นที่เขตปทุมวัน รวมถึงการจัดบริการรถสาธารณะพลังงานไฟฟ้า พร้อมจุดจอดบริการแก่ประชาชนบริเวณศูนย์การค้า และจุดต่างๆ ในพื้นที่ ติดตั้งระบบเซ็นเซอร์วัดค่าฝุ่น PM2.5 เฉพาะจุดที่สามารถแสดงผลทันที เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ทราบค่าคุณภาพอากาศผ่านจอแสดงผลขนาด 50 นิ้ว จากการประเมินผลโครงการพบว่า ฝุ่น PM2.5 ลดลงประมาณร้อยละ 13 ซึ่งนับเป็นการเริ่มต้นที่ดีในการร่วมมือจากทุกภาคส่วนและอาจขยายผลไปยังเขตอื่น ๆ โดยนำเขตปทุมวันเป็นต้นแบบ
ที่ผ่านมากทม.ได้กำหนดมาตรการเชิงรุกตรวจสอบแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 อย่างต่อเนื่องและครอบคลุมทุกแหล่งกำเนิด ทั้งการควบคุมมลพิษจากยานพาหนะ การก่อสร้าง โรงงานและสถานประกอบการ การเผาในที่โล่ง และการเฝ้าระวังแจ้งเตือนสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 รวมถึงการดูแลสุขภาพอนามัยของประชาชน ทำงานร่วมกับกองบังคับการตำรวจจราจร กรมการขนส่งทางบก องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ และกรมควบคุมมลพิษ เข้มงวดการตรวจวัดรถควันดำทุกวันและขยายพื้นที่ตรวจวัดครอบคลุมถนนสายหลักรอบนอกทั่วกรุงเทพฯ เพื่อควบคุมรถยนต์ควันดำเข้าพื้นที่เขตชั้นใน รวมทั้งกำชับให้รถราชการในสังกัด กทม.หมั่นดูแลบำรุงรักษาเครื่องยนต์ เพื่อลดมลพิษ และตรวจวัดค่าควันดำ 2 ครั้ง/ปี เพื่อลดมลพิษตั้งแต่ต้นทาง ปรับพฤติกรรมการ และรณรงค์ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ไม่ขับช่วยดับเครื่องยนต์ ไม่จอดรถกีดขวางทางจราจร งดการเผาในที่โล่ง ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี