ฝนหลวงฯ ตั้งหน่วยฯ เคลื่อนที่เร็ว เร่งทำฝนบรรเทาปัญหาหมอกควัน ไฟป่าและฝุ่น PM 2.5 พื้นที่ภาคเหนือ กรุงเทพฯและปริมณฑล

วันที่ 6 ก.พ.66 ณ ห้อง AEOC ชั้น 2 อาคารศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร นายวีรวัฒน์ อังศุพาณิชย์ รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ด้านบริหาร เปิดเผยว่า จากที่ค่าคุณภาพอากาศในประเทศไทย โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ภาคเหนือ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เริ่มมีค่าเฉลี่ยสูงขึ้นและมีค่าสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน เนื่องจากลมที่พัดปกคลุมประเทศไทยบริเวณตอนบนมีกำลังอ่อนลง จึงทำให้มีการสะสมของฝุ่นละอองเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับข้อมูลสถานการณ์ค่าคุณภาพอากาศจากกรมควบคุมมลพิษ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 พบว่า มีสารมลพิษทางอากาศที่ตรวจพบเกินมาตรฐาน ได้แก่ ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 มีค่าคุณภาพอากาศอยู่ระหว่าง 47 - 128 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน หรือ PM10 มีค่าคุณภาพอากาศอยู่ระหว่าง 62-188 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งอยู่ในระดับเริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพ (สีส้ม) ถึงระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีแดง) โดยส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือ กรุงเทพมหานครและปริมณฑลเป็นวงกว้าง

จากสถานการณ์ดังกล่าว กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้วิเคราะห์สภาพอากาศพบว่าในช่วงวันที่ 3-6 กุมภาพันธ์ 2566 บริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้มีความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศมากขึ้น จึงได้สั่งการให้ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็วจำนวน 2 แห่ง ได้แก่ หน่วยปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็วจังหวัดเชียงใหม่ ณ สนามบินกองบิน 41 อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีเครื่องบินของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ชนิด Casa จำนวน 2 ลำ ปฏิบัติภารกิจตั้งแต่วันที่ 3-7 กุมภาพันธ์ 2566 รวม 5 วัน และหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็วจังหวัดระยอง ณ สนามบินอู่ตะเภา อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง โดยมีเครื่องบินของกรมฝนหลวง ชนิด Caravan จำนวน 2 ลำ ปฏิบัติภารกิจตั้งแต่วันที่ 3-12 กุมภาพันธ์ 2566 รวม 10 วัน เพื่อปฏิบัติการทำฝนเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ป่าไม้ บรรเทาปัญหาหมอกควัน ไฟป่า และปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (Pm 2.5) บริเวณพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออก และกรุงเทพมหานคร ซึ่งได้เริ่มปฏิบัติการทำฝนมาตั้งแต่วันที่ 3 - 5 กุมภาพันธ์ 2566 โดยมีผลการปฏิบัติการ 3 วัน รวม 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และกรุงเทพฯ ขึ้นปฏิบัติการทั้งสิ้น 16 เที่ยวบิน (28:10 ชั่วโมงบิน) ดังนี้

-หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็ว จ.เชียงใหม่ ขึ้นบินปฏิบัติภารกิจทำฝนบรรเทาปัญหาหมอกควันและไฟป่า โดยเครื่องบิน CASA จำนวน 2 ลำ รวม 8 เที่ยวบิน (14:50 ชั่วโมงบิน) บริเวณพื้นที่ ดอยสุเทพ อ.เมือง อ.อมก๋อย อ.สะเมิง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ดอยพระบาท ดอยจระเข้ อ.แม่จัน จ.เชียงราย อ.เมืองปาน จ.ลำปาง จ.ลำพูน และรอยต่อ อ.สามเงา จ.ตาก ทำให้มีฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลางบริเวณพื้นที่ป่าไม้ อ.แม่ริม อ.สะเมิง อ.อมก๋อย อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ อ.ศรีเสริมงาม จ.ลำปาง และ อ.ทุ่งหัวช้าง จ.ลำพูน

-หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็ว จ.ระยอง ขึ้นบินปฏิบัติภารกิจทำฝนบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยเครื่องบิน CARAVAN จำนวน 2 ลำ รวม 8 เที่ยวบิน (12:50 ชั่วโมงบิน) บริเวณพื้นที่ อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี อ.ราชสาส์น อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ทำให้มีฝนตกเล็กน้อยบริเวณ อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี อ.พนมสารคาม อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา และ เขตหนองจอก เขตมีนบุรี เขตคลองสามวา กรุงเทพฯ ซึ่งจากข้อจำกัดทางการบินในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ ทำให้สามารถปฏิบัติการได้เพียง 2 ขั้นตอนตามตำราฝนหลวงพระราชทาน คือขั้นตอนที่ 1 ก่อกวนหรือก่อเมฆ เป็นการดัดแปรสภาพอากาศเพื่อกระตุ้นให้เกิดเมฆ และขั้นตอนที่ 2 คือเลี้ยงให้อ้วน เป็นการรวบรวมและทำมวลเมฆให้โตและหนาแน่นเพียงพอ แต่เนื่องด้วยช่วงนี้มีสภาพอากาศที่มีความชื้นมากขึ้น กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จึงใช้โอกาสที่เหมาะสมนี้เพิ่มโอกาสในการก่อเมฆ เพื่อให้เมฆพัฒนาตัวลอยเข้าสู่พื้นที่เป้าหมายและอาจตกลงมาเป็นฝนตามธรรมชาติได้ในบางพื้นที่ 

อย่างไรก็ตาม กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จะยังคงเฝ้าติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิดทุกวันเพื่อวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการทำฝน ซึ่งหากสภาพอากาศเข้าเงื่อนไขจะมีการขึ้นบินปฏิบัติการทันที 

ทั้งนี้ กรมฝนหลวงฯ ขอความร่วมมือพี่น้องประชาชน พี่น้องเกษตรกร งดการเผาทุกประเภท เพื่อช่วยกันลดปัญหามลพิษจากหมอกควันและฝุ่นละออง และสวมหน้ากากอนามัยเมื่อออกนอกเคหะสถาน และสามารถติดต่อประสานแจ้งข้อมูลและขอฝนหลวงได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-109-5100 ต่อ 410 หรือช่องทางเพจ Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร, Instagram, Tiktok, Twitter : @drraa_pr