เป็นระยะเวลากว่าหกเดือนที่หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตนวัตกรรมการจัดการสุขภาพยุคดิจิทัล หรือ HIDA รุ่นที่ 2 ยังดำเนินการอบรมอย่างต่อเนื่อง มีทั้งภาควิชาการ ภาคปฎิบัติ รวมถึงลงพื้นที่ศึกษาดูงานในต่างจังหวัด และ ทำกิจกรรมเพื่อสังคมด้วยการบริจาคสิ่งของอุปโภคบริโภคให้กับผู้ยากไร้ โดยเนื้อหาในการบรรยายวิชาการมุ่งเน้นให้ความรู้ดูแลสุขภาพแบบศาสตร์องค์รวมมีความเข้มเข้มมากขึ้น เพื่อเป้าหมายให้ผู้เข้าอบรมสามารถนำไปปฏิบัติและดูแลสุขภาพของตนเองและนำไปดูแลสมาชิกในครอบครัวให้แข็งแรง ปลอดภัยและลดการใช้ยาที่อาจจะเกิดผลข้างเคียงได้
โดยในช่วงบรรยายงานวิชาการ ในสัปดาห์นี้ ทางหลักสูตรมุ่งเน้นการให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลอวัยวะในร่างกาย โดยเฉพาะ ตา หู คอ จมูก พลอากาศโทนายแพทย์ไกรเลิศ เธียรนุกูล ผู้ทรงคุณวุฒิและจักษุแพทย์ โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กล่าวบรรยายในหัวข้อ “ การถนอมดวงตา ” ว่า โรคตาที่พบได้บ่อย คือ ตาแห้ง อาการที่บ่งชี้ เคืองตา แสบตา น้ำตาไหล คันตา ตาแดง ไม่สบายตา ตาพร่ามัว แพ้แสง มีสาเหตุเกิดจาก ดวงตาผลิตน้ำตาออกมาน้อย อายุ ยากินบางชนิดเช่น ยาภูมิแพ้ ยาหยอดตาบางประเภท รวมถึง อากาศ ฝุ่น ควัน การรักษาตาแห้ง ใช้วิธีรักษาตามสาเหตุ ควรหลีกเลี่ยงภาวะเสี่ยง เช่นการอ่านหนังสือนานๆ ไม่อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์นานๆ หากต้องไปอยู่ในสถานที่ที่มีฝุ่นให้ ใส่แว่นกันแดดป้องกันฝุ่น และ ใช้น้ำตาเทียม
โรคตาที่พบได้บ่อยเช่นกันคือ ต้อลม โดยที่บริเวณดวงตาจะเกิดเนื้อเยื่อบุตาขาวมีลักษณะหนา หรือ เป็นก้อนชิ้น อาการที่บ่งชี้มีลักษณะแบบเดียวกันกับตาแห้ง คือ มีอาการ เคืองตา แสบตา น้ำตาไหล คันตา ตาแดง ตาขาวขุ่น มีก้อนที่ตาขาว ไม่สบายตา และจะมีอาการเป็นมากเวลาโดนฝุ่นหรือลม การรักษาให้หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น ใส่แว่นกันแดดป้องกันลม ยาหยอดตา ไม่ต้องผ่าตัด
การเป็นต้อลม อาจจะพัฒนากลายเป็น ต้อเนื้อ เกิดมีเยื่อที่บริเวณข้างตาดำ บังการมองเห็น สาเหตุมีอาการระคายเคือง มีสิ่งกระตุ้นเช่น แสงแดด ฝุ่น ลม การรักษาใช้วิธีเดียวกับต้อลม แต่หากมีอาการมากรบกวนการมองเห็น อักเสบบ่อยๆ กลอกตาลำบากเนื่องจากเกิดผังพืด ต้องใช้การผ่าตัดร่วมกับการผ่าตัดอื่น หลังจากผ่าตัด สามารถกลับมาเป็นใหม่ได้ อายุมากโอกาสเป็นซ้ำน้อยลง และ ต้องใช้วิธีป้องกัน
