บทความพิเศษ / ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น)
Big Rock รายงานการปฏิรูปประเทศเพียงการรายงานผลการปฏิบัติ
มีผู้กล่าวถึงการปฏิรูปการศึกษาไทยตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ว่ามีอะไรใหม่บ้าง จากสมัย สปช.และ สปท. ในช่วงปี 2557-2559 การปฏิรูปด้านการศึกษาถือเป็นวาระแห่งชาติ ที่ต้องปฏิรูปก่อนเป็นลำดับแรก ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 258 จ. ด้านการศึกษา (1)-(4) และมาตรา 261 ให้มีคณะกรรมการที่มีความเป็นอิสระคณะหนึ่งที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง และตามมาตรา 4(1) แห่ง พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ.2548 มาตรา 270 แห่งรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 การดำเนินกิจกรรมภายในปี 2565 หรือช่วงเวลาที่แผนการปฏิรูปประเทศต้องสำเร็จผล โดยการรายงานความคืบหน้าของกิจกรรม Big Rock ทั้ง 62 กิจกรรม ภายใต้แผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ต้องนำเสนอต่อรัฐสภาทุกไตรมาส แต่ในสภาพที่ปรากฏกิจกรรมจำนวนมากแสดงผลการดำเนินการว่าเป็นไปตามแผน ซึ่งอาจไม่ได้แสดงถึงความคืบหน้าในการดำเนินงานอย่างแท้จริง เพียงแต่มีผลในการนำเสนอตัวเลขในเชิงประสบความสำเร็จมากกว่า ทำให้ไม่อาจการประเมินความสำเร็จเชิงประจักษ์ได้ ณ สถานการณ์ปัจจุบัน มาทบทวนเหตุการณ์ล่าสุดในรอบปี 2565 ที่ผ่านมา “เชิงประจักษ์” เกี่ยวกับการดำเนินการปฏิรูปด้านการศึกษาไทย
โพล ม.สวนดุสิตเกี่ยวกับการศึกษาและครูไทย
ผลโพล ชี้ปัญหาการศึกษาไทยมาจากความเหลื่อมล้ำ การบริหารงานของกระทรวงศึกษาธิการ ระหว่างวันที่ 16-19 สิงหาคม 2565 ได้สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,059 คน พบว่า ปัญหาการศึกษาไทย ณ วันนี้เกิดจาก “ความเหลื่อมล้ำทางสังคม” 61.19% รองลงมาคือ การบริหารงานของกระทรวงศึกษาธิการ 59.49% โดยเห็นด้วยว่าในช่วงโควิด-19 “ครูไทย” ปรับตัวได้ดีทันกับการเปลี่ยนแปลง 70.71% ปัจจัยที่มีผลต่อการพัฒนา “ครูไทย” คือ เงินเดือนและค่าตอบแทน 65.34 รองลงมาคือการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ต่างๆ เช่น โควิด-19 64.49% ทั้งนี้ครูไทยที่ดีควรรักในอาชีพ มีจิตวิญญาณความเป็นครู 74.98% รองลงมาคือ กล้าที่จะทำอะไรใหม่ๆ ไม่ยึดติดอยู่กับวิธีการแบบเดิมๆ 67.42% และประชาชนมองว่าอาชีพครูยังเป็นอาชีพที่คนอยากเป็น 57.97% รองลงมาคือ ไม่อยากเป็น 40.99%
จากผลการสำรวจพบว่า สาเหตุของปัญหาการศึกษาไทยยังคงมาจากความเหลื่อมล้ำและการบริหารงานที่มีการปรับเปลี่ยนนโยบายบ่อยครั้ง แม้จะต้องการปฏิรูปการศึกษาไทยให้ดีขึ้นแต่ก็ยังคงมีปัญหาสะสมมาอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อต้องอยู่ในสถานการณ์โควิด-19 กลับพบว่าบุคลากรสำคัญอย่าง “ครูไทย” นั้น ปรับตัวได้เป็นอย่างดี สร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้แลกเปลี่ยนกันอย่างหลากหลาย ทั้งนี้บทบาทของครูไทยที่ประชาชนคาดหวังก็คือการเป็นครูที่รักในอาชีพและกล้าที่จะทำสิ่งใหม่อย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้อาชีพครูเป็นอาชีพที่คนไทยอยากเป็น และเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาวงการศึกษาไทยต่อไป สำหรับในเรื่องการทุจริตนั้น ข้อมูล ป.ป.ช. (3 มกราคม 2565) พบว่า 5 หน่วยงานรัฐถูกร้องทุจริตสูงสุด กระทรวงศึกษาธิการอยู่ลำดับที่ 4
การปลดล็อกผู้ค้ำประกันกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)
มีประเด็นปัญหาการชดใช้หนี้เงินกู้ กยศ.ที่พบว่ามีผู้กู้ถึง 3.6 ล้านรายและผู้ค้ำประกัน 2.8 ล้านราย รวม 6.4 ล้านราย และ ไม่ชำระหนี้เป็นจำนวนมาก และลูกหนี้คดีแดง(มีคำพิพากษาแล้ว) กว่า 1.2 ล้านราย เป็นปัญหาหลักที่เกี่ยวพันกันในตัวนโยบาย โครงสร้าง และตัวผู้กู้ ในขณะเดียวกันนี้ที่สหรัฐอเมริกา มีข่าวรัฐเตรียมยกเลิกหนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษาให้คนละไม่เกิน 1 หมื่นดอลล์
เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2565 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.) (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... ซึ่งคณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว โดยมีทั้งสิ้น 27 มาตรา โดยคณะกรรมาธิการเสียงข้างมาก สาระที่สำคัญคือ (1) การพิจารณามาตรา 13 แก้ไข พ.ร.บ.กองทุน กยศ. มาตรา 41 กำหนดให้ผู้กู้เงินกองทุนจะต้องมีผู้ค้ำประกันเงินกู้ ซึ่งมี กมธ.เสียงข้างน้อยสงวนคำแปรญัตติ และมีส.ส.ขออภิปรายจำนวนมาก ที่ประชุมลงมติเห็นชอบกับผู้สงวนความเห็น และผู้แปรญัตติ ด้วยมติ 182 ต่อ119 งดออกเสียง 1 ไม่ลงคะแนนเสียง 3 เสียง เท่ากับว่าที่ประชุมเสียงข้างมากเห็นด้วยว่าให้ยกเลิกผู้ค้ำประกันเงินกู้ หรือหมายความว่าไม่เห็นด้วยกับคณะ กมธ.เสียงข้างมาก (2) การพิจารณามาตรา 17 แก้ไขมาตรา 44 พ.ร.บ.กองทุน กยศ. เกี่ยวกับผู้กู้ยืมเงินจะต้องมีหน้าที่ชำระเงินกู้ยืมที่ได้รับไปพร้อมทั้งดอกเบี้ยตามสัญญากู้ยืมเงินคืนให้กองทุน ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ฉบับที่คณะรัฐมนตรี (ครม.)เสนอให้เก็บอัตราดอกเบี้ย 2% แต่ต่อมาคณะ กมธ.เสียงข้างมาก ปรับลดให้เก็บอัตราดอกเบี้ย 0.25% โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของที่ประชุมสภาฯ โดยฝ่ายเสียงข้างน้อยเสนอไม่ให้เก็บดอกเบี้ย และไม่ให้เก็บเบี้ยปรับ ซึ่งผู้จัดการ กยศ. ได้แถลงการณ์เตรียมความพร้อมดำเนินการตามกฎหมายใหม่เปิดเผยสรุปว่า (29 ธันวาคม 2565) สภาผู้แทนราษฎร ได้มีมติเห็นชอบการแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ของวุฒิสภา โดยให้คิดดอกเบี้ยในอัตราไม่เกิน 1% ต่อปี อัตราเบี้ยปรับกรณีผิดนัดชำระไม่เกิน 0.5% ต่อปี และไม่ต้องมีผู้ค้ำประกันในทุกกรณี ทั้งนี้ ลูกหนี้ที่ถูกดำเนินคดีแล้วสามารถแปลงหนี้ใหม่ได้ทุกราย
ระบบการศึกษาไทยยังเหมือนเดิม “ปฏิรูปการศึกษาเหลว”
มีเป้าหมายลดความเหลื่อมล้ำการศึกษาในมิติต่างๆ สมาคมผู้บริหารการศึกษาฯ จี้ทบทวนร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ มีโครงการพระราชดำริการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (ตามข่าว 13 กันยายน 2565)
ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา กล่าวว่า ช่วง 8 ปีที่ผ่านมาการปฏิรูปประเทศ โดยเฉพาะการปฏิรูปการศึกษาล้มเหลว ตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รัฐประหารมาตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน ใช้คนเข้ามาปฏิรูปประเทศจำนวนมาก มีสภาปฏิรูปแห่งชาติ 250 คน มีคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ 13 ชุด มีรัฐมนตรีว่าการ ศธ. 5 คน และมีรัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.อีก 8 คน มีรายงานการปฏิรูป 130 เล่ม มีวาระการปฏิรูป 37 วาระ และมีข้อเสนอการปฏิรูป 1,342 ข้อ เป็นยุคที่นักการเมืองเกรงใจข้าราชการ ไม่ได้ยึดประโยชน์นักเรียน เป็นการบริหารแบบ “รัฐราชการรวมศูนย์” ติดหล่มอยู่กับที่ ไม่ไปไหน มีการใช้อำนาจเพิ่มมากขึ้น เช่น การใช้อำนาจ คสช.ที่ออกมาจัดการควบคุมการศึกษามากกว่า 14 ฉบับ แต่ไม่ช่วยให้การศึกษาไทยดีขึ้น กลับสร้างความขัดแย้งขึ้นกับ ศธ.มากขึ้น เช่น การออกคำสั่ง คสช.ที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของ ศธ.ที่สร้างความขัดแย้งระหว่างศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) เป็นต้น ระบบต่างๆ กำลังกัดกินเด็ก ทำการศึกษาเสียไปแล้ว 70% เหลือแค่ 30% ยังมีส่วนที่ดีบ้าง เช่น มี พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ การเพิ่มค่าใช้จ่ายรายหัวใหม่ มีกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) มีการพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาปฏิรูปประเทศ แต่ต้องมีเป้าหมายให้ชัดเจนว่าจะนำเด็กเป็นที่ตั้งในการพัฒนาแก้ไขปัญหา และนักการเมืองที่เข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ต้องไม่กลัวการต่อต้านของข้าราชการ ต้องกล้าสังคายนาระเบียบกฎเกณฑ์ และมองความต้องการของประชาชน และเด็กเป็นที่ตั้ง
ไตรรัตน์ ฉัตรแก้ว ประธานมูลนิธิเด็กวัด กล่าวว่า จากแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของประเทศไทย (2561-2580) เป็นยุทธศาสตร์ชาติฉบับแรกของประเทศไทยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งจะต้องนำไปสู่ การปฏิบัติเพื่อให้ประเทศไทยบรรลุวิสัยทัศน์ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจ พอเพียง” เพื่อความสุขของคนไทยทุกคน ยุทธศาสตร์ชาติฉบับนี้ คาดหวังว่าประเทศไทยจะอยู่ในอันดับ 1 ใน 20 ของการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของ International Institute for Management Development (IMD) ซึ่งเป็นสถาบันจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศที่เน้นปัจจัยด้านเศรษฐกิจมหภาค โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่า ประเทศไทยอยู่ในช่วงอันดับที่ 25-30 โดยมีจุดอ่อนในด้านประสิทธิภาพการผลิต ด้านโครงสร้างพื้นฐานทั่วไป ด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ ด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และด้านการศึกษา ซึ่งผ่านไปแล้ว 4 ปี วันนี้อันดับทางการศึกษาของประเทศไทยนั้นตกลงไปอยู่ที่ 56 ในการเปรียบเทียบจาก 64 ประเทศทั่วโลก และอยู่อันดับ 8 ในอาเซียน ซึ่งต้องถือว่า “นโยบายการศึกษาล้มเหลว” อะไรคือปัจจัยของความล้มเหลวทางการศึกษาของชาติ เราควรที่จะต้องยอมรับเสียทีว่ายุคสมัยมันเปลี่ยนไปไกลมากถึงขนาดที่ผู้ใหญ่ตามเด็กไม่ทันแล้ว เด็กสมัยนี้ไม่ได้ต้องการระบบการศึกษาแบบสอบแข่งขัน ไม่ได้ต้องการความเป็นเลิศทางวิชาการ แต่สิ่งที่เขาต้องการคือการอยู่รอดในสังคมอย่างมีคุณภาพตามวิถีของการเปลี่ยนแปลงของสังคมมากกว่า ถึงเวลาแล้ว ที่ระบบการศึกษาของไทยจะต้องถูกจัดระเบียบขึ้นมาใหม่ ให้มีความทันสมัยมากขึ้น เปิดโอกาสมากขึ้น เรียนรู้กระบวนการทางเทคโนโลยีให้มากขึ้น แต่ที่สำคัญที่สุดคือการสอนให้เยาวชนของชาติได้เรียนรู้จารีตประเพณีและวัฒนธรรมที่ถูกต้อง มีคุณธรรมและจริยธรรมให้มาก การสอบแข่งขันยังคงมีได้อยู่ แต่คงต้องเป็นเรื่องการสอบแข่งขันทางคุณธรรมและจริยธรรม การช่วยเหลือผู้อื่นและมีสำนึกความรักชาติมากกว่าการสอบได้คะแนนสูงๆ ในวิชาต่างๆ ที่บางทีก็ไม่รู้ว่าเรียนจบไปจะได้ใช้หรือเปล่าด้วยซ้ำ ซึ่งหากกระบวนการทางความคิดเปิดเวทีสาธารณะมากขึ้นก็น่าจะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย
ดร.เสรี พงศ์พิศ เสนอการปฏิรูปการศึกษาในสังคม disrupt ปัจจุบัน (ตามข่าว 15 พฤศจิกายน 2565) นำเสนอ 3 ประเด็น คือ การศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาบูรณาการกับการพัฒนาประเทศ (1) การศึกษาในระบบ กว่าสิบปีแล้วนักศึกษาในมหาวิทยาลัย “เกรดบี-ซี” ลดลง ขณะที่นักศึกษาในมหาวิทยาลัย “เกรดเอ” ยังเท่าเดิม เพราะเด็กแห่กันไปสมัครและเข้าได้ง่ายขึ้น ไม่อยากเรียนในมหาวิทยาลัยราชภัฏ ราชมงคล อาชีวะ ส่วนมหาวิทยาลัยเอกชนก็แย่เช่นกัน เพราะประชากรเกิดใหม่ที่ลดลง ยังมีปัญหาเศรษฐกิจ หนี้สินครัวเรือน แม้มีกองทุนให้กู้ยืม แต่เมื่อเรียนแล้วหางานทำไม่ได้ ก็ไม่มีแรงจูงใจให้ไปเรียนเพื่อเอาปริญญา มหาวิทยาลัยเอกชนบางแห่งจัดการเรียนแบบ "เรียนไปด้วยทำงานไปด้วย ได้เงิน ได้ความรู้ ได้งานทำ" แต่มหาวิทยาลัยรัฐไม่ทำ เพราะมีปัญหาของระบบคิด หรือ mindset ที่ทำให้อยู่ในโซนสบาย ไม่ต้องทำอะไรให้ยุ่งยาก (2) การศึกษานอกระบบ “กศน.” มีผู้ใหญ่ใน คนวัยแรงงานกว่า 10 ล้านคนที่ต้องการ “การศึกษา” สถาบันอุดมศึกษา 200 แห่งสามารถจัดหลักสูตรระยะสั้นยาวเพื่อคนเหล่านี้ได้ (3) การศึกษาบูรณาการกับการพัฒนาประเทศ จะทำได้ก็ต่อเมื่อคิดแบบบูรณาการ ไม่แยกส่วน เชื่อมโยงกันทุกด้าน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ก็จะได้การเกษตร อุตสาหกรรม การบริการ ที่มีฐานความรู้ ฐานกำลังคนที่มีทักษะในการทำงานจริง การปฏิวัติการศึกษาต้องมาจาก “ข้างใน” และ “ข้างล่าง” ปฏิวัติการศึกษาให้เกิดผลต้องมาจาก “ข้างล่าง” ขาดชุมชนเข้มแข็งด้วยการเรียนรู้ และมีส่วนร่วมในการจัดการเรียนรู้ สังคมก็ขาดฐานรากที่มั่นคง
ประกาศใช้ข้อบังคับคุรุสภา ว่าด้วยใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ พ.ศ.2565
เป็นกรอบที่บุคลากรวิชาชีพจำเป็นต้องมีมาตรฐานทางจริยธรรมเฉพาะทางที่สูงกว่ากลุ่มอื่น ตามประกาศราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2565 ยกเลิกข้อบังคับฯ ฉบับเดิม พ.ศ.2559 และ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2562 เพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับการประกอบวิชาชีพทางการศึกษาในปัจจุบัน ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ มี 4 ประเภท คือ (1) ใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่ครู ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นต้น และใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นสูง (2) ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษา (3) ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารการศึกษา (4) ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพศึกษานิเทศก์
การคัดค้านร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ
เริ่มจากกระทู้ขอคัดค้านและเสนอข้อเสนอแนะแก้ไข ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ... โดย ณัฐวุฒิ กองจันทร์ดี ส.ส. พรรคเพื่อไทย ตอบโดยตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตามกระทู้ถามที่ 293 ร. ลงวันที่ 18 สิงหาคม 2564 ตอบในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 26 ตุลาคม 2564
ก่อนหน้านี้มีกระแสคัดค้านมาก่อนแล้ว โดยกลุ่มข้าราชการครูผู้มีส่วนได้เสียและได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น ครู สพป.สมุทรสาคร (ตามข่าว 24 มิถุนายน 2564) ขอความร่วมมือข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสังกัดร่วมลงชื่อคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ, ชมรมครูประถมศรีสะเกษ (ตามข่าว 9 มกราคม 2566) ได้ร่วมค้านร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่ง พ.ศ.... ระบุข้อความ “เราไม่เอาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.... ที่เปิดช่องทางให้มีการบ่อนเซาะทำลายความมั่นคงของชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา 6, 11, 13, 14 และ 48”
ต่อมาครูทั่วประเทศได้เคลื่อนไหวออกมาคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฉบับดังกล่าว ด้วยการแต่งชุดดำไว้อาลัยตั้งแต่วันที่ 10-16 มกราคม 2566 ด้วยเห็นว่าร่างกฎหมายดังกล่าว มีความไม่ชอบมาพากลในหลายมาตรา ธีระศักดิ์ สุวรรณปัญญา ประธานยุทธศาสตร์สมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (ส.ค.ท.) กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับดังกล่าวมีเนื้อหาบางส่วนที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนาผู้เรียน การพัฒนาการศึกษาและการพัฒนาวิชาชีพ อีกทั้งบางประเด็นอาจส่งผลกระทบความเป็นอิสระทางวิชาการ ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ปิดกั้น กดทับศักยภาพของผู้เรียน ในการพัฒนาตนเองสู่อนาคตในศตวรรษที่ 21
เมื่อช่วงวันที่ 10-11 มกราคม 2566 ร่าง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …ที่เข้าสู่วาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภา แต่ได้รับการพิจารณาเพียงไม่กี่มาตราเท่านั้น จากนั้นสภาก็ล่ม ทำให้กฎหมายยังพิจารณาไม่เสร็จถึงฝั่งดังที่ผู้นำรัฐบาลหวังเอาไว้เป็นของขวัญแก่ครูในวันครูที่ 16 มกราคม 2566 ได้ ล่าสุดข่าวเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2566 สมาคมครูจังหวัดร้อยเอ็ดและชมรมครู 40 องค์กร เรียกร้องให้นำ พ.ร.บ.สภาการศึกษา พ.ศ.2546 มาบังคับใช้เต็มรูปแบบ รวมถึงเรียกร้องให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องนำคืนเงินกองทุนเพื่อความมั่นคง โครงการเงินกู้ ช.พ.ค./ช.พ.ส.กว่า 25,000 ล้านบาท เพราะเป็นเงินที่ได้จากหยาดเหงื่อแรงกายของครูและบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศ
ระยะหลังเกิดสภาพปัญหาหนักในจำนวนเด็กนักเรียน เด็กเกิดในแต่ละปีน้อยลง ทำให้มี รร.ขนาดเล็กจำนวนมาก ที่ไม่สามารถควบรวมกันได้ ประกอบกับปัญหาการบริหารงานบุคคล เกิดปัญหาการแจ้งตกแต่งตัวเลข เกิดปัญหาตามมาเช่น (1) ครูผี (2) อาหารกลางวันผี (3) อาหารเสริมนมผี (4) ค่ารายหัวผี ถือเป็นการโกงทุจริตเชิงนโยบาย จำนวนเงินอุดหนุนต่อหัวจากรัฐที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง แต่ทว่าเหตุปัญหาเหล่านี้หาได้เกิดแก่โรงเรียนสังกัด อปท.ไม่ เป็นความต่างเชิงบริหารการศึกษาระหว่างท้องถิ่นกับราชการส่วนกลาง ถือเป็นเรื่องแปลก นี่คงเป็นเหตุผลประการหนึ่งที่ต้องมีการกระจายอำนาจการศึกษาแก่ท้องถิ่นได้