ช่วยลดความแออัดของผู้รับบริการในคลินิกเวชปฏิบัติทั่วไป ในคลินิกประกันสังคม คลินิกเบิกจ่ายตรง ของกลุ่มงานประกันสุขภาพ และคลินิกปฐมภูมิ ของกลุ่มงานเวชศาสตร์ชุมชนโดยพัฒนาระบบการให้บริการภายในอาคาร โดยแผนปีนี้โรงพยาบาลเร่งเปิดศูนย์ทางการแพทย์ทั้งศูนย์ส่องกล้องทางเดินอาหาร/ทางเดินหายใจด้วย

นพ.พรเทพ แซ่เฮ้ง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ กล่าวถึงการขยายพื้นที่ให้บริการตรวจรักษาผู้ป่วยของโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ ว่า โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ (รพจ.) ได้ดำเนินการปรับปรุงอาคาร 2 เพื่อขยายพื้นที่การให้บริการ ลดความแออัดของผู้รับบริการในคลินิกเวชปฏิบัติทั่วไป คลินิกประกันสังคม คลินิกเบิกจ่ายตรง ของกลุ่มงานประกันสุขภาพ และคลินิกปฐมภูมิ ของกลุ่มงานเวชศาสตร์ชุมชนโดยพัฒนาระบบการให้บริการภายในอาคาร ด้วยการใช้เทคโนโลยีร่วมในการให้บริการ อาทิ smart OPD, telemedicine และ e-refer โดยในปี 2565 ได้เปิดห้องตรวจโรค OPD New Normal (ห้องตรวจเวชปฏิบัติ) ณ อาคาร 2 ชั้น 1 และกำลังเร่งปรับปรุงชั้น 2 เพื่อเปิดให้บริการในปี 2566นี้

“ ช่วงโควิดซามานี้ ผู้ป่วยกลับมารับบริการในโรงพยาบาลมากขึ้น แม้จะมี telemedicine สามารถพบหมอได้โดยไม่ต้องมาโรงพยาบาล แต่คนไข้ก็ยังติดหมอต้องการมาพบหมอประจำ ส่วนหนึ่งเป็นการรักษาทางใจ เราต้องพยามยามสร้างความมั่นใจในการตรวจรักษาป่าน telemedicine ก็เป็นหมอที่สามารถตรวจรักษาได้ ในส่วนประกันสังคม โรงพยาบาลเจริญกรุงฯ เราไม่ได้รับผู้ประกันตนเพิ่มขึ้นมากนัก แต่เดิมพื้นที่ให้บริการมีความแออัด จึงได้ขยายพื้นที่ให้ทั้งผู้รับบริการและบุคคลากรได้มีพื้นที่กว้างขึ้น ในการดูแลได้สะดวกสบายมากขึ้น โดยได้ขยายพื้นที่ไปอาคาร 2 ชั้น 1 ให้บริการเวชปฏิบัติ กลุ่มผู้ป่วยทั่วไป ผู้ป่วย 30 บาท เปิดให้บริการแล้ว ชั้น 2 กำลังปรับปรุงจะเสร็จประมาณเดือนเมษายน 66 นี้ ให้บริการสิทธิประกันสังคม และสิทธิข้าราชการเบิกจ่ายตรง โดยการปรับปรุงอาคาร 2 ครั้งนี้ ใช้เงินบริจาคของมูลนิธิฯ จำนวน 30 กว่าล้านบาท ต้องบอกว่าทางรัฐก็มีงบประมาณ แต่เรามองว่าหากเป็นเรื่องที่ทางมูลนิธิฯเห็นว่าเป็นความจำเป็นเร่งด่วนก็ใช้เงินจากมูลนิธิของโรงพยาบาล ก็ต้องขอบคุณประชาชนที่ร่วมบริจาคทุกคน “ นพ.พรเทพ กล่าว

นอกจากนี้ ผอ.รพ.เจริญกรุงฯ กล่าวถึงแผนขยายศูนย์เฉพาะทางด้วยว่า ในปีนี้ได้ของงบประมาณในการเพิ่มศักยภาพการรักษาศูนย์เฉพาะทาง จะทำห้องผ่าตัดหัวใจ ลักษณะไฮบริด ทั้งตรวจวินิจฉัยพร้อมกับทำการรักษาผ่าตัดไปพร้อมกัน และ ขยายห้องส่องกล้องศูนย์ทางเดินอาหาร และทางเดินหายใจ แผนในปีต่อไปจะทำศูนย์เคมีบำบัด สามารถรับได้ทั้งผู้ป่วยนอก และมีเตียงผู้ป่วยในสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งที่จำเป็นให้เคมีบำบัดที่ต้องการการเฝ้าระวังการติดเชื้อ หรือการรักษาแบบพิเศษที่ต้องดูแลโดยทีมเฉพาะทาง