แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ผลการสำรวจสถานการณ์สุขภาพจิตในปี 2565 พบว่า วัยรุ่นและเยาวชน ในช่วงอายุ 15-24 ปี มีคะแนนสุขภาพจิตเฉลี่ยต่ำที่สุด โดยในกลุ่มอายุต่ำกว่า 20 ปี มีความเครียดในระดับสูง มีความเสี่ยงภาวะซึมเศร้าและเสี่ยงฆ่าตัวตายสูงกว่ากลุ่มประชาชนวัยทำงานและวัยสูงอายุ

ทั้งนี้ ยังพบอีกว่า นักเรียนนักศึกษาเป็นกลุ่มเปราะบางที่มีโอกาสเกิดปัญหาสุขภาพจิต เช่น ภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล และเครียด เพิ่มขึ้นตลอดช่วงอายุที่เป็นวัยรุ่น และสูงสุดในวัยผู้ใหญ่ตอนต้น ซึ่งหากเยาวชนไม่ได้รับการสร้างเสริมการมีสุขภาพจิตที่ดี ไม่ได้รับการดูแลช่วยเหลือ ต้องเผชิญกับปัญหาเพียงลำพัง อาจนำไปสู่ปัญหาทั้งกับตนเอง ครอบครัว และสังคมได้ การดูแลช่วยเหลือนักเรียน นักศึกษาให้มีความรู้และทักษะในการดูแลจิตใจตนเอง พร้อมกับการส่งเสริมการเห็นคุณค่าในตนเอง ร่วมไปกับการดูแลช่วยเหลือทางจิตใจให้แก่นักเรียน นักศึกษาที่มีปัญหาสุขภาพจิตเป็นสิ่งที่จะช่วยให้สถานการณ์ดังกล่าวดีขึ้น

ด้านว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะเป็นแรงผลักดันและมีส่วนร่วมขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวไปพร้อมกัน ให้การดำเนินงานดูแลช่วยเหลือทางด้านจิตใจนักเรียน นักศึกษา ให้ครอบคลุมสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาทุกแห่ง โดยบูรณาการการทางานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และสถานศึกษา ให้ได้รับการส่งเสริมป้องกันและการดูแลช่วยเหลือการติดตามต่อเนื่องเพื่อเฝ้าระวังด้านสุขภาพจิตต่อไป