คุยเฟื่องเรื่องต่างประเทศ / ดร.วิวัฒน์ เศรษฐช่วย

เมื่อครั้งที่ผมเดินทางไปศึกษาในระดับปริญญาตรี  ณ แคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นรัฐที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ โดยแรกเริ่มเดิมทีผมคิดอยู่ในใจเสมอมาว่า เพราะเหตุใดและเป็นไปได้อย่างไร?ที่ผ่านมารัฐแคลิฟอร์เนียแม้จะเคยเป็นฐานการเมืองของพรรคเดโมแครตมาโดยตลอด แต่ทำไม“โรนัลด์ เรแกน”ดาราภาพยนต์และสังกัดอยู่ในค่ายพรรครีพับลิกัน กลับชนะได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯรัฐแคลิฟอร์เนีย แทนผู้ที่อยู่ในตระกูลนักการเมืองเก่าแก่ที่เคยได้รับความนิยมมากที่สุด แถมยังเคยครองอยู่ในตำแหน่งติดต่อกันมาถึงแปดปีด้วยซ้ำไป

ต่อจากนั้นก็ได้มีการสร้างกระแสพูดคุยกันอย่างหนาหูว่า “ผู้ว่าฯเรแกนน่าจะลงแข่งขันเลือกตั้งในตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ” และยังเป็นที่น่าสังเกตอีกเช่นกันว่าในยุคสมัยนั้นผู้ว่าฯเรแกนก็เคยออกมาแสดงความชื่นชมต่อนโยบายของพรรคเดโมแครต และยังเคยสังกัดอยู่ในค่ายพรรคเดโมแครตมาก่อนเช่นกัน แต่กลับเปลี่ยนใจหันไปสังกัดค่ายพรรครีพับลิกัน!!!

และเมื่อครั้งที่ “ริชาร์ด นิกสัน” ลงแข่งขันเลือกตั้งในตำแหน่งประธานาธิบดี ผู้ว่าฯเรแกนก็เข้าไปเป็นกำลังสำคัญช่วยรณรงค์หาเสียงจนนิกสันชนะได้รับเลือกเข้าสู่ทำเนียบขาว

แต่อย่างไรก็ตามเป็นที่รู้กันดีแล้วว่า “ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน” สะดุดตอจนทำให้เส้นทางชีวิตในแวดวงการเมืองต้องหยุดชะงักไป เพราะเกิด “กรณีวอร์เตอร์เกต”จนต้องประกาศลาออกจากตำแหน่ง โดยมี “เจอรัลด์ ฟอร์ด” เข้าไปรับช่วงประธานาธิบดีต่อ และมี “เนลสัน ร็อกกีเฟลเลอร์” เข้ารับตำแหน่งรองประธานาธิบดี!!!

และนับตั้งแต่ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ลาออกอย่างกระทันหัน มีผลทำให้คนอเมริกันรู้สึกไม่ค่อยเลื่อมใสเสื่อมศรัทธาต่อพรรครีพับลิกันเป็นอย่างมาก เนื่องจากคนอเมริกันต้องการจะได้นักการเมืองที่มีประวัติขาวสะอาด

จนในที่สุด “ผู้ว่าฯจิมมี คาร์เตอร์” จากรัฐจอร์เจีย สังกัดพรรคเดโมแครต ผู้ที่มีประวัติดีเยี่ยมไร้ตำหนิ มือสะอาดไม่มีด่างพร้อยก็ได้รับเลือกในตำแหน่งประธานาธิบดี เมื่อปีค.ศ. 1976

แต่ดูเหมือนว่าคุณสมบัติอันโดดเด่นของประธานาธิบดีสหรัฐฯที่ยิ่งใหญ่ จะมิได้จำกัดอยู่เฉพาะแค่เพียงเป็นคนซื่อสัตย์ มีคุณธรรมและจริยธรรรมเท่านั้น แต่ยังมีสิ่งสำคัญที่สุดก็คือ จะต้องมีศิลปะในการเป็นนักการเมืองให้เชี่ยวชาญและช่ำชองนั่นเอง

ส่วนในกรณีของประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ ดูจะเป็นที่ยอมรับกันอย่างดีแล้วว่า แม้ท่านจะเป็นผู้ที่มีความเฉลียวฉลาด เป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุขุม มีความรอบคอบละเอียดละออ  และยังเป็นผู้ที่มีความเชื่อมั่นในตัวเองเป็นอย่างสูง  แต่ทว่าประธานาธิบดีคาร์เตอร์ก็ยังมีข้อบกพร่องในเรื่องที่ไม่ค่อยให้ความเชื่อมั่นต่อคนรอบข้าง หรือพูดง่ายๆว่า ไม่ค่อยไว้ใจลูกน้องของตนเองเท่าที่ควร จึงมีผลทำให้ประธานาธิบดีคาร์เตอร์ต้องเผชิญกับปัญหาวิกฤตรอบด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจที่ยุคสมัยนั้นมีอัตราคนว่างงานพุ่งสูงถึง 20% เลยทีเดียว

