คุยเฟื่องเรื่องต่างประเทศ / ดร.วิวัฒน์  เศรษฐช่วย

ล่าสุดนี้ผมมีโอกาสได้อ่านหนังสือเล่มล่าสุดที่มีชื่อว่า “A Man of Iron: The Turbulent Life and Improbable Presidency of Grover Cleveland” ที่เพิ่งพิมพ์ออกสู่ท้องตลาด ซึ่งหนังสือเล่มนี้มีเรื่องราวเกี่ยวกับประธานาธิบดีของสหรัฐฯในอดีตท่านหนึ่งชื่อ “ประธานาธิบดีโกรเวอร์ คลีฟแลนด์” สังกัดอยู่ในค่ายพรรคเดโมแครต โดยท่านคือประธานาธิบดีท่านแรกหลังจากที่เกิดสงครามกลางเมือง และท่านมีเอกลักษณ์ที่ถือเป็นแบรนด์เนมโดดเด่นเฉพาะตัวก็คือ เปิดโปงและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันของสหรัฐฯ

ช่วงยี่สิบสี่ปีย้อนหลังกลับไประหว่างปี ค.ศ.1861-1885 หลังจากที่เกิดสงครามกลางเมือง ซึ่งถือเป็นช่วงที่สหรัฐฯเริ่มพลิกฟื้นพัฒนาประเทศที่เกิดการปรักหักพังพินาศจากพิษของสงครามให้คืนกลับมา และในยุคสมัยนั้นสหรัฐฯถูกครอบครองโดยพรรครีพับลิกันที่ประธานาธิบดีทุกๆคนล้วนเอื้ออำนวยผลประโยชน์ให้แก่วงการธุรกิจขนาดใหญ่ มิค่อยเหลียวแลให้ความสนใจต่อชนชั้นกลางและระดับรากหญ้าเท่าใดนัก!!!

ทั้งนี้ประธานาธิบดีโกรเวอร์ คลีฟแลนด์ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯถึงสองสมัย แต่เป็นการได้รับตำแหน่งที่ต่างวาระไม่ต่อเนื่องในช่วงสมัยเดียวกัน  ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเลยในประวัติศาสตร์การบ้านการเมืองของสหรัฐฯจนตราบเท่าทุกวันนี้

ประธานาธิบดีคลีฟแลนด์ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 22 (เมื่อปีค.ศ.1885-1889) และดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 24 อีกครั้งหนึ่งเมื่อ (ปีค.ศ.1893-1897)

โดยหนังสือ “A Man of Iron” ซึ่งผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมามีชื่อว่า “ทรอย เซนิก” (Troy Senik) และเมื่อหนังสือเล่มนี้ออกวางจำหน่าย ก็ได้กลายเป็นหนังสือเบสท์เซลเลอร์ได้รับเสียงตอบรับอย่างดีเยี่ยมจากทั้งนักวิจารณ์หนังสือและนักประวัติศาสตร์สหรัฐฯ

ปกติแล้วผมจะอ่านหนังสือที่เพิ่งออกใหม่อย่างน้อยสัปดาห์ละหนึ่งเล่ม แต่เมื่อผมหยิบหนังสือเล่มนี้ที่มีความยาวถึง 384 หน้าขึ้นมาอ่านแล้ว ปรากฏว่าไม่สามารถละสายตาวางมือได้เลย เพราะอ่านสนุกและเพลิดเพลิน  โดยทรอย เซนิก ทำการค้นคว้ามาจากแหล่งข้อมูลอ้างอิงได้อย่างดีเยี่ยม อีกทั้งนักเขียนผู้นี้ก็ยังเคยรับหน้าที่เป็นผู้เขียนสุนทรพจน์ให้กับ “ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู. บุช” แถมยังเป็นนักเขียนประจำให้กับหนังสือสือพิมพ์สื่อยักษ์ใหญ่สองแห่งของสหรัฐฯนั่นก็คือหนังสือพิมพ์วอล์ลสตรีท เจอร์นัล และ หนังสือพิมพ์ลอสแอนเจลิส ไทม์ นั่นเอง!!!

โดยชีวประวัติภูมิหลังของทรอย เซนิก จบการศึกษามาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐฯ ในระดับปริญญาตรีจาก “Belmont University”   และระดับปริญญาโททางด้านนโยบายสาธารณะ (Public Policy) จากมหาวิทยาลัยเปปเปอร์ไดน์ (Pepperdine University (ซึ่งผมก็เป็นศิษย์เก่า ณ สถาบันแห่งนี้ด้วยเช่นกัน)

นอกจากนั้นแล้วทรอย เซนิก ยังได้ก่อตั้งสถาบันคลังสมองชื่อ “Kite & Key Digital Media” ที่มุ่งเน้นด้านการศึกษาและนำเสนอเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาต่างๆของสหรัฐอเมริกาและปัญหารอบโลกที่กำลังเผชิญอยู่ โดยเขาทำร่วมกับ “วาเนสซา เมนโดซา” ซึ่งเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ด้านนโยบายสาธารณะมาอย่างยาวนานกว่าสิบห้าปี

สำหรับเป้าหมายหลักที่ทรอย เซนิก ตัดสินใจหยิบยกเลือกที่จะนำเอาชีวประวัติของประธานาธิบดีคลิฟแลนด์ มานำเสนอก็เพื่อต้องการที่จะสื่อให้ทั้งผู้อ่านและบรรดานักการเมืองทั้งหลายเห็นถึงการมีจิตสำนึกในเรื่องการเสียสละรับใช้สังคมตามแบบฉบับของประธานาธิบดีคลีฟแลนด์ ที่ท่านมุ่งเน้นรับใช้โดยยึดเอาผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นหลัก ให้พวกเรานำมาเป็นตัวอย่างสอนใจตนเอง

โดยประธานาธิบดีคลีฟแลนด์มุ่งสร้างความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับประชาชนมิได้ยึดตนเองผูกติดอยู่กับพรรคการเมือง แบบที่ท่านพึงปฏิบัติโดยมิได้คำนึงถึงผลประโยชน์ของตนเองที่นับว่าเป็นภาวะของผู้นำประเทศ!!!

ในปีค.ศ. 1885 ก่อนที่จะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีนั้น ท่านยังยึดอาชีพทนายความที่มีชื่อเสียง และเคยดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรี ณ เมืองบัฟฟาโล รัฐนิวยอร์ก โดยยุคนั้นท่านก็ยึดเจตนารมณ์ด้านปราบปรามการทุจริตในเมืองบัฟฟาโลเป็นหลักใหญ่

จากการที่มีชื่อเสียงโด่งดังด้านความซื่อสัตย์และความกล้าหาญของท่าน ซึ่งแตกต่างไปจากนักการเมืองทั้งหลาย ไม่นานเท่าใดนักท่านก็ได้รับการชักนำจากผู้นำทั้งของพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครตให้เข้าแข่งขันเลือกตั้งในตำแหน่งผู้ว่าฯรัฐนิวยอร์ก โดยท่านมิต้องขึ้นกล่าวปราศรัยหาเสียงโฆษณาโปรโมทตนเองเลยแม้แต่ครั้งเดียว!!!

และในช่วงระยะเวลาสองปีที่ท่านอยู่ในตำแหน่งผู้ว่าฯรัฐนิวยอร์ก ในยุคสมันนั้นท่านสามารถกำจัดการทุจริตได้อย่างยอดเยี่ยม และยังได้สร้างภาพลักษณ์ใหม่ในการเป็นนักการเมืองหัวก้าวหน้าที่ในปีค.ศ. 1884 ยังไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อนเลย

และในขณะที่ลงแข่งขันเลือกตั้งในตำแหน่งประธานาธิบดีนั้น ท่านได้รับเสียงตอบรับอย่างชื่นชมจากคนชั้นกลางของทั้งพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครต ส่วนคู่ต่อสู้ของท่านในขณะนั้นถูกกล่าวหาว่าเป็นหุ่นเชิดของวงการธุรกิจยักษ์ใหญ่ในนครนิวยอร์กและเป็นหุ่นเชิดของนักธุรกิจผู้ทรงอิทธิพลของอุตสาหกรรมสร้างทางรถไฟจึงมีผลทำให้ต้องพ่ายแพ้ไป

เป็นที่น่าสังเกตว่าตอนที่ประธานาธิบดีคลิฟแลนด์เข้าสู่ทำเนียบขาวเมื่อตอนอายุ 44 ปีนั้น ท่านยังครองชีวิตความเป็นโสด โดยสองปีแรกที่ท่านดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ท่านได้มอบให้น้องสาวของท่านรับตำแหน่งเป็น “สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง” แต่ในอีกสองปีต่อมาท่านก็ได้พบรักเข้าพิธีหมั้นกับสุภาพสตรีสาวสวยอายุ 21 ปีชื่อ “ฟรานซิส ฟอลซัม” เด็กสาวที่เพิ่งจบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากวิทยาลัยเวลส์ที่เป็นสถาบันสำหรับสตรีโดยวิทยาลัยนี้ก่อตั้งตามชื่อของผู้ก่อตั้งธนาคารยักษ์ใหญ่คือ Wells Fargo Bank และ American Express ซึ่งเธอเป็นลูกสาวของเพื่อนสนิทในสำนักทนายความด้วยกัน โดยทั้งคู่เข้าสู่พิธีสมรสเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 1886 และได้จัดพิธีแต่งงานในทำเนียบขาวอีกครั้งเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน  ค.ศ.1886  ซึ่งถือเป็นประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐฯที่จัดพิธีหมั้นและพิธีแต่งงานในทำเนียบขาว!!!