นอกจากนี้ โรคตาที่พบได้บ่อยเช่นกันเมื่อายุเริ่มมากขึ้น คือต้อกระจก เป็นการขุ่นของเลนส์แก้วตา อาการที่บ่งชี้ ตามัว มองเห็นสิ่งที่เปลี่ยนไป เช่นสีจางลง ออกแดดหรือแสงจ้าจะตามัวเหมือนมีหมอก ไม่เคืองตา ไม่ตาแดง ไม่ปวดตา ขับรถกลางคืนลำบาก สาเหตุอายุมากขึ้นมีโอกาสเป็นได้ รวมถึงโรคประจำตัวบางชนิดเช่น เบาหวาน ความดัน แสงแดดเป็นตัวกระตุ้นทำให้ตัวเลนส์เปลี่ยนแปลงได้ การใช้ยาบางชนิดเช่น ยาสเตียลอยด์ อุบัติเหตุการผ่าตัด เช่น ได้รับการกระแทก หากปล่อยไว้นานจะทำให้ต้อสุก ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ต้อหิน ปวดตา ความดันขึ้นอาจส่งผลให้ตาบอดได้ ส่วนวิธีการรักษาควรหลีกเลี่ยงสาเหตุที่ป้องกันได้ เฝ้าตรวจติดตามจนมีข้อบ่งชี้ในการผ่าตัด และ ใช้ยาหยอดตาชะลอต้อกระจก หากมีอาการตามัวรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน มีภาวะแทรกซ้อน หรือ รบกวนการรักษาโรคที่จอประสาทตา ต้องรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด เช่น การผ่าตัดคลอดเลนส์และถุงหุ้มเลนส์ การผ่าตัดคลอดเลนส์เหลือถุงหุ้มเลนส์ การผ่าตัดสลายต้อกระจกโดยใช้คลื่นเสียงทำให้แผลผ่าตัดเล็ก ไม่ต้องนอนโรงพยาบาลโดยใช้ระยะเวลาผ่าตัดประมาณ 15-20 นาที และ การผ่าตัดเลนส์ผ่านทางวุ้นตา อย่างไรก็ตาม หลังการผ่าตัดอาจะเกิดภาวะถุงหุ้มเลนส์ขุ่นสามารถรักษาได้ด้วยการยิงเลเซอร์เปิดถุงหุ้มเลนส์
และ โรคตาที่ต้องระวังเป็นอย่างมาก คือ ต้อหิน ซึ่งเกิดจากภาวะเส้นประสาทตาเสียหายที่เกิดจากความดันตาสูง มักจะแสดงอาการเมื่อโรคเข้าสู่ภาวะรุนแรง และ ทำให้ตาบอดมองไม่เห็นได้ สำหรับอาการบ่งชี้ จะมองไม่เห็นด้านข้าง ตามัว ตาแดง ปวดตารุนแรง ปวดศีรษะ อาเจียน และ เห็นแสงไฟแตกกระจาย โดยมีปัจจัยเสี่ยงมาจากความดันตาสูง อายุที่มากขึ้น ประวัติคนในครอบครัวเป็นต้อหิน ใช้ยาสเตียลอยด์ รวมถึง ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน
ทั้งนี้ ต้อหินมีหลายชนิด เช่น ต้อหินมุมเปิด ต้อหินมุมปิด ต้อหินแทรกซ้อน และ ต้อหินแต่กำเนิด โดยกลุ่มผู้สูงอายุควรตรวจตาเพื่อวัดความดันตา โดยความดันตาปกติควรอยู่ที่ 12-22 มม.ปรอท ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพของประสาทตาและ การเปลี่ยนแปลงรวมถึงช่วงเวลา ตรวจจอประสาทตา ขั้วประสาทตา และ ตรวจลานสายตา วิธีการเริ่มรักษาต้อหินแพทย์จะให้ใช้หยอดตา หากไม่สามารถคุมได้ด้วยยา อาจต้องใช้การผ่าตัด ด้วยการยิงเลเซอร์เปิดทางระบายน้ำ การผ่าตัดทำทางระบายน้ำใหม่ที่ตา แนะนำให้ผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป รวมถึง ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นต้อหิน ควรตรวจป้องกันโรคต้อหิน
