การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์ (สส.) ที่จะกำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าอย่างช้าน่าจะประมาณเดือนพฤษภาคม 2566 นับเป็นการเลือกตั้งครั้งสำคัญของคนไทยอีกวาระหนึ่ง ซึ่งหลายส่วนที่รับผิดชอบในการจัดการเลือกตั้ง อำนวยความสะดวกต่างเตรียมความพร้อมจัดการเลือกตั้งกันแล้ว เช่นเดียวกับกรุงเทพมหานครที่มีการเตรียมการ ประกอบกับเพิ่งจะผ่านพ้นการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครไปไม่นาน มีประสบการณ์ในการจัดการเลือกตั้งมานับไม่ถ้วนเช่นกัน ทั้งนี้มีการประเมิลงบประมาณในการจัดการเลือกตั้งในพื้นที่กทม.ไว้ประมาณ 48 ล้าน

และในการคราวการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 31 ม.ค.66 ที่ผ่านมา โดยมี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุม ซึ่งได้เน้นย้ำกับผู้อำนวยการเขต ข้าราชการกทม.ให้เป็นกลางทางการเมือง เราเป็นข้าราชการต้องเน้นความเป็นกลาง และให้ความเป็นธรรมกับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน อย่าเลือกปฏิบัติ หรือว่าช่วยเหลือพรรคการเมือง เพราะหากเลือกปฏิบัติจะเกิดความขัดแย้งตามมา อย่าไปฝักใฝ่พรรคการเมือง และพร้อมย้ำว่า เราเป็นข้าราชการต้องดูแลประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน

ทั้งนี้สำนักปกครองและทะเบียน ได้รายงานการเตรียมความพร้อมการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์ (สส.)โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ขอรับการสนับสนุนกทม.เพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดการเลือกตั้งสส. ดังนี้ 1.ขอให้กทม.จัดทำร่างคำของบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนภารกิจจัดการเลือกตั้งสส.คาดว่าใช้งบประมาณเฉพาะในส่วนของศูนย์ประสานงานการเลือกตั้งกรุงเทพมหานคร 48 ล้านบาท แบ่งเป็นประชาสัมพันธ์ 16 ล้านบาท และบริหารจัดการการเลือกตั้ง 32 ล้านบาท ซึ่งกทม.จะขอรับการจัดสรรงบประมาณจาก กกต.ต่อไป

2.ขอรับการสนับสนุนช่วยอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับการปิดประกาศและติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งสส. 3.ขอรับการสนับสนุนช่วยเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการหาเสียงการเลือกตั้งสส. 4. ขอรับการสนับสนุนพร้อมหารือเกี่ยวกับการขอใช้หีบบัตรเลือกตั้งและคูหาลงคะแนนเลือกตั้ง 5.ขอรับการสนับสนุนช่วยสำรวจหน่วยเลือกตั้ง

6. ขอรับการสนับสนุนช่วยสำรวจวัสดุอุปกรณ์ในการเลือกตั้ง 7. ขอรับการสนับสนุนช่วยสำรวจป้าย หีบบัตร คูหา และพัสดุอื่น ๆ เกี่ยวกับการเลือกตั้งที่อยู่ในเกณฑ์ต้องจำหน่ายพัสดุ 8.ขอรับการสนับสนุนช่วยประมาณการจำนวนผู้ขอยื่นขอลงทะเบียน สำรวจและกำหนดเบื้องต้นเกี่ยวกับสถานที่ลงคะแนนเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้ง 9.ขอให้ช่วยเผยแพร่แนวทางการวางตัวเป็นกลางทางการเมืองของข้าราชการและ/หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ 10.ขอรับการสนับสนุนช่วยประชาสัมพันธ์หลักเกณฑ์แนวทางการหาเสียงของพรรคการเมืองและ/หรือผู้ที่ประสงค์จะสมัครรับเลือกตั้ง 11.ตารางการคำนวณจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

12.ขอรับการสนับสนุนใช้อาคารสถานที่ของ กทม.รับสมัครรับเลือกตั้ง 13.ขอรับการสนับสนุนช่วยจัดทำแผนที่แบ่งเขตเลือกตั้ง และ 14.ขอรับการสนับสนุนช่วยเสนอชื่อบุคคลในเบื้องต้นเพื่อทาบทามเป็นผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งและคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง อย่างไรก็ตามผู้ว่าฯกทม. ได้กำชับให้ กทม.ดำเนินการให้โปร่งใสและเป็นกลาง

สำหรับประชากรประเทศไทย มีจำนวน 66,090,475 คน อยู่ในกรุงเทพฯ จำนวน 5,494,932 คน เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ประมาณ 4 ล้านคน มีหน่วยเลือกตั้ง 6,306 หน่วย แบ่งเป็นเต็นท์ 3,783 หน่วย อาคาร 2,523 หน่วย จากเดิมที่มี 6,817 หน่วย ลดไป 511 หน่วย เนื่องจากการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ที่ผ่านมา และการเลือกตั้งสส.แบบแบ่งเขต เมื่อวันที่ 24 มี.ค.62 กำหนดให้ดำเนินการตามมาตรการโควิด เช่น การเว้นระยะห่าง

โดยสถิติการเลือกตั้ง สส. แบบแบ่งเขต เมื่อวันที่ 24 มี.ค.62 มีจำนวน 30 เขตเลือกตั้ง มีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 4,489,223 คน มาใช้สิทธิ 3,102,116 คน คิดเป็นร้อยละ 72.51 มีการลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า 929,061 คน มาใช้สิทธิ 810,306 คน คิดเป็นร้อยละ 87.22 คาดว่าการเลือกตั้งสส.ครั้งนี้ จะมีประชาชนลงทะเบียนเลือกตั้ง ล่วงหน้า 900,000-1,000,000 คน