ร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน ตรวจสอบผลกระทบข้ามแดนโครงการสร้างเขื่อนปากแบง หวั่นเส้นเขตแดนไทย-ลาวเปลี่ยน เผยรายงานMRC-กสม.ต่างทักท้วงแต่ยังเดินหน้า
วันที่ 8 ก.พ.66 นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือ ครูตี๋ ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ เปิดเผยว่า กลุ่มรักษ์เชียงของได้ส่งหนังสือถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงเขตแดนระหว่างประเทศไทยและ สปป.ลาว รวมทั้งผลกระทบข้ามพรมแดนด้านต่างๆ จากโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนปากแบง ซึ่งจะสร้างกั้นแม่น้ำโขง บริเวณเมืองปากแบง แขวงอุดมไซ ใน สปป.ลาว เนื่องจากชาวบ้านและกลุ่มอนุรักษ์มีความกังวลใจอย่างยิ่ง จากที่กระทรวงพลังงานของไทย ประกาศว่าจะเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้า จากโครงการดังกล่าว ที่มีกำลังผลิตไฟฟ้า 920 เมกะวัตต์
นายนิวัฒน์ กล่าวว่า โครงการสร้างเขื่อนปากแบง อยู่ห่างบริเวณผาได บ้านห้วยลึก อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย เพียง 97 กิโลเมตร ซึ่งคนในพื้นที่ที่ติดตามสถานการณ์แม่น้ำโขงมีคำถามถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งต่อเรื่องเขตแดนที่ระดับน้ำจะเปลี่ยนไปและมีผลต่อเกาะแก่ง ซึ่งบริเวณริมน้ำดังกล่าวยังไม่มีเขตแดนชัดเจน โดยหลายครั้งเกิดข้อพิพาทของชาวบ้านสองฝั่ง และยังกังวลถึงปัญหาน้ำเท้อจากเขื่อนที่ยังไม่มีการประเมินผลกระทบชัดเจนว่าจะเท้อถึงพื้นที่ใด มีผลกระทบอย่างไร และจะทำให้พื้นที่ลุ่มน้ำโขงที่ชายแดนไทย-ลาว บริเวณเชียงรายกลายเป็นอ่างเก็บน้ำหรือไม่ หากการปล่อยน้ำจากเขื่อนไม่สัมพันธ์กันระหว่างเขื่อนเหนือพื้นที่เชียงรายกับเขื่อนที่อยู่ตอนล่าง
“ขณะนี้คำถามเรื่องผลกระทบมากมายที่ยังไม่มีคำตอบ แต่กลับมีการเดินหน้าแผนการรับซื้อไฟฟ้า รอเพียงการลงนามระหว่าง กฟผ. และบริษัทร่วมทุนไทย- จีน ผู้พัฒนาโครงการ ไม่มีคำตอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชัดเจนให้คลายข้อสงสัยได้ จึงต้องขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินได้เข้ามาตรวจสอบการดำเนินการของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและหาข้อมูลข้อเท็จจริงก่อนที่โครงการจะขับเคลื่อนต่อไปที่ไม่สามารถแก้ไขอะไรและเกิดผลกระทบต่อประชาชนแบบซ้ำๆ ” ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของกล่าว
ทั้งนี้ โครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนปากแบงมีบริษัทกัลฟ์ เอนเนอร์จี ดีเวลลอปเม้นท์ (Gulf Energy Development Public Co., Ltd. - GULF) และ บริษัท China Datang Overseas Investment Co., Ltd. เป็นผู้ร่วมพัฒนาโครงการ โดยเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2559 ได้เข้าสู่กระบวนการตามระเบียบปฏิบัติเรื่องการแจ้งการปรึกษาหารือล่วงหน้า และข้อตกลง (PNPCA) ตามข้อตกลงแม่น้ำโขง(Mekong Agreement 1995) พ.ศ. 2538 ซึ่งดำเนินการด้วยความไม่สมบรูณ์ของรายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม เนื่องจากมีการใช้ข้อมูลการสำรวจที่ล้าสมัย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการสร้างเขื่อนปากแบงมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มาก เพราะไม่ได้มีการจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดน เนื่องจากดำเนินการภายใต้กรอบข้อกฎหมายของ สปป.ลาว ในกระบวนการ PNPCA นั้น สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRCs) ได้เผยแพร่ เอกสารการทบทวนทางเทคนิค(Technica lReviews Report) ต่อรายงานการศึกษาความเป็นไปได้และ รายงานการประเมินผลกระทบทุกด้านของโครงการในเว็บไซด์ในประเทศไทยคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย(Thai Mekong River Commission) โดยกรมทรัพยากรน้ำ และต่อมาสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ทำหน้าที่จัดการประชุมเพื่อรับฟังความเห็นของประชาชน นำไปประกอบการพิจารณาของคณะทำงานแม่น้ำโขง 4 ประเทศ(Join committee) ด้วยเช่นกัน ผู้ร่วมประชุมร่วมวิเคราะห์ถึงความไม่สมบูรณ์ของรายงานที่เกี่ยวข้องมีดังนี้