สำหรับบรรยากาศการเมืองย้อนหลังก่อนหน้าที่ประธานาธิบดีคลีฟแลนด์จะได้รับชัยชนะก้าวเลือกเข้าสู่ทำเนียบขาวนั้น สหรัฐอเมริกาเต็มไปด้วยการทุจริตคนอเมริกันมีความเบื่อหน่ายต่อนักการเมืองของพรรครีพับลิกัน นั่นจึงเป็นที่มาทำให้ชาวอเมริกันได้หันไปเลือกโควเวอร์ คลีฟแลนด์เข้าสู่ทำเนียบขาว

โดย ทรอย เซนิก ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ได้บ่งชี้ถึงคุณลักษณะซึ่งเป็นจุดโดดเด่นของประธานาธิบดีคลีฟแลนด์เอาไว้ 3 อย่างด้วยกัน นั่นก็คือ มีความซื่อสัตย์ต่อชาวอเมริกันเหนือประโยชน์ส่วนตน มีความกล้าหาญ  มีความฉลาดและมีไหวพริบดี

ในสมัยแรกที่ประธานาธิบดีคลิฟแลนด์เข้าบริหารสหรัฐฯ ท่านมุ่งมั่นในด้านการปราบปรามคอร์รัปชัน โดยสกัดกั้นผู้ที่ต้องการจะเข้าไปตักตวงผลประโยชน์ให้กระเด็นออกไปจากวงโคจรของการเมือง และท่านก็ยังเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐฯคนแรกที่เซ็นยับยั้งร่างกฏหมายที่ผ่านรัฐสภามาแล้วถึง 414 ฉบับ ซึ่งมากกว่าสองเท่าของอดีตประธานาธิบดีของทั้งหมด!!!

อย่างไรก็ตามการยึดอุดมการณ์ทำงานในสิ่งที่ถูกต้อง โดยไม่สนใจไยดีต่อข้อวิพากษ์วิจารณ์ แน่นอนว่าย่อมจะเข้าไปขัดแข้งขัดขาของผู้ที่เคยได้รับผลประโยชน์ จึงมีผลทำให้พรรคเดโมแครตของประธานาธิบดีคลีฟแลนด์พบกับความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งกลางเทอมในสภาผู้แทนฯมากถึง 125 ที่นั่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเลยในประวัติศาตร์การเมืองของสหรัฐอเมริกา

อย่างไรก็ตาม Arthur Schlesinger นักประวัติศาสตร์เรืองนามสอนที่ฮาร์วาร์ดได้หยั่งเสียงของนักประวัติศาสตร์เมื่อปี 1948 และพบว่าประธานาธิบดีคลีฟแลนด์ได้รับการยอมรับเป็นประธานาธิบดีที่ยิ่งใหญ่ในอันดับที่ 8 ของสหรัฐอเมริกา

สำหรับ “ศาสตราจารย์เฮนรี กราฟ” ผู้เชี่ยวชาญทางด้านประวัติศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ก็ได้บรรยายไว้ว่า “ถึงแม้ว่านักประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯจะไม่เคยจัดอันดับให้ประธานาธิบดีโกรเวอร์ คลีฟแลนด์ ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดก็ตาม แต่ประธานาธิบดีโกรเวอร์ คลีฟแลนด์ ก็มีความสำเร็จสร้างความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษต่อประชาชน ในขณะที่ยุคสมัยนั้นนักการเมืองของพรรครีพับลิกันกลับวางตัวเหินห่างจากประชาชน อีกทั้งประธานาธิบดีคลีฟแลนด์ยังช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับพรรคเดโมแครตในแถบตอนใต้ของสหรัฐฯให้มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น”

ส่วนศาสตราจารย์แกรี กัลล์เลสผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยเปปเปอร์ไดน์ ได้เขียนลงในหนังสือของเขาชื่อ “Pathways to Policy Failures” ได้สรุปว่า “ประธานาธิบดีโกรเวอร์ คลีฟแลนด์” ได้รับการประเมินคุณค่าน้อยที่สุดในบรรดาประธานาธิบดีทั้งหมดของสหรัฐอเมริกาที่ผ่านมา

กล่าวโดยสรุปทั้งนี้และทั้งนั้นนักประวัติศาสตร์อเมริกันได้ลงมติอย่างเป็นเอกฉันท์แล้วว่า สมควรเป็นอย่างยิ่งที่จะยกย่องให้ “ประธานาธิบดีโกรเวอร์ คลีฟแลนด์”  เป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาที่ประสบความสำเร็จในการคงไว้ซึ่งความซื่อสัตย์ มีศีลธรรมประจำใจ รักศักดิ์ศรีของตนเอง และท่านก็ยังเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯเพียงคนเดียวที่ได้รับการเลือกให้เข้าสู่ทำเนียบขาวสองครั้งสองครา แต่ต่างวาระกันเท่านั้นละครับ