ผ่านไป 60 ปี ร่องรอยความสูญเสียยังคงมีอยู่ ทพ.31 เยี่ยมทหารผ่านศึกษากองพล 93 ขาขาด รบสู้คอมมิวนิสต์ เนื่องในวันทหารผ่านศึก
วันที่ 3 ก.พ.2566 ร.อ.นนทวัฒน์ พิศจารย์ ผบ.ร้อย.ทพ.3109 ฉก.ทพ.31 กองกำลังผาเมือง พร้อมด้วยกำลังพลจากร้อย.ทพ.3109 นายทวี ทวีอภิรดีชนะ กำนัน ต.แม่สลองนอก อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ได้เดินทางไปเยี่ยมอดีตทหารผ่านศึกษา จำนวน 3 ท่าน ในพื้นที่ดอยแม่สลอง เนื่องในวันทหารผ่านศึกษาวันที่ 3 ก.พ.2566 โดยพบว่าในพื้นที่มีทหารกล้าที่เคยปฏิบัติภารกิจในอดีตจำนวน 3 คน โดยคนแรก คือ นายแส่วเหวิน แซ่จาง อายุ 64 ปี ซึ่งเคยเป็นอดีตทหารจีนคณะชาติ กองพล 93 ตำแหน่งผู้นำทาง ซึ่งได้รับบาดเจ็บขาข้างขวาขาดเหนือเข่า เพราะเหยียบกับระเบิดขณะปฏิบัติการรบในสมรภูมิปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (ผกค.) พื้นที่บ้านปางค่า อ.เทิง จ.เชียงราย
ส่วนคนที่ 2 คือนายพิทักษ์ เด่นวิทยวงค์ อายุ 71 ปี อดีตทหารจีนคณะชาติ กองพล 93 โดยได้รับบาดเจ็บสาหัสจากเหยียบกับระเบิดขาข้างซ้ายขาดเหนือเข่า จากการเดินทางไปปฏิบัติการรบในสมรภูมิปราบปราม ผกค.ในพื้นที่เขาค้อ เขาย่า อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ และอาสาสมัครทหารพราน (อส.ทพ.) อิ่นคำ คำจีน อายุ 62 ปี อดีตกำลังพลของหน่วย ร้อย.ทพ.3109 ซึ่งเคยเดินทางไปปฏิบัติงานร่วมภารกิจป้องกันชายแดนภาคเหนือ ภาคอีสาน และ ภารกิจรักษาความสงบ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งทาง ร.อ.นนทวัฒน์ และคณะได้ส่งกำลังใจและมอบสิ่งของอุปโภคบริโภคให้แก่ทุกคนเพื่อเป็นขวัญกำลังใจต่อไป
นายพิทักษ์ กล่าวว่า รู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงเป็นอย่างมากที่ได้ช่วยเหลือครอบครัวชาวทหารจีนคณะชาติที่เข้ามาอยู่ในผืนแผ่นดินไทยจนถึงปัจจุบัน และขอบคุณทางเจ้าหน้าที่ที่ยังรำลึกถึงโดยเข้าไปเยี่ยมเยียนในครั้งนี้ด้วย
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับกองพล 93 เป็นอดีตกองกำลังชาวจีนที่ย้ายกำลังมาจากมณฑลยูนนาน ประเทศจีน หลังจากพรรคคอมมิวนิสต์ได้ยึดครองประเทศจีน โดยช่วงแรกกองพลนี้ได้มีการรวมพลกันในเขตรัฐฉาน ประเทศเมียนมา แต่ได้ถูกรัฐบาลจีนและกองกำลังทหารประเทศเมียนมาในขณะนี้ปราบปรามอย่างหนัก จนในปี 2504 ได้แบ่งกำลังพลเป็นกองทัพที่ 3 กองทัพที่ 5 พากันอพยพย้ายถิ่นมาอยู่ในเขตป่าเขาแถบชายแดนดอยแม่สลอง อ.แม่ฟ้าหลวง ดอยผาตั้ง อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย ชายแดนไทย-สปป.ลาว และถ้ำง๊อบ อ.ไชยปราการ จ.เชียงใหม่ ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวประเทศไทยกำลังเผชิญกับภัยการก่อการร้ายจากกลุ่มคอมมิวนิสต์พื้นที่ภาคเหนือ ดังนั้นกองทัพไทยจึงได้ประสานให้กองพล 93 เข้าร่วมต่อสู้กับกลุ่มคอมมิวนิสต์ดังกล่าวในหลายสมรภูมิทั้งที่พื้นที่ดอยยาว ดอยผาหม่น ดอยผาตั้ง และที่ จ.เพชรบูรณ์ จนทำให้เกิดความสงบได้ในปี 2525 และทหารจีนคณะชาติจากกองพล 93 ก็ได้รับสัญชาติไทยและอาศัยอยู่มากบนดอยแม่สลอง อ.แม่ฟ้าหลวง ดอยผาตั้ง อ.เวียงแก่น บ้านแม่แอบ อ.เชียงแสน ฯลฯ มาจนถึงปัจจุบัน.