1.ไม่มีการศึกษาผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงเขตแดนตามธรรมชาติในแม่น้ำโขง ระหว่างประเทศไทย กับ สปป.ลาว ด้านเหนือเขื่อนปากแบง ในเขต อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย ในขณะที่รายงาน Technical Review Report for the Pak Beng Hydropower project (PBHPP), มิถุนายน 2560, (https://www.mrcmekong.org/assets/Consultations/PakBengBengHydropowerProj... Technical-Review-Report.pdf ) หน้า 62-64 ได้ให้ข้อมูลถึงสภาวะน้ำเท้อ (Backwater effect) จากเขื่อนปากแบง ทั้งในฤดูแล้งและฤดูฝนขอบเขตของอ่างเก็บน้ำเขื่อนปากแบงได้ล้ำมาถึงเขตประเทศไทยมากกว่า10 กิโลเมตร
2.เขื่อนปากแบงไม่มีการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดน ในมิติอื่นๆ เช่น ความเสื่อมโทรมของทรัพยากร ประมง,ประสิทธิภาพของทางปลาผ่าน,ผลกระทบต่อการประมงและการปลูกพืชริมตลิ่ง,เฉพาะโดยผลกระทบ จากภาวะน้ำเท้อ” (Backwater effect) ต่อชุมชนเขต อ.เวียงแก่น อ.เชียงของ จ.เชียงราย และผลกระทบ ต่อเนื่องไปยังแม่น้ำสาขาคือ แม่น้ำงาว และแม่น้ำอิง โดยเฉพาะต่อพื้นที่ตั้งหมู่บ้านพื้นที่ทำกิน พื้นที่การเกษตรของชุมชนในเขต อ.เวียงแก่น อ.เชียงของ และ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย จำนวนอย่างน้อย 27 หมู่บ้านริมฝั่งแม่น้ำโขง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหมู่บ้านในเขต ต.ม่วงยาย อ.เวียงแก่น และ อ.เชียงของ
ทั้งนี้ เมื่อปี 2559 นายทองสุข อินทะวงศ์ ผู้ใหญ่บ้านห้วยลึก อ.เวียงแก่น ได้ร้องเรียนให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิชุมชนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กรณีเขื่อนปากแบง ต่อมา กสม.ได้ออกรายงานการตรวจสอบเมื่อวันที่ 19 กมุภาพันธ์ 2563 เนื้อหารายงานระบุข้อมูลสำคัญว่ากรมทรัพยากรน้ำในฐานะผุ้ถูกร้องได้ว่าจ้างคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ดำเนินโครงการสำรวจภูมิประเทศเพื่อกำหนด ขอบเขตพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม จ.เชียงราย จากโครงการเขื่อนปากแบง ตั้งแต่พื้นที่บริเวณสบกก อ.เชียงแสน ถึง แก่งผาได อ.เวียงแก่นรวมระยะทาง 119 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่เสี่ยง 27 หมู่บ้านในเขตประเทศไทย โดย จากการสำรวจพบว่า มี 2 หมู่บ้านที่น่ากังวล คือ บ้านห้วยลึกและบ้านแจมป๋อง มีระดับใกล้เคียงกับระดับกักเก็บหน้าเขื่อนที่ สปป.ลาวแจ้ง ไว้คือ ระดับ 340 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก.) ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของกรมชลประทานที่เห็นว่า โครงการเขื่อนปากแบงอาจจะส่งผลให้ระดับแม่น้ำงาวและแม่น้ำอิงสูงขึ้น ในช่วงฤดูน้ำหลาก ซึ่งจะส่งผลกระทบด้านนอกทุกภัย ในพื้นที่ อ.เชียงของ อ.ขุนตาล และ อ.เทิง และลุ่มน้ำงาว ในเขต อ.เวียงแก่น เพิ่มสูงขึ้นได้ และกสม.ได้มีข้อเสนอต่อหน่วยงานของรัฐไทยที่เกี่ยวข้องให้ทำการปกป้องคุ้มครองสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ
3.แม่น้ำโขงบริเวณพรมแดนไทยลาว ในพื้นที่ จ.เชียงรายตั้งอยู่ระหว่างเขื่อนจิงหง ในประเทศจีน และเขื่อนปากแบง ที่จะก่อสร้างใน สปป.ลาว ซึ่งจะกลายเป็นอ่างเก็บน้ำระหว่างเขื่อนทั้งสองแห่ง หากมีการ บริหารจัดการน้ำที่ไม่สอดคล้องก้น และอาจจะส่งผลกระทบต่อเส้นเขตแดนระหว่างไทย-ลาวในอนาคต