พลอากาศโทนายแพทย์ไกรเลิศ กลาวถึง สายตาผู้สูงอายุ จะมีทั้ง สายตาปกติ สายตาสั้น สายตายาว และ สายตาเอียง สายตาผู้สูงอายุเริ่มเปลี่ยนแปลงเมื่อประมาณอายุ 40 ปี มองระยะไกลเป็นปกติ กำลังเพ่งของเลนส์แก้วตาลดลงตามอายุ เลนส์แก้วตาไม่สามารถรวมภาพมาที่จอประสาทตาได้เวลามองใกล้ ส่วนวิธีแก้ไขในระยะเริ่มต้นให้ขยับหนังสือออกห่างจากตา ใช้แสงสว่างในการอ่าน เริ่มใช้แว่นอ่านหนังสือ เช่น แว่นชั้นเดียว แว่นสองชั้น และ แว่นไร้รอยต่อ อย่างไรก็ตาม สายตาผู้สูงอายุ จะเกิดภาวะใช้ตาสองข้างไม่พร้อมกัน เนื่องจากดูไกลใกล้คนละข้าง ใช้ได้ในผู้ใหญ่ แต่ใช้ไม่ได้กับทุกคน โดยเฉพาะ เด็ก เพื่อป้องกันเกิดตาขี้เกียจ
และ โรคทางจอประสาทตาที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะ วุ้นตาเสื่อม มีลักษณะเป็นเจลใสในลูกตา เนื่องจาก อายุมากขึ้นวุ้นตาเริ่มเปลี่ยนสภาพ ปัจจัยเสริม การกระแทก ผ่าตัด และผู้ที่สายตาสั้นมากๆ อาการบ่งชี้เกิดหยากไย่ เหมือนมีฝุ่นลอยไปมาในตา มีแสงแวบ แสงไฟ ฟ้าแลบ แต่การมองเห็นปกติ วิธีการรักษา ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจตาโดยละเอียดด้วยการขยายม่านตา งดการขยับศีรษะแรงๆ และ ให้สังเกตอาการหยากไย่ลอยไปมายังคงอยู่ แสงแวบ ไม่มียารักษา หากมีอาการมากขึ้นใช้วิธีรักษาด้วยยิงเลเซอร์ หรือ ใช้วิธีผ่าตัด
ก่อนจบการบรรยาย พลอากาศโทนายแพทย์ไกรเลิศ ให้คำแนะนำวิธีการถนอมดวงตา ควรสังเกตความผิดปกติ เช่น การมอง ปวดตา ปวดศีรษะ การดูแลโรคประจำตัว การใช้ยาหยอดตาบางชนิดต้องระวังโดยเฉพาะ ยาสเตียลอยด์ การใช้ยาทานบางชนิด และ หมั่นตรวจตาเป็นประจำทุกปี
ในช่วงที่สองของการบรรยายวิชาการ พลตรีนายแพทย์รัฐวิชญ์ วุฒิภัทรพิบูลย์ เสนาธิการศูนย์อำนวยการแพทย์พระมงกุฎเกล้าและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหู คอ จมูก กล่าวในหัวข้อ “ การดูแลรักษาหู ” ว่า โรคหูเป็นโรคที่มองไม่เห็นทำให้หลายๆคนไม่ค่อยให้ความสำคัญ ทั้งนี้ โรคหูมีความสำคัญเพราะทำให้เกิดการสูญเสียการได้ยินเสียง มีเสียงรบกวนในหู มีปัญหาในการทรงตัว มีอาการเวียนศีรษะ
ทั้งนี้ คนที่มีอายุ 55-60 ปีขึ้นไป จะเกิดปัญหาเสียงรบกวนในหูเป็นเวลานาน เกิดจากสภาพร่างกายเสื่อมตามวัย หรือ ได้ยินเสียงแต่ไม่ชัดเจน และ มีอาการหูดับไม่ได้ยินเสียง ประสาทหูเสื่อม ต้องรีบรักษาโดยเร็วภายในระยะเวลา 3-7 วัน เพื่อให้กลับมาได้ยินเสียงเป็นปกติ โดยใช้ยาฉีดกระตุ้นเข้าไปในหูชั้นกลาง ลดอาการบวมในเส้นประสาท
โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เป็นโรคของหูชั้นใน เกิดจากหินปูนหลุด ท่อเลือดตีบ ทำให้มีปัญหาในการทรงตัว มีอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุน เมื่อมีอาการให้หยุดขับรถ และ กินยาแก้เมารถเพื่อช่วยบรรเทาอาการ จากนั้นให้รีบไปโรงพยาบาลพบแพทย์ทันที
สำหรับอาการวิงเวียนศีรษะ ทำให้เสียการทรงตัว เดินเซ คลื่นไส้อาเจียน หูอื้อ เหงื่อแตก ปวดหัวรุนแรง อาจจะเป็นโรค น้ำในหูไม่เท่ากัน โรคทางสมอง โรคความดันสูง ภาวะน้ำตาลต่ำ โรคความดันต่ำ โรคระบบไหลเวียนโลหิต โรคกังวล อุบัติเหตทางสมอง และ ภาวะเมารถ ภาวะเมาเรือ และ ยืนที่สูง ทั้งนี้ สิ่งที่กระตุ้นทำให้เกิดอาการวิงเสียนศีรษะ เช่น นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ ใช้สายตามาก ผลข้างเคียงจากยา เช่น ยาลดความดัน เปลี่ยนท่าเร็ว เมาเหล้า เครียด และ สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง เช่น อุณหภูมิ
โรคปัญหาทางเดินหายใจก้อนที่คอ พบบ่อย คือ มีอาการเจ็บคอ ไอเรื้อรังเป็นระยะเวลานาน สาเหตุส่วนใหญ่ เกิดจากภายหลังการติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจ ภายใน 1-3 สัปดาห์ หากไอเรื้อรัง มีระยะเกิน 8 สัปดาห์ต้องพบแพทย์เพื่อวินิจฉัย รักษาด้วยการกินยาแก้ไอ ยาแก้ภูมิแพ้ และดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 2.5-3 ลิตร หากพบก้อนที่คอ เสี่ยงเป็นหลายโรค เช่น ติดเชื้อ ไทยรอยด์ ต่อมน้ำเหลือง ซีสต์ หากมีก้อนที่คอโตนาน 7 เดือนเสี่ยงเป็นมะเร็งได้ ใช้วิธีการรักษาฉายแสง นอกจากนี้ หากมีอาการกลืนลำบาก ปวดหู เจ็บในคอทั้งนอกและในคอ น้ำหนักลด คัดจมูกข้างเดียวเป็นเวลานาน หายใจลำบาก ไอเป็นเลือด ควรรีบพบแพทย์โดยเร็ว
โรคกรดไหลย้อน สามารถรักษาหายได้แต่ต้องใช้เวลาในการกินยานาน เนื่องจากเกี่ยวกับพฤติกรรมการกินอาหาร หากมีอาการปวดท้อง ปวดหัวไหล่และลามไปถึงหลัง ต้องรีบไปโรงพยาบาล เพราะอาจจะเสี่ยงไปถึงกล้ามเนื้อหัวใจ
และโรคที่พบได้บ่อยคือ นอนกรนหยุดหายใจ อาการที่พบ หายใจดังขณะหลับ ปวดหัว ง่วงทั้งวัน มีอาการมึน หงุดหงิดง่าย นั่งหลับ ปัสสาวะบ่อย แนะนำให้ทำสลีบเทส เพื่อทำการรักษา รวมถึง โพรงจมูกอักเสบและไซนัสอักเสบ เกิดจากอาการหวัดเรื้อรัง สัญญาณบ่งชี้ คือ น้ำมูกข้น ปวดใบหน้า ก้มหน้าและเป็นลม ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ ควรเข้ารับการรักษาทันที