เด็ก นร.รร.บ้านบุตาวงษ์ ใช้เวลาหลังเลิกเรียนเก็บขวดพลาสติก D.I.Y เป็นไม้กวาดจากเส้นพลาสติก แทนไม้กวาดทางมะพร้าว ลดปริมาณขยะ สร้างรายได้
เด็กนักเรียนชั้นประถม โรงเรียนบ้านบุตาวงษ์ อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ ใช้เวลาหลังเลิกเรียนเก็บขวดพลาสติก D.I.Y เป็นไม้กวาดจากเส้นพลาสติก แทนไม้กวาดทางมะพร้าว มีแข็งแรง ทนทานลดปริมาขยะพลาสติกในโรงเรียนและชุมชน และยังสามารถสร้างรายได้ให้นักเรียนได้อีกด้วย
วันที่ (14 ก.พ.66) ไม้กวาดจากเส้นพลาสติก เป็นผลงานของนักเรียน ชั้นประถมศึกษา โรงเรียนบ้านบุตาวงษ์ อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ ที่ นำขวดพลาสติกเหลือใช้ตามบ้านเรือน หมู่บ้าน ชุมชน หรือในโรงเรียนนำกลับไปใช้ใหม่ โดยทำความสะอาด แกะฝาและตัดก้นขวด แล้วนำไปประดิษฐ์ หรือที่เรียกกันว่า D.I.Y เป็นไม้กวาดจากขวดพลาสติก แทนการใช้ไม้กวาดทางมะพร้าว มีความแข็งแรง ทนทาน เป็นการรีไซเคิลขวดพลาสติกที่ทิ้งแล้วกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์ ลดปริมาณขยะพลาสติกในโรงเรียน หมู่บ้านและชุมชนและเด็กนักเรียนยังใช้เวลาหลังเลิกเรียนใช้เกิดประโยชน์ มีรายได้จากการจำหน่ายไม้กวาดแบ่งเบาภาระผู้ปกครอง
เด็กหญิงศิริวรรณ โพศรีดี หรือน้อง วิววิ่ว นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนบุตาวงษ์ ต.หนองคู อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ เล่าว่า การนำขวดน้ำรีไซเคิลมาประดิษฐ์ไม้กวาดจากขวดพลาสติกแทนไม้กวาดก้านมะพร้าว มีความแข็งแรงและคงทนกว่า และยังประหยัดไปได้อีกด้วย เพราะเราประดิษฐ์จากขวดน้ำพลาสติกที่ไม่ได้ใช้แล้ว นำมาสร้างเป็นไม้กวาดที่มีประสิทธิภาพและสามารถนำไปใช้งานได้จริง
ขั้นตอนการทำไม้กวาดจากขวดน้ำพลาสติก ไม่ยุ่งยากขั้นตอนแรกเริ่มจากเก็บขวดพลาสติกที่ไม่ใช้แล้ว มาแกะฝา ตัดฉลากออก และตัดก้นขวดออก ทำความสะอาดให้เรียบร้อย ตัดให้ก้นเสมอกันเพื่อให้ง่ายและสะดวกต่อการดึงเส้นพลาสติก แล้วใส่ในเครื่องมือ กรีดขวดพลาสติกออกเป็นเส้น ที่มีขนาดเท่ากัน หากเป็นขวดพลาสติกขนาด 600 มิลลิลิตร 1ขวด จะได้เส้นเชือกพลาสติกยาวประมาณ 250-260 เซนติเมตร (ไม้กวาด 1 ด้ามจะใช้ประมาณ 15 ขวด) และนำเส้นพลาสติกที่ได้ไปพันกับเหล็กสี่เหลี่ยมผืนผ้าดึงให้ตึงแน่น แล้วใช้เครื่องเป่าลมร้อนเป่าเส้นพลาสติกเป็นเส้นตรง จากนั้นตัดเส้นพลาสติกหัวท้ายออกจากเหล็กตึงเส้น แล้วนำเส้นพลาสติกที่ได้มามัดกับด้ามไม้ไผ่ เจาะรูแล้วใช้ลวดมัดให้แน่น
จากนั้นนำเส้นพลาสติกมัดจัดเรียงมัดย่อย 20 มัดๆ ละ 10 เส้น ใช้เชือกถักต่อไปเรื่อยๆจนถึงปลายลิ่มอีกด้านให้ บรรจบกันพอดี ใช้ลวดมัดและใช้คีมดึงให้แน่น เพื่อให้ได้ไม้กวาดที่มั่นคงแข็งแรง ใช้ตะปูตอกยึดอีกครั้ง จะได้ไม้กวาดจากขวดพลาสติกที่พร้อมใช้งาน และสามารถนำไปจำหน่ายได้ ซึ่งบางขั้นตอนต้องให้คุณครูหรือผู้ปกครองช่วย และสวมถุงมือป้องกัน
คุณครูส้มลิ้ม สะเมนรัมย์ คุณครูเอกวิชาภาษาอังกฤษ เปิดเผยว่า โรงเรียนบ้านบุตาวงษ์เห็นความสำคัญของการจัดการขยะในโรงเรียนและมีแนวคิดที่จะพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆมาใช้ในการจัดการขยะให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งปัญหาส่วนหนึ่งมาจากขยะขวดน้ำพลาสติกในโรงเรียนและชุมชนมีเป็นจำนวนมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันมีการดื่มน้ำที่บรรจุขวดพลาสติกมากขึ้น ขวดพลาสติกที่ใช้แล้วเป็นขยะมูลฝอยการทิ้งเกลื่อนกลาดจะทำให้เกิดความสกปรกเป็นอันตรายต่อสุขภาพของนักเรียนและคนในชุมชน ทำให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นการลดปริมาณขยะและลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม การนำขวดน้ำพลาสติกที่จะทิ้ง กลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์เป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยลดปริมาณขยะและใช้ทรัพยากรได้อย่างคุ้มค่า
ทั้งนี้ การศึกษาเรียนรู้วิธีการทำไม้กวาดขวดพลาสติกจากเครือข่ายภูมิปัญญาท้องถิ่น คือ นายหวานชัย แซ่คำ ชาวตำบลวังทอง อำเภอนาวัง จังหวัดหนองบัวลำภู เพื่อให้สามารถทำไม้กวาดได้อย่างมีประสิทธิภาพและสามารถนำไปใช้งานได้จริง จึงเป็นที่มาของโครงงานเรื่องไม้กวาดจากขวดพลาสติกมีคุณค่า พัฒนาสู่อาชีพ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จำหน่ายด้ามละ 100 บาท และใช้ไปนานๆ เมื่อไม้กวาดพลาสติกชำรุด ยังนำเส้นพลาสติกไปขายต่อได้อีก ซึ่งเป็นการใช้วัสดุรีไซเคิลอย่างคุ้มค่า ส่วนต้นทุนการทำ ไม้กวด 1 ด้าม จะมี 1.ลวดสังกะสี .ตะปู เครื่องเย็บกระดาษและลวดเย็บ กรรไกร เครื่องเป่าลมร้อน ค่าไฟ รวมต้นทุนประมาณ 36 บาท