ดูเหมือนว่าประธานาธิบดีคาร์เตอร์มิได้สนใจที่จะหยิบยกนำเอาการบริหารประเทศในสมัยของประธานาธิบดีผู้ยิ่งใหญ่ดังเช่น “ประธานาธิบดีแฟรงกลิน ดี.รูสเวลล์” มาใช้เป็นบทเรียน สืบเนื่องจากสมัยนั้นอัตราของคนว่างงานมีพุ่งสูงถึง 25% แต่ไม่นานนักประธานาธิบดีรูสเวลล์ ก็สามารถแก้ไขวิกฤตให้พลิกฟื้นกลับคืนมาได้!!!

นอกจากนั้นแล้วดูเหมือนว่าในยุคการปกครองของประธานาธิบดีคาร์เตอร์ ยังมีปัญหาตามมาแบบผีซ้ำด้ามพลอย เพราะมีกลุ่มนักปฏิวัติมุสลิมเข้าไปยึดสถานทูตอเมริกา ในกรุงเตหะราน และยังจับชาวอเมริกันถึง 52 คนเอาไว้เป็นตัวประกันต่อรองแบบยาวนานถึง 444 วัน ซึ่งเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คะแนนนิยมของประธานาธิบดีคาร์เตอร์ร่วงหล่นตกฮวบลงถึง 28%

ส่วนความสำเร็จในการสร้างสันติระหว่างอียิปต์ กับ อิสราเอล จนได้รับ “รางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ” กลับมิได้ลบล้างความล้มเหลวต่อนโยบายเศรษฐกิจของประธานาธิบดีคาร์เตอร์ได้เลยแม้แต่น้อย

เท่าที่ผ่านมาดูเหมือนว่าประธานาธิบดีของสหรัฐฯที่นั่งอยู่ในตำแหน่งเพียงแค่สมัยเดียว ส่วนใหญ่แล้วมักจะล้มเหลวด้านการแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจที่ถือเป็นหัวใจหลักของการพัฒนาประเทศแทบทั้งสิ้น

และจากความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงทั้งนโยบายภายในและนโยบายต่างประเทศ จึงมีผลทำให้ประธานาธิบดีคาร์เตอร์ ต้องพ่ายแพ้อย่างยับเยินยอมยกตำแหน่งให้แก่ “ประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน”ด้วยคะแนนอิเล็กโทรัลโหวต 489 ต่อ 49 เสียง

อนึ่งขณะที่ประธานาธิบดีเรแกนเข้ารับตำแหน่งได้แค่เพียง 69 วันเท่านั้น ปรากฏว่าในวันที่ 20 มกราคม 1980 ท่านได้ถูกลอบยิง แต่เนื่องจากประธานาธิบดีเรแกนดวงยังแข็ง ในขณะนั้นไม่เป็นอะไรมากนัก รักษาไม่นานก็ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว จนสามารถกลับไปปฏิบัติหน้าที่ได้ตามปกติ และถึงแม้ว่าจะถูกลอบยิงแต่ประธานาธิบดีเรแกนออกมาแถลงต่อสื่อว่า

“มิได้เป็นเรื่องใหญ่โตแต่อย่างใด” แค่คำพูดเพียงประโยคเดียว มีผลทำให้คะแนนนิยมของท่านพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก

ทั้งนี้เนื่องจากประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกนมีพรสวรรค์และมีทักษะด้านการเจรจาพาที เพราะท่านเคยยึดอาชีพ นักแสดงภาพยนตร์ นักจัดรายการวิทยุ แถมยังเคยดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯรัฐแคลิฟอร์เนียสองสมัย แน่นอนว่าท่านมีประสบการณ์มาแล้วอย่างมากมาย

ประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ได้เขียนหนังสือเล่มหนึ่งมีความหนาถึง 748 หน้า ซึ่งเนื้อหาสาระในหนังสือเล่าว่า ท่านศึกษาในระดับปริญญาตรีวิชาเศรษฐศาสตร์ ในวิทยาลัยเล็กๆชื่อ“Eureka College” รัฐอิลลินอยส์ และต่อมาในขณะที่ท่านเป็นดาราภาพยนตร์สังกัดบริษัทยักษ์ใหญ่ Warner Bros.และเมื่อท่านได้รับค่าจ้างแล้วส่วนใหญ่รัฐบาลจะเรียกเก็บเป็นภาษี จนได้กลายเป็นความทรงจำติดอยู่ในใจตลอดเวลา โดยท่านเล่าว่า หากมีโอกาสก้าวเข้าไปในแวดวงการเมืองแล้วละก็ จะทำการปฏิรูปโครงสร้างระบบภาษี

