เมื่อวันที่ 15 ก.พ.66 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า จากการ เฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 ในประเทศไทย ขณะนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ร่วมกับเครือข่าย ตรวจพบโควิดสายพันธุ์ย่อยโอมิครอน XBB.1.5 จำนวน 2 ราย ในไทย เป็นชาวไทย 1 ราย และต่างชาติ 1 ราย ปัจจุบันหายดีแล้ว และยังไม่พบผู้ใกล้ชิดติดเชื้อ ซึ่งกรมฯ ได้ส่งข้อมูลเผยแพร่ไปยังฐานข้อมูลจีเสส (GISAID) แล้ว

ทั้งนี้ XBB.1.5 เป็นเชื้อสายสืบสกุลของ XBB ซึ่งเป็นลูกผสมของโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 สองสายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ BJ.1 และ BM.1.1.1 จากข้อมูลตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2565 ถึง 12 กุมภาพันธ์ 2566 มีการรายงานสายพันธุ์ XBB.1.5 ทั่วโลกพบ 33,219 ราย ส่วนใหญ่พบในสหรัฐอเมริกา 24,505 ราย ร้อยละ 73.7 สหราชอาณาจักร ร้อยละ 6.6 แคนาดา ร้อยละ 5.3% เดนมาร์ก ร้อยละ 1.0 เยอรมนี ร้อยละ 2.65 ไอร์แลนด์ ร้อยละ 1.0 และออสเตรีย ร้อยละ 1.5%

อธิบดีกรมวิทย์ กล่าวต่อว่า จากลักษณะทางพันธุกรรมและอัตราการเติบโตของ XBB.1.5 พบว่ามีการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่ง F486P โดยกรดอะมิโนตำแหน่ง 486 เปลี่ยนจากฟีนิลอะลานีน (phenylalanine) เป็นโปรลีน (proline) ซึ่งเพิ่มความสามารถในการยึดเกาะกับเซลล์ ส่งผลให้มีความได้เปรียบในการแพร่กระจาย และสามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ดีเช่นเดียวกับสายพันธุ์ XBB.1 แต่ปัจจุบันยังไม่มีข้อบ่งชี้ความรุนแรงและความเสี่ยงด้านสาธารณสุขเมื่อเทียบกับสายพันธุ์ย่อยอื่นๆ ซึ่งข้อมูลล่าสุดพบว่าสายพันธุ์ XBB.1.5 มีการระบาดอย่างรวดเร็วในสหรัฐอเมริกา โดยพบสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคม 2565 เป็นต้นมา แต่เมื่อเทียบกับสายพันธุ์ย่อยที่พบในไทย คือ BN.1 และลูกหลาน ซึ่งมีความสามารถในการแพร่เชื้อได้เร็วใกล้เคียงกัน จึงทำให้โอกาสในการที่ XBB.1.5 มาแทนที่ BN.1 มีไม่มากนัก

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า จากข้อมูลการเฝ้าระวังสายพันธุ์ ที่ระบาดในจีน ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2565 ถึง 6 กุมภาพันธ์ 2566 มีข้อมูลสายพันธุ์เชื้อก่อโรคโควิด จำนวน 14,515 ตัวอย่าง ซึ่งทั้งหมดเป็นโอมิครอน โดยสายพันธุ์ที่พบมาก ได้แก่ BA.5.2.48 ร้อยละ 60.9 และ BF.7.14 ร้อยละ 28.3 ซึ่งไม่ได้เป็นสายพันธุ์ใหม่แต่อย่างใด และไม่ได้มีการแพร่เร็วกว่าสายพันธุ์ในประเทศไทย ดังนั้นจึงไม่น่ากังวล สำหรับสายพันธุ์ XBB.1.5 มีรายงานจากประเทศจีนจำนวน 3 ตัวอย่าง ประมาณกลางเดือนธันวาคม 2565 จนถึงปัจจุบันยังไม่มีรายงานเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม สายพันธุ์หลักที่พบในประเทศไทยขณะนี้ยังคงเป็นสายพันธุ์ย่อยโอมิครอน BN.1 เป็นลูกหลานของ BA.2.75 ซึ่งการติดตามสถานการณ์สายพันธุ์ของประเทศ รวมถึงข้อมูลอัตราการติดเชื้อ ความรุนแรง กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และเครือข่ายจะดำเนินการอย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง เพื่อใช้กำหนดมาตรการที่เหมาะสมต่อไป

“สำหรับประชาชนขอให้ทำตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขในการป้องกันโรค การสวมหน้ากากอนามัย การล้างมือ แม้ขณะนี้สถานการณ์โควิด ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนมาจากประสิทธิผลของวัคซีน ดังนั้นประชาชนจึงยังควรได้รับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นหลังจากเข็มสุดท้ายนานเกิน 4 เดือน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 และผู้สูงอายุ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ลดการนอนโรงพยาบาล ลดอาการป่วยรุนแรง และลดอัตราการเสียชีวิตหากติดเชื้อ” นพ.ศุภกิจ กล่าว