นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มุ่งเน้นเรื่องทราฟฟี่ ฟองดูว์ ซึ่งเป็นหัวใจของนโยบายทั้งหมด ว่าด้วยความไว้ใจของประชาชน คืนอำนาจ ให้คนกรุงแจ้งปัญหาสะดวกขึ้น ชี้วัดว่าเขตไหนทำอะไรแค่ไหน ตัวเลขทราฟฟี่ ฟองดูว์ระบุชัด

จากข้อมูล 31 ม.ค.2566 มีผู้แจ้งเหตุทั้งหมด 240,000 เรื่อง มีเรื่องค้างส่วนใหญ่ 2 ส่วน คือ 1.สำนักการโยธา มีเรื่องเข้ามาทั้งหมด 30,205 เรื่อง กำลังดำเนินการ 14,584 เรื่อง เสร็จสิ้น 10,310 เรื่อง เรื่องที่ค้างส่วนใหญ่เป็นปัญหาใหญ่ อาจต้องเพิ่มงบฯ เช่น ถนนพัง 2.สำนักการจราจรและขนส่งมีเรื่องแจ้งเข้ามาทั้งหมด 11,710 เรื่อง ดำเนินการแล้ว 5,793 เรื่อง ค้างอยู่ 4,923 เรื่อง ขณะเดียวกัน ภาคสำนักงานเขตทำได้เกือบ 200,000 เรื่อง จากทั้งหมด 240,000 เรื่อง เช่น กรุงเทพมหานครทิศเหนือ รับเรื่องมาทั้งหมด 38,257 เรื่อง ทำเสร็จแล้ว 27,619 เรื่อง กำลังดำเนินการ 1,646 เรื่อง ที่เหลือต้องส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้แม้จะเน้นการแก้ไขรายละเอียดปลีกย่อยในระดับเส้นเลือดฝอย แต่ตลอดระยะเวลาที่ทำหน้าที่ผู้ว่าฯกทม.นายชัชชาติ ต้องรับมือกับปัญหาการทุจริตของข้าราชการซึ่งเป็นปัญหาระดับต้นที่มีผู้ร้องเรียนผ่านทราฟฟี่ ฟองดูว์เช่นกัน ตั้งแต่การปลอมใบเสร็จค่าเก็บขยะ การเรียกรับส่วยหาบเร่แผงลอยของเจ้าหน้าที่เทศกิจ นายชัชชาติ กล่าวว่า ได้รับเทปบันทึกเสียงประกอบการร้องเรียนเรื่องทุจริตมากมาย อยู่ระหว่างการตรวจสอบ โดยเฉพาะการเรียกรับเงินจากผู้ค้าหาบเร่แผงลอย เบื้องต้นได้ย้ายหัวหน้าเทศกิจไปประจำเขตอื่นแล้ว 42 ราย

ที่ผ่านมามีการร้องเรียนเรื่องทุจริตประมาณ 350 เรื่อง ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการสืบสวน โดยเรื่องหลักมาจากฝ่ายโยธา เทศกิจ สิ่งแวดล้อม และฝ่ายรายได้ โดยปี 2562 สำนักการโยธาถูกปลดออก 1 ราย ปี 2563 ไล่ออก 1 ราย ปี 2565 ไล่ออก 2 ราย สำนักการคลัง ในปี 2562 ไล่ออก 1 ราย สำนักเทศกิจ ในปี 2563-2564 ปลดออก 2 ราย ไล่ออก 1 ราย สาเหตุส่วนใหญ่ คือ เรียกรับเงินจากผู้ประกอบการเกี่ยวกับป้ายโฆษณาโดยมิชอบ การออกเอกสารจัดเก็บค่าธรรมเนียมจอดรถโดยไม่นำเงินเข้าระบบ(เก็บเงินเอง) รวมถึง นำโครงการของเอกชนมาเติมน้ำมันหลวง และปลอมใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร

นายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาของผู้ว่าฯกทม. กล่าวว่า การทำงานของหน่วยงานใน กทม.มีลักษณะเหมือนกล่องใครกล่องมัน ไม่เชื่อมโยงเท่าที่ควร คือต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างใช้งบฯ ทั้งที่หลายเรื่องมีงานลักษณะเดียวกัน เช่น เรื่องท่อระบายน้ำ เรื่องคลองต่างๆ ทั้งสำนักงานเขตและสำนักต่างๆ ไม่บูรณาการร่วมกัน เป็นจุดอ่อนซึ่งสร้างอุปสรรคในการดำเนินงาน และเปิดช่องในการทุจริตมากขึ้น ซึ่งที่จริงแล้วงานใน กทม.มีเป้าหมายเดียวกันคือทำเพื่อประชาชน และทุกฝ่ายมีความเชื่อมโยงกันทั้งหมด

“ขณะที่ปัญหาการทุจริตเริ่มปรากฎออกมาชัดขึ้นจากกรณี ผอ.โรงเรียนแห่งหนึ่งถูกจับกุมข้อหาเรียกรับเงินจากผู้ประกอบการด้านอาหารโรงเรียน ทำให้ถูกตั้งคำถามถึงนโยบายโปร่งใส ไม่ส่วย ไม่เส้น ของผู้ว่าฯกทม. ว่ามีความเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้แค่ไหน”

นอกจากการยึดระบบทราฟฟี่ ฟองดูเป็นศูนย์บัญชาการในการแก้ปัญหาระดับเส้นเลือดฝอยต่างๆ แล้ว ปัญหานอกทราฟฟี่ ฟองดูว์ก็ประดังไม่แพ้กัน โดยเฉพาะฝุ่น PM2.5 แน่นอนว่าส่วนหนึ่งเกิดจากมลพิษจราจร ก่อสร้าง การเผา ซึ่งเป็นสิ่งที่พอจะควบคุมได้ แต่ตลอดสัปดาห์นี้ซึ่งค่าฝุ่นสูงเกิน 100 มคก./ลบ.ม กทม.พบว่า ปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้สำคัญกว่า เช่น การลอยตัวของเพดานชั้นบรรยากาศต่ำลง ทำให้ฝุ่นที่มีปริมาณเท่าเดิมกลับให้ค่าที่สูงจนกระทบสุขภาพ เปรียบเสมือนฝุ่นเท่าเดิมแต่ห้องแคบลง รวมถึงลม ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการนำพาฝุ่นเข้า-ออกพื้นที่ และดูเหมือนว่า ปริมาณฝุ่นไม่สำคัญเท่าเพดานชั้นบรรยากาศและกระแสลม สิ่งนี้ยังไม่สามารถแก้ไขได้ เมื่อใดที่ลมอ่อน เพดานชั้นบรรยากาศต่ำ ค่าฝุ่นจะสูงขึ้นทันที ทั้งที่ฝุ่นมีปริมาณเท่าเดิม

ปัญหาเหล่านี้ เป็นเรื่องที่ กทม.โดยนายชัชชาติ จะต้องเจออีกนาน ถือว่าหนักเอาการสำหรับทีมบริหาร 18 คน กับข้าราชการกว่า 80,000 คน หากไม่เชื่อมโยงบูรณาการอย่างที่นายต่อศักดิ์กล่าว กงล้อ กทม.อาจหมุนไปข้างหน้าไม่ราบรื่นนัก