และเมื่อประธานาธิบดีเรแกน ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งและก้าวเข้าสู่ทำเนียบขาวเมื่อปีค.ศ. 1980 ปรากฏว่าขณะนั้นพรรครีพับลิกัน ซึ่งท่านสังกัดอยู่มีเสียงข้างมากในวุฒิสภา แต่ในสภาผู้แทนฯพรรคเดโมแครตมีเสียงข้างมาก ทำให้ประธานาธิบดีเรแกนเล็งเห็นว่า หากต้องการประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาทางร่วมมือกับพรรคเดโมแครต ที่ถึงแม้ว่าจะเป็นศัตรูทางการเมืองก็ตาม

และเพื่อต้องการร่วมจับมือทำงานกับนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม ประธานาธิบดีเรแกนเล่าว่าท่านยึดในหลักที่ว่า จะต้องทำงานอย่างหนัก เพื่อทำความเข้าใจกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ท่านจึงตัดสินใจเชื้อเชิญให้ “ประธานสภาฯ ทีฟ โอนีล” (Tip O’Neil) นักการเมืองหัวก้าวหน้าของค่ายพรรคเดโมแครตเข้าพบปะที่ทำเนียบขาว เพื่อปรึกษาหารือด้านการปฏิรูปโครงสร้างภาษี

โดยครั้งนั้นประธานสภาฯโอนีลก็ยินดีที่จะให้ความร่วมมือ แม้ทั้งสองต่างตระหนักกันดีว่า เป็นศัตรูกันทางการเมือง แต่จำต้องนึกถึงประเทศชาติเป็นหลัก!!!

และในขณะเดียวกันประธานาธิบดีเรแกนเล็งเห็นว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชนคนอเมริกันด้วยเช่นกัน โดยครั้งแรกที่มีโอกาสกล่าวปราศรัยต่อคนอเมริกัน ท่านได้เน้นย้ำว่า โครงสร้างภาษีของสหรัฐฯไม่ยุติธรรมกับทุกฝ่าย และจำเป็นต้องมีการปฏิรูป แต่เนื่องจากปัญหานี้สะสมกันมาเป็นเวลาช้านาน จำเป็นที่จะต้องใช้เวลา และท่านยังเน้นต่อไปว่า ทุกฝ่ายจำเป็นต้องทำงานร่วมมือกันเพราะไม่สามารถล่าช้าในการปฏิรูปโครงสร้างภาษี

จากความชำนาญทางด้านเจรจากับสภาคองเกรสในที่สุดประธานาธิบดีเรแกนก็สามารถผลักดันให้ผ่านกฎหมายในสภาคองเกรส เพื่อกระตุ้นการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ สามารถควบคุมเงินเฟ้อ สามารถลดจำนวนคนว่างงานและเริ่มดำเนินการปฏิรูปโครงสร้างลดภาษี

ส่วนด้านนโยบายต่างประเทศ ประธานาธิบดีเรแกนก็ได้ใช้ความเชี่ยวชาญด้านการเจรจาเข้าพบปะแบบตัวต่อตัวกับ “มิคาอิล กอร์บาชอฟ”ผู้นำแห่งสหภาพโซเวียต จนนำไปสู่การยุติสงครามเย็น และทำให้สหภาพโซเวียตแตกออกเป็นเสี่ยงๆ

ในการดำรงตำแหน่งในสมัยที่สองนั้น ประธานาธิบดีเรแกน ได้รับชัยชนะ 49 รัฐ จาก 50 รัฐ และได้รับชัยชนะจากคะแนนอิเล็กโทรัลโหวตทั้งหมด 525 คะแนนจาก 538 คะแนน ที่ได้สร้างประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ โดยขณะนั้นท่านมีอายุ 73 ปี ถือเป็นประธานาธิบดีที่มีอายุมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯขณะที่ยังดำรงอยู่ในตำแหน่ง

กล่าวโดยสรุปทั้งนี้และทั้งนั้นดูเหมือนว่าปัจจัยหลักที่ทำให้ “ประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน” ประสบความสำเร็จในชีวิตเส้นทางการเมืองตั้งแต่ระดับผู้ว่าฯรัฐแคลิฟอร์เนีย เรื่อยมาจนกระทั่งก้าวเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯถึงสองสมัย แถมครั้งนั้นท่านยังได้รับคะแนนนิยมสูงถึง 73% และสามารถนำพาสหรัฐฯเข้าสู่ยุครุ่งเรืองทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสร้างความแข็งแกร่งเรื่อยมา สืบเนื่องมาจากท่านมีศิลปะในการเป็นนักประนีประนอม มีศิลปะในการเจรจากับศัตรูทางการเมืองฝ่ายตรงข้ามจนใจอ่อนยอมจับมือทำงานร่วมกันได้อย่างยอดเยี่ยม ซึ่งเรื่องราวดีๆของท่านที่กล่าวมาข้างต้น นักการเมืองของไทยน่าจะนำไปศึกษาเป็นบทเรียนสอนใจละครับ